‘เล่ห์เก่าๆ’ ทะลุปีใหม่ ‘หลอกลงทุน!!’ ภัยไซเบอร์ ‘ตุ๋นอมตะ’

เมื่อยังมีความโลภ หรือ หลงเชื่อ ก็คงต้องมีกระทู้ถูกหลอกทุกวัน

แค่เปิดหัวปี 2567 ตั้งแต่ต้นปี ยังไม่ทันจะผ่านครึ่งเดือนมกราคม กรณีปัญหา “ภัยไซเบอร์” ก็มีแนวโน้มเกิดขึ้นชุก!! โดยมีคดี "ตุ๋นลงทุนออนไลน์" เกิดขึ้นต่อเนื่องหลาย ๆ เคส!! ... นี่ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าในปี 2567 นี้ก็คง “ยิ่งต้องระวังกันเป็นพิเศษ”

โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยเศรษฐกิจฝืดเคืองเข้ามาประกอบ ซึ่งก็อาจจะเป็น “จุดอ่อน-ช่องโหว่” ที่ทำให้บางคน…
“มีโอกาสจะตกหลุมพรางมิจฉาชีพ”

“เสี่ยง” ที่จะ “เป็นเหยื่อตุ๋นออนไลน์”

ทั้งนี้ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ระบุเช่นนี้…ไม่เกินจริงเลย และเมื่อย้อนดู “สถิติรับแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” ที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รวบรวมไว้ช่วงวันที่ 1 มี.ค. 2565 ถึงวันที่ 20 ธ.ค. 2566 ก็มีการเปิดเผยออกมาว่า… มีการรับแจ้งความคดีออนไลน์สูงถึง 391,631 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 10,122,822,746 บาท ซึ่งเป็น…

“สถิติที่น่าตกใจ” และสะท้อนว่า…
ปีหนึ่ง ๆ “คนไทยตกเป็นเหยื่อไม่น้อย”
แม้หลัง ๆ จะมีการเตือนให้ระวังตัวก็ตาม

สำหรับ คดีออนไลน์ที่มีการรับแจ้งความมากที่สุด นั้น ประกอบด้วย อันดับ 
1 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 160,819 คดี มูลค่าความเสียหาย 2,306,485,393 บาท 

2 หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 50,536 คดี มูลค่าความเสียหาย 6,344,692,277 บาท

3 หลอกให้กู้เงิน จำนวน 43,193 คดี มูลค่าความเสียหาย 1,926,948,604 บาท

4 คือ หลอกให้ลงทุน ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 32,501 คดี มูลค่าความเสียหาย 17,194,810,386 บาท

5 เป็นการข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) 27,620 คดี มูลค่าความเสียหาย 6,156,163,198 บาท …นี่เป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนสถานการณ์นี้
สะท้อน “แนวโน้มเหยื่อตุ๋นออนไลน์”

ที่… “ปี 2567 อาจยิ่งมากแซงปี 2566”
ทั้งนี้ ถ้า “โฟกัสที่มูลค่าความเสียหาย” แล้ว ก็จะเห็นว่า…คดีที่ไม่ได้ติดอันดับ 1 อย่างการ “หลอกลงทุนออนไลน์” ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ แม้จะมีจำนวนคดีเป็นอันดับที่ 4 แต่กลับ “สร้างมูลค่าความเสียหายสูงลิ่ว” มากกว่าการหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่เรื่องนี้ก็น่าจะมีการวิเคราะห์ถึง “ปัจจัยกระตุ้น” ทำให้เกิดกรณีดังกล่าว โดยเรื่องนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้ขอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและการตลาด คือ ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA (Analyst MBA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ช่วยวิเคราะห์ โดยผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ได้มีการสะท้อนถึง “ปรากฏการณ์” นี้มาดังนี้…

ดร.ภูษิต ได้ระบุกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… ปัจจุบันมิจฉาชีพมีการใช้กลยุทธ์ “หลอกลวงหลากหลายรูปแบบ” โดยเฉพาะบน “แพลตฟอร์มฮิต” อย่าง “โซเชียลมีเดีย” ที่จะพบกรณีลักษณะนี้เกิดเพิ่มขึ้นเยอะมาก ๆ โดยมิจฉาชีพออนไลน์มักเลือกใช้ช่องทางนี้ในการออกอุบายให้คนหลงเชื่อ เพื่อชักชวนให้คนติดตามและร่วมลงทุน และปัญหาก็คือ…ถึงแม้ว่าจะมีการออกมาย้ำเตือนบ่อย ๆ เกี่ยวกับภัยแบบนี้ แต่สุดท้ายก็ยังมีผู้ที่หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากอยู่ดี…
แต่ละปี “ความเสียหายยิ่งเพิ่มขึ้น”
หลัง ๆ “สูงแตะหลักหมื่นล้านบาท!!”... 

https://www.dailynews.co.th/articles/3090626/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่