ส่องดวงเมืองผ่านดวงดาว 2567 (ตอนที่ 1) โดย พล พยากรณ์

ดาวมฤตยู (๐) ในราศีพฤษภ
 
การพยากรณ์ความเป็นไปของสถานการณ์บ้านเมืองในปี พ.ศ. 2567 โดยอาศัยดวงดาวสำคัญที่มีอิทธิพลในการก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมาเป็นหลักในการพยากรณ์คือ ดาวพฤหัสบดี (5) ประธานดาวศุภเคราะห์ ดาวเสาร์ (7) ประธานดาวบาปพระเคราะห์ ราหู (8) และดาวมฤตยู (๐) ที่โคจรในจักรราศีและสัมพันธ์ถึงพื้นดวงเมืองอันเป็นจุดตั้งรับสำคัญ ซึ่งการพยากรณ์นี้จะเป็นเพียงภาพรวมของสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นเท่านั้น

ในต้นปี พ.ศ. 2567 ดาวมฤตยู (๐) ยังโคจรย้อนวิถีจักรในราศีพฤษภ ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึง 21 ม.ค. 2567 และอยู่ในราศีนี้ถึงกลางปี 2572 ราศีพฤษภ ภพกดุมภะ เป็นภพที่สองของดวงเมือง มีดาวศุกร์ (๖) เป็นดาวเจ้าเรือน และมีดาวอังคาร (๓) ตนุลัคน์ของเมืองสถิตอยู่ ในโหราศาสตร์ชะตาบ้านเมือง ภพกดุมภะ มีความหมายถึง การเงิน การคลัง รายได้ ความมั่งคั่งร่ำรวยของประเทศและประชาชน ทรัพย์สินและการเงินของชาติ ภาษี ศุลกากร การค้า ตลาดหุ้น ธนาคาร พันธบัตรหรือตั๋วแลกเงิน การติดต่อแลกเปลี่ยนและการปริวรรตเงินตรา องค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับความมั่นคงทางการเงินและการจัดการเกี่ยวกับระบบการเงินของชาติ

ดาวมฤตยู (๐) เป็นดาวที่ให้ผลทั้งแง่ดีและร้ายอย่างถึงที่สุด มีอิทธิพลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพต่างๆ ที่เป็นอยู่เดิมให้เป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา ความต้องการเป็นอิสระ ไม่เป็นไปตามกรอบประเพณี ระเบียบแบบแผนเดิมที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา การสร้างแนวทางของตนเอง การกบฏ การปฏิวัติ ทำให้เกิดเหตุการณ์ใหญ่ การเกิดขึ้นของเหตุการณ์แบบคาดไม่ถึง การเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน การใช้อำนาจ ความเด็ดขาด ความรุนแรง ความลึกลับ ความวุ่นวาย

ดาวมฤตยู (๐) ยังเป็นตัวแทนของประมุขแห่งรัฐ สภานิติบัญญัติโดยทั่วไป ความเป็นประชาธิปไตย และในด้านตรงข้ามหมายถึงระบอบเผด็จการ เมื่อดาวมฤตยู (๐) โคจรเข้าสู่ราศีพฤษภ และอยู่ในราศีนี้นานหลายปี ย่อมนำความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่มาสู่สิ่งที่เป็นความหมายของภพกดุมภะ โดยตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป ดาวมฤตยู (๐) ซึ่งถอยองศามาอยู่ในต้นราศีเริ่มเปลี่ยนวิถีโคจรเดินหน้าเป็นปกติ มุ่งเข้าหาดาวอังคาร (๓) ตนุลัคน์ของเมือง

ในโหราศาสตร์ชะตาบ้านเมืองได้กล่าวถึงการที่ดาวมฤตยู (๐) กุมดาวอังคาร (๓) หรือมีสัมพันธ์ร้ายต่อกันว่า จะยังความอับโชคให้กับฝ่ายที่มีอำนาจปกครองประเทศ ทำให้เกิดความยุ่งยากโดยฉับพลันทันทีและไม่ทันคาดหมายล่วงหน้า ก่อความรบกวนให้กับรัฐบาลและรัฐสภา เสียงข้างมากของรัฐบาลอาจตกหรือด้อยลงไป รัฐบาลอาจพ่ายแพ้คะแนนเสียง มีการเปลี่ยนแปลงในคณะรัฐบาล การแตกแยกของพรรค เกิดความล้มเหลวในการพยายามออกกฎหมายบางอย่าง เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย การนัดหยุดงาน การประชุมที่ไม่สงบ การระเบิดและแผ่นดินไหว

ขณะที่ดาวเสาร์ (7) โคจรอยู่ในราศีกุมภ์จนถึงวันที่ 19 พ.ค. 2568 ทำมุมจตุโกณฑ์กับตนุลัคน์ของเมืองและดาวมฤตยู (๐) จรในราศีพฤษภ เป็นระยะเชิงมุมที่มีสัมพันธ์ร้ายต่อกัน ในโหราศาสตร์ชะตาบ้านเมืองได้กล่าวถึงการที่ดาวเสาร์ (7) และดาวมฤตยู (๐) มีสัมพันธ์ร้ายต่อกันไว้ว่า จะนำความยุ่งยากมาสู่รัฐบาลและผู้มีอำนาจปกครองประเทศ การเมืองของประเทศจะถูกรบกวนและเกิดการเปลี่ยนแปลง มีความผันแปรและมีอุปสรรคขัดขวางการทำงานของผู้มีอำนาจ รัฐบาลต้องเผชิญหน้ากับความปั่นป่วนซึ่งอาจทำให้สูญเสียความนิยมหรือพ่ายแพ้ เกิดการเปลี่ยนแปลงในคณะรัฐมนตรี อาจมีการตายหรือลาออก การแตกแยกภายในพรรคการเมือง มีการเลือกตั้งทั่วไปหรือการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่ยังผลถึงรัฐสภา

ดาวเสาร์ (7) จรในราศีกุมภ์ยังทำมุมจตุโกณฑ์กับดาวอังคาร (๓) ตนุลัคน์ของเมือง เป็นระยะเชิงมุมที่มีสัมพันธ์ร้ายต่อกัน ซึ่งจะยังความอับโชคมาสู่รัฐบาล เกิดความยุ่งยากภายในประเทศ ความไม่พอใจของประชาชน เกิดความวุ่นวาย อาชญากรรม ฆาตกรรม รัฐบาลอาจถึงกับเสื่อมเสียความนิยมหรือการสนับสนุน คนสำคัญบางคนอาจถึงแก่ความตายหรือถูกลอบปองร้ายชีวิต ความไม่พอใจอาจพาดพิงมาถึงกองทัพ และอาจเกิดการปฏิวัติ รัฐประหารขึ้นได้

ดาวมฤตยู (๐) เป็นดาวบาปเคราะห์ก่อให้เกิดภัยอาเพศ ขณะที่ราหู 8 โคจรในภพวินาศของดวงเมืองและสัมพันธ์ถึงดาวศุกร์ (๖) เจ้าเรือนกดุมภะ จะก่อให้เกิดความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลก ธุรกิจ การค้าขายเกิดภาวะฝืดเคือง เจ้าของกิจการ ห้างร้าน บริษัท โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งปิดตัวลง เนื่องมาจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก ประสบภาวะขาดทุนเพราะประชาชนไม่มีกำลังซื้อ และเกิดภาวะว่างงานเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณในการช่วยเหลือประชาชนและเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ขณะที่รายได้จากภาษีอากรไม่สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล

รัฐบาลจะออกพันธบัตรขายให้แก่นักลงทุนและประชาชนทั่วไป รวมถึงการกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายในกิจการของรัฐ ขณะที่หน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับความมั่นคงทางการเงินและการจัดการเกี่ยวกับระบบการเงินของชาติต้องทำงานกันอย่างหนัก เพื่อดูแลระบบการเงินให้มีเสถียรภาพ มีการปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และอาจมีการเพิ่มภาษีบางอย่าง ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐและเงินบำเหน็จบำนาญให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ มีการติดต่อเจรจาค้าขายรวมถึงการใช้สกุลเงินของประเทศที่ปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์มากขึ้นและสกุลเงินเหล่านี้จะมีบทบาทมากขึ้นในเวทีการค้าโลกซึ่งได้ปรากฎให้เห็นมาแล้วเป็นระยะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่