เส้นทางศรัทธาและสงคราม ก่อนที่ยุโรปจะเป็น ‘ดินแดนที่นับถือคริสต์ศาสนา

ผู้ศรัทธาในคริสต์ศาสนาเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกันในที่สาธารณะ รวมถึงแผนการก่อสร้างโบสถ์ในทุกหนทุกแห่ง เพื่อให้เป็นมรดกแห่งมรณสักขีถึงช่วงเวลาของการถูกกดขี่ข่มเหง แต่ไม่นานจากนั้น ผู้เคยถูกกดขี่ข่มเหง ก็กลายเป็นผู้กดขี่ข่มเหงเสียเอง
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษต่อมา ศาสนาอิสลามเริ่มแพร่กระจายบริเวณคาบสมุทรอาหรับและพื้นที่รอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จากนั้นก็เคลื่อนไปอเล็กซานเดรียและอียิปต์ทางตะวันตก เปอร์เซียในตะวันออก ฟากตะวันตกของแอฟริกาเหนือ
การเดินทางของคริสต์ศาสนา ผ่านเส้นทางที่เต็มไปด้วยความบังเอิญและความพ่ายแพ้มายาวไกล แต่ยังสามารถเดินทางเข้าไปเผยแผ่ถึงบอลติกในศตวรรษที่ 13 และ 14 จนกระทั่งคาบสมุทรไอบีเรียได้รับการสถาปนาใหม่โดย เรกองกิสตา (Reconquista) หลังจากกำจัดอำนาจของมุสลิมออกจากสเปนได้ทั้งหมดในปี 1492 ถึงตอนนั้น ยุโรปได้กลายเป็น “ดินแดนที่นับถือคริสต์ศาสนา

ดังนั้นจงไปสร้างสาวกจากมวลประชาชาติ ให้เขารับบัพติศมาใน ‘พระนามของพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนให้เขาเชื่อฟังทุกสิ่งที่เราสั่งพวกท่านไว้ และแน่นอน เราจะอยู่กับท่านทั้งหลายเสมอไปตราบจนสิ้นยุค” (มัทธิว 28:20) 
นั่นคือประโยคที่พระเยซูเทศนาให้สาวกรับฟัง ภารกิจนี้เพื่อการเผยแพร่ศรัทธาและแยกแยะคริสเตียนจากศาสนาอื่นอย่างชัดเจน
ในพระคัมภีร์กล่าวอีกว่า หลังจากการประกาศบนภูเขาแห่งหนึ่งในกาลิลี บรรดาอัครสาวกจึงเริ่มปฏิบัติภารกิจในหมู่ประชากรโลก ประชากรเหล่านี้ แรกเริ่มเป็นผู้คนในจักรวรรดิโรมัน ท้ายที่สุดคืออาณาเขตทวีปยุโรป 
กระบวนการเผยแผ่ความเชื่อความศรัทธาให้กับคริสเตียนในประเทศตะวันตกกินเวลาราวหนึ่งสหัสวรรษ ในขณะที่อีกสองศาสนาซึ่งมีศาสดาองค์เดียวกันคือ ยูดาย และอิสลาม กำลังแพร่กระจาย เช่นเดียวกันกับความเชื่อของคริสเตียนที่อพยพโยกย้ายมาจากตะวันออกกลาง
สถานที่อันเป็นต้นกำเนิดของคริสต์ศาสนา – เยรูซาเล็ม กาลิลี และพื้นที่ซึ่งอัครสาวกสอนศาสนานั้น อยู่ในช่วงเวลาของพระเยซูและจักรวรรดิโรมันในอีกสองศตวรรษถัดมา เพียงแต่จักรพรรดิไม่คิดที่จะปกป้องคุ้มครองศาสนาใหม่ ปล่อยปละให้คริสเตียนถูกข่มเหงรังแก 
อย่างไรก็ตาม กระทั่งถึงต้นศตวรรษที่ 4 ความเชื่อใหม่ได้เข้าถึงผู้คนในทุกส่วนของจักรวรรดิ และถึงแม้ระหว่างปี 303 ถึง 311 จักรพรรดิไดโอคลีเชียน (Diocletian) และกาเลริอุส (Galerius) ของโรมันตะวันตกจะปราบปรามผู้รุกรานอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เวลานั้นมีการอนุญาตให้นมัสการพระเจ้าได้ ทั้งในกอล-ดินแดนทางยุโรปตะวันตกในความครอบครองของโรมัน และในบริแทนเนีย ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 (Constantine the Great) ที่ไม่ช้าต่อมาได้เข้าไปยึดอำนาจในกรุงโรม
ต้นคริสตศักราช 312 พระองค์นำทัพออกเดินทางข้ามเทือกเขาแอลป์ ไม่ห่างจากประตูทางเข้ากรุงโรม พระองค์ก็ท้าประลองศึกกับจักรพรรดิร่วมมักเซนติอุส (Maxentius) จนเกิดการต่อสู้อันเป็นตำนานที่สะพานมิลเวียน คอนสแตนตินที่ 1 สามารถรบชนะ แม้ว่าฝ่ายตรงข้ามจะมีกองกำลังมากกว่า และสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิองค์เดียวของจักรวรรดิโรมันตะวันตก ก่อนการสู้รบครั้งนั้น มีเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ปรากฏขึ้นพร้อมกับข้อความ ‘In hoc signo vinces’ (ในเครื่องหมายนี้คุณจะชนะ) ตามตำนานเล่าว่า เครื่องหมายนั้นคือไม้กางเกงของพระคริสต์

ปีถัดมา คอนสแตนตินมหาราชประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมายของจักรวรรดิโรมัน และพระองค์เป็นจักรพรรดิองค์แรกของจักรวรรดิโรมันที่นับถือคริสต์ศาสนาตามพระราชกฤษฎีกาแห่งมิลานที่ประกาศโดยจักรพรรดิลีซีนีอุส (Licinius) ซึ่งเป็นจักรพรรดิร่วม พระราชกฤษฎีกาแห่งมิลานถือเป็นพระราชกฤษฎีกาที่ยกเลิกการทารุณกรรมต่อคริสต์ศาสนิกชนทั่วทั้งจักรวรรดิโรมัน
ผู้ศรัทธาในคริสต์ศาสนาเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกันในที่สาธารณะ รวมถึงแผนการก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือโบสถ์ในทุกหนทุกแห่ง เพื่อให้เป็นมรดกแห่งมรณสักขี ถึงช่วงเวลาของการถูกกดขี่ข่มเหงที่ผ่านมา
แต่ไม่นานจากนั้น ผู้เคยถูกกดขี่ข่มเหงก็กลายเป็นผู้กดขี่ข่มเหงเสียเอง ในศตวรรษที่ 4 ชาวคริสเตียนได้ยกเลิกเสรีภาพทางศาสนาใหม่ ในช่วงเวลายากลำบากอย่างรุนแรงของชาววิชิกอธ พวกเขาพากันหลบหนีข้ามพรมแดนของจักรวรรดิโรมันเข้ามาปักหลักพักพิง ในปี 380 จักรพรรดิธีโอโดซิอุสที่ 1 (Theodosius I) ออกราชโองการ ‘Cunctos populous’ ร่วมกับจักรพรรดิกราเชียน (Gratian) และจักรพรรดิวาเลนติเนียนที่ 2 (Valentinian II) เป็นราชโองการที่ให้ยึดมั่นในคำสอนของพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ การเบี่ยงเบนจากนี้ถือเป็นบาปและถูกลงโทษ จนถึงปลายยุคกลาง ราชโองการนี้ถูกยึดเป็นพื้นฐานสำหรับการกระทำอันโหดร้ายของคริสตจักร ที่บางครั้งได้กระทำกับ ‘คนนอก’ และสำหรับผู้สอนศาสนาที่ถูกบังคับ

ราวคริสตศักราช 500 โรมันกลายเป็นจักรวรรดิที่มีประชากรนับถือคริสต์ศาสนาเป็นส่วนใหญ่ แต่ในทางการเมืองมันกำลังแตกสลาย ชนชาวเจอร์มานิกเริ่มบุกข้ามพรมแดนเสริมด้านแม่น้ำดานูบและแม่น้ำไรน์ และในบริแทนเนีย ซึ่งวัฒนธรรมและความมั่งคั่งของโรมันเข้าถึง ได้ยั่วยวนให้ผู้คนที่นั่นเปิดรับคริสต์ศาสนาด้วย
ศรัทธาความเชื่อมีความหมายมากขึ้น เมื่อมีการทำพิธีล้างบาปของโคลวิสที่ 1 (Clovis I) กษัตริย์แห่งชนชาวแฟรงก์ในช่วงเวลานั้น พร้อมเป็นผู้นำในการนับถือคริสต์ศาสนา ซึ่งนั่นอาจเป็นผลงานของมเหสีของเขาด้วย โคลวิสที่ 1 สมรสกับคริสติน (Christin) ตั้งแต่ปี 492 นางเป็นพระธิดาของกษัตริย์แห่งเบอร์กันดี เป็นที่คาดหมายของราชตระกูลว่าจะเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์กับชนชาวแฟรงก์ นั่นเพราะโคลวิสที่ 1 ปกครองดินแดนนับจากไรน์ไปจนถึงแถบตอนเหนือ ที่ปัจจุบันคือประเทศฝรั่งเศส แน่นอน-การเชิดชูคริสต์ศาสนาของโคลวิสที่ 1 ย่อมเป็นที่พอใจของชาวโรมันในฟรังโกเนีย ส่วนประชากรชาวแฟรงก์ของพระองค์เองนั้น ด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จทางการทหาร จึงไม่มีใครคิดต่อต้านขัดแย้ง
นับเป็นความสำเร็จของภารกิจที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ พระองค์ผูกสัมพันธ์อันดีกับคริสตจักรและร่วมสังฆกรรมกับโรมันคริสเตียนในจักรวรรดิของตนเอง ไม่ช้าจากนั้น โคลวิสที่ 1 ก็ปราบปรามชาวเบอร์กันดีแถบแม่น้ำโรน และผลักดันชาววิชิกอธตะวันตกบนพื้นที่ทางใต้ของแม่น้ำลัวร์ ไปที่คาบสมุทรไอบีเรีย (บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของยุโรป ตั้งอยู่ระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและมหาสมุทรแอตแลนติก)
เรื่องราวของคริสต์ศาสนาที่น่าสนใจยังมีในไอร์แลนด์ เนื่องจากเกาะไอร์แลนด์ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน ในยุคสมัยนั้น ทำเลที่ตั้งเสมือนอยู่ที่สุดขอบโลกเสียด้วยซ้ำ ถึงกระนั้น ศาสนาใหม่ก็สามารถล่วงผ่านกอลและบริแทนเนียไปจนถึงดินแดนตะวันตกเฉียงเหนือที่ห่างไกลจนได้
ปี 431 สมเด็จพระสันตะปาปาเซเลสทีนที่ 1 (Celestine I) ได้ส่งบาทหลวงพัลลาดิอุส (Palladius) ไปยังไอร์แลนด์ ทุกวันนี้บาทหลวงผู้นั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ นักบุญแพทริก (Saint Patrick) เขามีพื้นเพจากบริแทนเนียและกลายเป็นบิชอปสอนศาสนาที่ประสบความสำเร็จในช่วงปี 450 ตราบถึงปลายศตวรรษที่ 6 ดูเหมือนไอร์แลนด์ได้กลายเป็นดินแดนของคริสต์ศาสนาโดยสมบูรณ์
ส่วนดินแดนของชาวเคลต์ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันตามเกาะแก่งของบริแทนเนีย คริสต์ศาสนาคืบคลานเข้าไปตั้งหลักแหล่งได้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 แล้ว แต่เวลาผ่านไปไม่นาน หลังจากชาวโรมันถอนตัวออกไป ชนท้องถิ่นดั้งเดิมและผู้รุกรานก็เข้าครอบครองพื้นที่ฝั่งตะวันออกของทะเลเหนือ ทั้งชาวจูต (กลุ่มชาติพันธุ์ในกลุ่มชนเจอร์มานิก) แองเกิล (กลุ่มชนเจอร์มานิกจากอังเงิลน์ ทางตอนเหนือของเยอรมนี) และแซกโซนี พากันไปก่อตั้งอาณาจักรของตนในบริแทนเนียแทน ในปี 597 สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 1 (Gregory I) จึงส่งนักเทววิทยาที่ไว้ใจพร้อมบาทหลวงอีก 40 คนไปยังบริแทนเนีย โดยมอบหมายภารกิจให้เกลี้ยกล่อมกษัตริย์แอเธลเบิร์ธแห่งเคนต์ (Æthelberht of Kent) ให้เปลี่ยนความเชื่อ เพื่อว่าผู้ติดตามของพระองค์จะคล้อยตามไปด้วย
และแล้วภารกิจก็ลุล่วง กษัตริย์แอเธลเบิร์ธยอมเข้าร่วมพิธีล้างบาป เป็นเหตุการณ์คล้ายกันกับเมื่อหนึ่งศตวรรษก่อนหน้า ที่เคยเกิดขึ้นในยุคสมัยของกษัตริย์โคลวิสที่ 1 เมื่อสมรสกับคริสติน ที่ประทับของกษัตริย์แอเธลเบิร์ธในแคนเทอร์เบอรี ซึ่งเป็นฐานของบิชอปสอนศาสนาด้วยนั้น ตราบถึงปัจจุบันก็ยังเป็นที่ประทับแห่งสังฆราชแห่งนิกายเชิร์ช ออฟ อิงแลนด์
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษต่อมา ศาสนาอิสลามได้เริ่มแพร่กระจายบริเวณคาบสมุทรอาหรับและพื้นที่รอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ปี 632 ภายหลังจากมุฮัมมัด (Muhammad)-นบีคนสุดท้ายของศาสนาอิสลามที่อัลลอฮ์ทรงแต่งตั้ง-สิ้นชีพลง ชนชาวอาหรับได้รุกคืบเข้ายึดครองดามัสกัส แอนติโอเชีย และรวมถึงเยรูซาเร็มในปี 637 ด้วย จากนั้นก็เคลื่อนไปอเล็กซานเดรียและอียิปต์ทางตะวันตก เปอร์เซียในตะวันออก ต่อมาชาวมุสลิมยังโยกย้ายไปไกลถึงอินเดียและจีน
แม้กระทั่งพื้นที่ฟากตะวันตกของแอฟริกาเหนือก็ตกเป็นของพวกเขา ชนชาวเบอร์เบอร์ซึ่งอพยพไปอยู่ที่นั่น ได้นำเอาความเชื่อศาสนาอิสลามไปด้วย และในเวลาต่อมาก็มีส่วนร่วมในการเผยแผ่ ปี 711 พวกเขาข้ามช่องแคบยิบรอลตาร์พร้อมกองกำลัง และพิชิตเกือบทั้งคาบสมุทรไอบีเรีย อีกทศวรรษต่อมาพวกเขาพากันข้ามเทือกเขาพิรินี เข้ายึดครองพื้นที่รอบๆ นาร์บอนน์ (พื้นที่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส) ก่อนที่จะเข้าโจมตีแคว้นอากีแตน (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นนูแว อากีแตน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส)
เมื่อกองทัพอาหรับบุกขึ้นเหนือและปล้นบอร์โดซ์ในปี 732 มีเพียงกองทัพแฟรงก์ภายใต้การนำของชาร์ลส์ มาร์แตล (Charles Martel) เท่านั้น ที่สามารถเอาชัยเหนือผู้บุกรุกได้ ที่บริเวณใกล้ปัวติเยร์ หลังจากนั้นกองทัพอาหรับก็ไม่ได้รุกคืบไปทางเหนือต่ออีก จะมีก็แต่กองทัพแฟรงก์ที่ไล่ต้อนพวกเขากลับไปทางเทือกเขาพิรินี หลายปีต่อมา ชาร์เลอมาญ (Charlemagne) กษัตริย์แห่งชาวแฟรงก์ ยกทัพไปต้านอาณาจักรเอมีร์แห่งคอร์โดบา แต่ก็ไม่สามารถบรรลุความสำเร็จที่ยั่งยืนได้
ความสำคัญอื่นนอกเหนือจากกรณีความขัดแย้งทางศาสนา คือเรื่องที่ชาร์เลอมาญ หรือ ‘นักเทศน์ลิ้นเหล็ก’ กลายมาเป็นนักรบของพระเจ้า ในการสู้รบกับชาวแซ็กซอน
สงครามที่ยาวนานเป็นเสมือนการประกาศศักราชใหม่ – นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของคริสต์ศาสนาในยุโรปที่เริ่มต้นจากการจับผิดเพื่อนบ้านที่มีปัญหา เชื่อมโยงกับพิธีกรรมบัพติศและภารกิจที่มีความรุนแรงอย่างเป็นระบบ ท้ายที่สุด ชาวแซ็กซอนก็ถูกครอบงำโดยชาร์เลอมาญ-ผู้นำชาวแฟรงก์ และไม้กางเขน ซึ่งในไม่ช้า พวกเขาก็เรียกชื่อพระองค์เป็น ‘จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์’
การเดินทางของคริสต์ศาสนายังไม่ได้สิ้นสุดลงแค่นั้น แต่ยังสามารถเดินทางเข้าไปเผยแผ่ถึงบอลติกในศตวรรษที่ 13 และ 14 อีกด้วย จนกระทั่งคาบสมุทรไอบีเรียได้รับการสถาปนาใหม่โดย เรกองกิสตา (Reconquista) หลังจากกำจัดอำนาจของมุสลิมออกจากสเปนได้ทั้งหมดในปี 1492
ผ่านเส้นทางที่เต็มไปด้วยความบังเอิญและความพ่ายแพ้มายาวไกล ถึงตอนนั้นจึงกล่าวได้ว่า ยุโรปได้กลายเป็น “ดินแดนที่นับถือคริสต์ศาสนา” อย่างเต็มปากเต็มคำ

อ้างอิง:
https://www.leben-im-mittelalter.net/geschichte-des-mittelalters/fruehmittelalter/christianisierung.html
https://www.welt.de/geschichte/article182776020/Kaiser-Konstantin-Sieg-der-Milvischen-Bruecke-schrieb-Weltgeschichte.html
https://www.weltvonmorgen.org/lesen-artikel.php?id=141&title=wie-kam-das-christentum-ursprnglich-auf-die-westlichen-inseln-europas
https://www.geo.de/geolino/mensch/9167-rtkl-weltreligionen-der-islam-entstehung-und-grundpfeiler-der-weltreligion
https://www.kabeleinsdoku.de/themen/geschichte/karl-der-grosse-biografie
https://www.geschichte-abitur.de/mittelalter/reconquista
พระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ภาคพันธสัญญาใหม่, องค์การอมตธรรมเพื่อชีวิต (2001)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่