Café Amazon กับมาตรฐานการก่อสร้างอาคาร LEED หรืออาคารสีเขียว


ช่วงนี้เทรนด์รักษ์โลกมาแรง ทั้งการลดการใช้ถุงพลาสติก วัสดุเหลือใช้ ขยะที่เรามองว่ามันไม่มีประโยชน์ ก็นำกลับมารีไซเคิลเพื่อให้กลับมาใช้ได้อีก
หรือแม้กระทั่ง การก่อสร้างอาคารที่ได้มาตรฐาน LEED มาตรฐานสีเขียวตามแบบฉบับของคนรักษ์โลก

แล้ว.... มาตรฐาน LEED คืออะไร สำหรับมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) เป็นมาตรฐานการประเมินอาคารสีเขียวที่ได้รับการนิยมอย่างแพร่หลายมากที่สุด ซึ่งเป็นการใช้เกณฑ์การประเมินระดับนานาชาติ ที่ดำเนินการโดยองค์กรที่เรียกว่า U.S. Green Building Council (USGBC) ในประเทศสหรัฐอเมริกา

ซึ่งมาตรฐาน LEED เป็นอีกหนึ่งมาตรฐานสำหรับการก่อสร้างอาคารและอสังหาฯ ที่เกิดในยุคกระแสที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของอาคาร ช่วยลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้อาคาร โดยรวมถึงอาคารชั้นนำในประเทศไทยหลายแห่งที่ได้รับการรับรองยืนยันโดยมาตรฐาน LEED ด้วย

และ LEED จะเป็นการเน้นในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการพัฒนานั้นต้องสามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนในปัจจุบันโดยไม่เดือดร้อนคนรุ่นถัดไป
LEED หรือ อาคารเขียว จึงหมายถึงอาคารที่มีความรับผิดชอบในการรักษาสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยการประเมินมาตรฐาน จะมีอยู่ด้วยกัน 6 หมวดหลัก
1. สถานที่ตั้งเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Sites)
คือ การเลือกที่ตั้งที่นำไปสู่การลดการใช้พลังงาน โดยเฉพาะพลังงานในการคมนาคมขนส่ง เช่น จะต้องป้องกันมลภาวะจากการก่อสร้าง โดยมีการป้องกันการสูญเสียหน้าดินของที่ก่อสร้าง โดยกองเก็บรักษาไว้เพื่อนำมาใช้ในภายหลัง, ป้องกันเศษดินและตะกอนต่างๆ ไหลลงสู่ท่อรับน้ำฝน หรือคู คลองใกล้เคียง, ป้องกันมลภาวะทางอากาศ ที่เกิดจากฝุ่นในระหว่างการก่อสร้าง

2. การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency)
คือ ต้องสามารถลดการใช้น้ำภายในอาคารลง 20% เมื่อเปรียบเทียบกับอาคารทั่วไป ปริมาณน้ำที่ใช้นำมาคำนวณ ได้แก่ น้ำใช้ในโถส้วม โถปัสสาวะชาย อ่างล้างมือ อ่างล้างจาน และฝักบัวอาบน้ำ

3. พลังงานและบรรยากาศ (Energy and Atmosphere)
สำหรับหมวดนี้เป็นหมวดที่คะแนนเยอะที่สุด เพราะเป็นหมวดที่มีคะแนนมากที่สุด และมี 3 หลักเกณฑ์ด้วยกัน 
· มีการทดสอบการทำงานของระบบพลังงานในอาคาร
· อาคารมีสมรรถนะขั้นต่ำด้านการประหยัดพลังงานได้ตามมาตรฐานที่กำหนด
· ไม่ใช้สารทำความเย็นในระบบปรับอากาศที่มี CFC (Chlorofluorocarbon)

4. วัสดุและการก่อสร้าง (Material and Resources)
คือ ต้องออกแบบให้มีห้องเก็บวัสดุเหลือทิ้ง เช่น เศษกระดาษ แก้ว อลูมิเนียม พลาสติก เพื่อนำมารีไซเคิลต่อไป

5. คุณภาพสภาพแวดล้อมในอาคาร (Indoor Environment Quality)
ต้องประกอบด้วย คุณภาพขั้นต่ำของอากาศในอาคาร และการควบคุมควันบุหรี่

6. นวัตกรรมในการออกแบบ (Innovation in Design)
สำหรับคะแนนในหมวดนี้ จะได้จากสองส่วน คือ ส่วนแรกที่เป็นนวัตกรรมในงานออกแบบที่เกิดจากการทำสิ่งใหม่ๆ และเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนที่สอง จะได้จากการที่มี LEED AP อย่างน้อย 1 คนอยู่ในทีมงาน ซึ่ง LEED AP หรือ LEED Accredited Professional คือคุณวุฒิทางวิชาชีพอย่างหนึ่ง

สำหรับในประเทศไทย การออกแบบอาคารเขียวเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยมีการจัดตั้ง “สถาบันอาคารเขียวไทย” ขึ้น โดยได้ความร่วมมือระหว่างสมาคมสถาปนิกสยามและ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (https://tgbi.or.th/)
[ข้อมูลบางส่วนจาก รองศาตราจารย์ ดร. พันธุดา พุฒิไพโรจน์ LEED AP หัวข้อ : แนวทางการออกแบบอาคารเขียว(Green Building) ตามเกณฑ์การประเมินของ LEED]

ในส่วนของ Café Amazon Concept Store ในปั๊ม PTT Station Flagship วิภาวดี62 ก็เป็นหนึ่งในอาคารที่ได้นำแนวคิด “Specialty Coffee” เป็นการดีไซน์อาคารโดยหยิบป่าแอมะซอนมาตีความใหม่ให้กลายเป็นสถานที่ดื่มกาแฟสำหรับทุกคน

Café Amazon Concept Store ประกอบด้วย Amazon(ป่าแอมะซอน), People(คน) และ Circular Economy(เศรษฐกิจหมุนเวียน) ดังนั้น Café Amazon สาขานี้จำเป็นต้องอยู่ในมาตรฐานของ LEED(อาคารเขียว) ทั้งการสร้างอาคาร และการตกแต่งภายในใช้วัสดุทดแทน หรือ Circular Economy [ข้อมูลอ้างอิงจาก Dsign Something : https://bit.ly/3RIrThc]

แล้ว Circular Economy ที่อยู่ใน Cafe Amazon สาขานี้มีอะไรบ้าง ขอยกตัอย่างเลยนะครับ อย่างเช่น เคาน์เตอร์ของ Cafe Amazon ก็มีส่วนผสมจากเปลือกไข่ด้วย โดยการนำเปลือกไข่และหินสังเคราะห์มารวมกันและนำมาแปรรูปจนเป็นกระเบื้อง

หรือจะเปลี่ยนขวดน้ำดื่มมาเป็นโซฟา เปลี่ยนถุงบรรจุเมล็ดกาแฟมาเป็นผนังและของตกแต่งอื่นๆ ภายในร้าน 

ผมเก็บภาพภายในร้าน Café Amazon มาฝากบางส่วนนะครับ สำหรับ Café Amazon สาขานี้จะมีทั้งหมด 2 ชั้น และแบ่งออกเป็น 3 โซน โซนบาร์ โซนครอบครัว และโซนทำงาน

ชั้น 1 มีทั้งโซนบาร์ Café Amazon Concept Bar ที่จะทำกาแฟแบบ Drip Coffee และโซนทำเครื่องดื่มแบบปกติ สำหรับชั้น 1 ถ้าเดินไปทางด้านขวามือจะมีลิฟต์สำหรับขึ้นไปชั้น 2 ได้ สะดวกทั้งกับเด็กและผู้สูงอายุ(ส่วนนี้ผมว่าตอบโจทย์ในส่วนของ People)
 
สำหรับชั้น 2 จะมีทั้งโซน Work Space และ โซน Family ซึ่งแยกเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน

สามารถมานั่งพักผ่อน ทำงาน หรือพูดคุยกันได้เลยครับ
นี่แหละครับการก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน LEED อาคารเขียว ตามแบบฉบับของคนรักษ์โลก
รวมถึงเป็นการรับผิดชอบต่อชุมชนและต่อโลกด้วยครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่