ข่าว สินค้าจีนหนี CBAM ทะลักเข้าไทยขาดดุลพุ่ง


สินค้าจีนทะลักเข้าไทย ขาดดุลการค้าทะลุ 3.5 พันล้านเหรียญ สูงสุดในรอบ 9 เดือน ดันยอดขาดดุลสะสมเฉียด 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังอียูใช้มาตรการ CBAM 1 ต.ค. 66 พ่วงมาตรการเซฟการ์ด-เอดีเหล็ก บีบสินค้าจีนต้องหันทุ่มตลาดอาเซียนแทน ด้านสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ (สรท.) แนะรัฐบาลงัดแผนเชิงรุกรายงานปล่อยก๊าซเรือนกระจก รับมือสินค้าจีนจะบุกไทยหนักแน่หลังปี 2567
สถานการณ์การขาดดุลการค้าจีนในเดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่า 3,517 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือสูงสุดในรอบ 9 เดือน นับจากที่ขาดดุลเมื่อเดือนมกราคม 2566 รวม 4,122 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นผลมาจากไทยส่งออกไปจีน 6,115 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากจีน 2,598 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ยอดการค้าไทย-จีนช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 87,631 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 28,932 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากจีน 58,698 ล้านเหรียญสหรัฐ
เท่ากับไทย “ขาดดุล” การค้าจีนสะสมถึง 29,766 ล้านเหรียญสหรัฐ หาก 3 เดือนสุดท้ายไทยยังขาดดุลการค้าต่อเนื่องก็จะมีโอกาสที่ไทยจะขาดดุลการค้าจีนถึง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.4-1.5 ล้านล้านบาท
โดยการขาดดุลการค้ากับจีนในครั้งนี้นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตว่า ยอดขาดดุลการค้าที่พุ่งขึ้นเป็นผลจากการใช้ มาตรการกับสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่เริ่มเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า, อะลูมิเนียม, ซีเมนต์, ปุ๋ย, ไฟฟ้า, ไฮโดรเจน และสินค้าปลายน้ำบางรายการ อาทิ นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า
ที่มีรายงานการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กลายเป็นแรงกดดันให้สินค้าจีน อาจจะมีอุปสรรคในการส่งออกไปสหภาพยุโรปจากการใช้มาตรการ CBAM ในอนาคต หันมาระบายสินค้าสู่ตลาดอาเซียนและประเทศไทยอีกครั้ง
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนสูงสุด จะมีกลุ่มเครื่องจักรกลและส่วนประกอบนำเข้า 5,442.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 2.14% ตามมาด้วย รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก มูลค่า 2,049 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 774% ผลิตภัณฑ์โลหะ 1,963 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 0.78% ผลิตภัณฑ์พลาสติก 1,842 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 2.10% และไดโอด ทรานซิสเตอร์ กับสารกึ่งตัวนำ 1,629 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 29.31%

สินค้าจีนหนี CBAM
นางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การทะลักของสินค้าจีนเข้ามาไทย หลังอียูใช้มาตรการ CBAM “เป็นเรื่องน่าห่วง” เนื่องจากจีนไม่สามารถส่งออกไปยุโรปได้ การขยายมาตรการ CBAM สู่กลุ่มสินค้าในห่วงโซ่ของกระบวนการผลิตต่าง ๆ อาทิ รถยนต์ จะนำไปสู่การมีต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากเก็บภาษีคาร์บอนเป็นการเก็บภาษีสะสมตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ
 
ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าไทย แม้จะสามารถผลิตตามมาตรการ CBAM แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า CBAM ได้เพิ่มภาระแก่ผู้ประกอบการที่ต้องจัดทำบัญชีคาร์บอนและการขอใบรับรอง CBAM certificate ส่วนสินค้าปุ๋ย ซีเมนต์ ไฟฟ้า และไฮโดรเจน สินค้ากลุ่มนี้มีการส่งออกไป EU น้อยมาก

แนะไทยตั้งรับ CBAM
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า มาตรการ CBAM ที่สหภาพยุโรปบังคับใช้นำร่อง เช่น ปุ๋ย ซีเมนต์ ไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม นั้นส่งผลให้สินค้าเหล่านี้มีโอกาสไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย อาเซียน รวมถึงไทยด้วย เชื่อว่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนในครึ่งปีหลัง 2567
ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมมาตรการเชิงรุกรับมือ ต้องดูห่วงโซ่การผลิต ซัพพลายเชน เพื่อประเมินกระบวนการผลิตสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ส่วนมาตรการเชิงรับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นที่จะต้องหามาตรการป้องกันสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทะลักเข้ามา เพื่อดูแลอุตสาหกรรมภายในประเทศไม่ให้ได้รับผลกระทบและสร้างความเสียหายกับผู้ผลิต รวมไปถึงการยกระดับคุณภาพ มาตรฐานสินค้าของไทยให้ได้ระดับสากล แข่งขันได้ รวมไปถึงด้านราคา จำเป็นจะต้องดูแลควบคุมต้นทุนสินค้า
 
สรท.เสนอแนะบริหารจัดการลดต้นทุนการผลิตและเร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดเป้าหมายที่สำคัญ และเร่งการเจรจาการค้าเสรี (FTA)

เหล็กจีนหนีเอดี-เซฟการ์ด
นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงนี้เป็น Transition Period ของการใช้มาตรการ CBAM โดยสินค้าที่ผลิตเพียงแค่รายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำแดงข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงคาร์บอนจากการผลิต และคาร์บอนแฝงจากวัตถุดิบ ซึ่งจะทำให้ประเทศต่าง ๆ รวมถึงจีน จะยังสามารถส่งออกไป EU ได้ “ยกเว้น” จีนไม่พร้อมหรือไม่สนใจที่จะรายงานค่าคาร์บอนและรายละเอียดต่าง ๆ เอง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะ
1) เห็นว่าการรายงานดังกล่าวเป็นภาระเกินจำเป็น 2) ข้อมูลที่รายงานมีความอ่อนไหวอาจนำไปสู่การประมาณต้นทุนการผลิต ซึ่งอาจมีผลให้อัตราอากร AD/CVD ที่จีนโดนบังคับใช้อยู่ โดนปรับให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก

แหล่งอ้างอิง ประชาชาติ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่