“ถ้านายต้องการฉัน ฉันจะกลับมา”
นั่นคือประโยคอมตะที่ทำให้หลายคนทั้งอมยิ้มไปกับความรักความสัมพันธ์ของคู่พี่น้อง -เต้ยกับต้น- ไปจนถึงหลั่งน้ำตาให้กับชะตากรรมของผู้พูดที่นั่นคือประโยคสุดท้ายก่อนจากลาน้องชายด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์
แต่นี่ไม่ใช่หนังดราม่า กลับกัน มันคือหนัง coming-of-age ที่น่ารักน่าชังที่สุดเรื่องหนึ่งในยุค 90 ‘ปีหนึ่งเพื่อนกันและวันอัศจรรย์ของผม’ คือผลงานการกำกับของ คิง – สมจริง ศรีสุภาพ เล่าเรื่องราวของ ต้น (มอส – ปฏิภาณ ปฐวีกานต์) เด็กหนุ่มที่จำต้องสอบเข้าคณะวิศวกรรมตามที่พ่อแม่ต้องการทั้งที่ตัวเองสนใจคณะศิลปกรรมมากกว่า พร้อมกันนั้นก็ยังมีความรู้สึกเจ็บปวดจากการจากไปของ เต้ย (แท่ง – ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง) พี่ชายที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุตั้งแต่เขายังเด็ก กระทั่งเมื่อเขาเติบโตขึ้นและเจอกับเรื่องวุ่นวายเมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ต้นก็พบว่าเต้ยกลับมาหาเขาอีกครั้ง ในรูปลักษณ์เดิมในวันเดียวกับที่เขาจากไป ตามสัญญาที่เคยให้ไว้ว่า หากต้นต้องการพี่ชาย เขาก็จะกลับมาหาเสมอ
ตัวหนังประสบความสำเร็จอย่างมากโดยเฉพาะในวันที่สองนักแสดงนำอย่าง แท่ง – ศักดิ์สิทธิ์และมอส – ปฏิภาณยังดังเป็นพลุแตกจาก ‘กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้’ (1991, สมจริง ศรีสุภาพ) การโคจรมาพบกันใน ‘ปีหนึ่งเพื่อนกันฯ’ จึงเป็นเรื่องที่หลายคนติดตามและจับตาดูทั้งคู่ ที่ผลัดเปลี่ยนจากการรับบทเป็นเพื่อนกันมาสู่บทบาทของพี่น้อง แถมคนหนึ่งยังเป็นวิญญาณอีกต่างหากแน่ะ!
“ตอนนั้นเรามีไอเดียประมาณว่า อยากเล่าเรื่องของคนที่ตายไปแล้วยังห่วงคนที่อยู่ข้างหลัง แต่มาในรูปแบบวิญญาณของพี่ชาย” คิงกล่าวย้อนไปถึงวันที่ทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมาเมื่อ 20 ปีก่อน “โจทย์มันคือหนัง coming-of-age แล้วตอนนั้นจำได้ว่าเราไปดูหนังญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง มันไม่เหมือนกันกับหนัง ‘ปีหนึ่งเพื่อนกันฯ’ เลย แต่ในหนังญี่ปุ่นมันเล่าเรื่องพี่สาวกับน้องสาว แล้วเหมือนมีวันหนึ่งมีลางสังหรณ์ว่า พี่สาวจะตาย และได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้น้องสาว ทำนองนั้น
“ทีนี้ช่วงนั้น ‘กลิ้งไว้ก่อนฯ’ มันประสบความสำเร็จมากๆ ผู้ใหญ่เขาก็อยากให้ทำภาคต่อ แต่เรารู้สึกว่าเรื่องนั้นมันจบสมบูรณ์แล้วด้วยตัวของมันเอง เราไม่อยากทำภาคต่อ” คิงเล่า “ทีนี้พอเอาทั้งคู่ซึ่งดังจาก ‘กลิ้งไว้ก่อนฯ’ มากๆ มาเล่นด้วยกันในหนังเรื่องนี้ มันเลยเป็นเหมือนภาคต่อของ ‘กลิ้งไว้ก่อนฯ’ กลายๆ ที่ตัวละครในเรื่องนั้นมันเรียนจบม.6 แล้วใน ‘ปีหนึ่งเพื่อนกันฯ’ มันพูดถึงตัวละครมอสที่เข้ามหาวิทยาลัยพอดี”
และหนังข้ามพ้นวัยเรื่องนี้ก็ยังสร้างจุดดราม่าอันหนักหน่วงเมื่อเต้ยผู้เป็นพี่เสียชีวิตทั้งที่ยังทะเลาะกับพ่อซึ่งพยายามบังคับเขาให้เรียนในสิ้งที่ไม่ชอบ และลงเอยด้วยการบังคับน้องชายอย่างต้นอีกคน มันจึงเป็นหนังที่โดนใจวัยรุ่นยุค 90 ซึ่งหลายคนยังอยู่ในรอยต่อของการค้นหาตัวเอง และพร้อมกันนั้นก็อยากปฏิเสธกรอบกรงที่พวกเขาถูกครอบครัวกดทับไว้
“อย่างสมัยก่อน คณะที่ศิลปกรรมนี่เป็นคณะที่พ่อแม่ไม่รู้ว่าเรียนจบไปแล้วทำอะไร” คิงเล่า “สมมติว่าเรียนการแสดง พ่อแม่จะถามว่าเรียนไปทำไม เรียนอักษรเรียนไปทำไม เรียนภาษาเรียนไปทำไม คือเราไม่เคยถูกพ่อแม่บังคับเรื่องเรียนหรอกนะ” เขาหัวเราะ “แต่มันก็มีคนที่ถูกบังคับในยุคนั้นเหมือนกัน เขาจะเอาไปเทียบว่าเป็นข้าราชการดีกว่า หรือไปเรียนคณะวิศวกรรมเพื่อจบมาเป็นวิศวกร มันชัดเจน และเป็นค่านิยมของคนสองเจนฯ”
จึงไม่น่าแปลกใจที่มันจะขึ้นทำเนียบเป็นหนังในดวงใจของวัยโจ๋เมื่อยี่สิบปีก่อน ก่อนจะถูกรีเมคฉายเป็นละครผ่านทางโทรทัศน์ช่อง 7 ในปี 1996 โดยได้ เต๋า – สมชาย เข็ดกลัด มารับบทเป็นเต้ย และ ออย – ธนา สุทธิกมล เป็นต้น และนี่เองคือหลักฐานในตัวเองว่า ‘ปีหนึ่งเพื่อนกันฯ’ นั้นเป็นที่นิยมมากเพียงใดในยุคนั้น เหนืออื่นใดคือประเด็นการค้นหาตัวตนของวัยรุ่นที่คิง -ในฐานะผู้กำกับ- ทำออกมาได้อย่างจริงใจและละเอียดอ่อน จนตัวหนังเข้าไปนั่งในใจใครหลายต่อหลายคนมาจนถึงทุกวันนี้
ติดตามรับชม
วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคมนี้ เวลา 05.00 น.
ปีหนึ่งเพื่อนกันและวันอัศจรรย์ของผม | My Wonder Year
‘ปีหนึ่งเพื่อนกันและวันอัศจรรย์ของผม’ หนัง coming-of-age แบบไทยในยุค 90 ที่เราคิดถึง
นั่นคือประโยคอมตะที่ทำให้หลายคนทั้งอมยิ้มไปกับความรักความสัมพันธ์ของคู่พี่น้อง -เต้ยกับต้น- ไปจนถึงหลั่งน้ำตาให้กับชะตากรรมของผู้พูดที่นั่นคือประโยคสุดท้ายก่อนจากลาน้องชายด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์
ปีหนึ่งเพื่อนกันและวันอัศจรรย์ของผม | My Wonder Year
: https://movie.mthai.com