ร่วมฉลองใหญ่ “สงกรานต์” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ได้มีส่วนร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

“นายกรัฐมนตรี” นำชาวไทยร่วมฉลองใหญ่ “สงกรานต์” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ขณะที่ แอนโทเนีย โพซิ้ว รองอับดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 นำขบวนแห่นางสงกรานต์ อย่างสวยงามตระการตา สร้างความตระหนักรู้ให้คนไทยและชาวต่างชาติ ได้มีส่วนร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน


วันที่ 7 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น. กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ในโอกาสที่ยูเนสโก ขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมคณะรัฐมนตรี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยมี ซูฮย็อน คิม ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก ประจำประเทศไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะทูตานุทูต ประกอบด้วย มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลี ลาว กัมพูชา ญี่ปุ่น และจีน ร่วมเป็นสักขีพยาน นางยุพา ทวีวัฒนกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ว่า-ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ วัฒนธรรมจังหวัด ประธานสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครและจังหวัด 76 จังหวัด เข้าร่วมงาน ณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรวิหาร

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประธานพิธี ได้กล่าวแสดงความยินดี ในงานฉลองประกาศขึ้นทะเบียนสงกรานต์ ว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติหรือ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” ประเพณีปีใหม่ไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา  ในนามของรัฐบาลและประชาชนไทย ประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ขอประกาศเจตนารมณ์ในการรักษาและสืบทอดประเพณีสงกรานต์ ดังนี้

1. ประเทศไทย จะร่วมกันธำรงรักษา ถ่ายทอดและสร้างสรรค์ ประเพณีสงกรานต์ ให้มีการปฏิบัติและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยมาตรการส่งเสริมและรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งให้ความเคารพและยอมรับต่อวิถีปฏิบัติของทุกชุมชน  2. ประเทศไทย จะส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ ในฐานะตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และบ่อเกิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 3. ประเทศไทย จะเปิดโอกาสอย่างทั่วถึงแก่คนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกภาษา และทุกศาสนา ให้สามารถเข้าถึงประเพณีสงกรานต์ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเคารพต่อธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชน และจะร่วมกับชุมชนนานาชาติในการรักษาและสืบทอดประเพณีสงกรานต์ในทุกที่ ด้วยจิตใจของความร่วมมือและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน


ด้าน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึง การขึ้นทะเบียนสงกรานต์ กับยูเนสโก ว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบให้ดำเนินการเสนอ “สงกรานต์ในประเทศไทย” ประเพณีปีใหม่ไทย ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO นับเป็นความยินดีและภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน ในโอกาสที่ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสงกรานต์ ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา 

นายเสริมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สงกรานต์เป็นประเพณีปีใหม่ไทยที่เฉลิมฉลองในช่วงกลางเดือนเมษายน ของทุกภูมิภาคในประเทศไทย ซึ่งได้รับการถือปฏิบัติและสืบทอดอย่างยาวนาน ประเพณีอันงดงามและมีความหมายสะท้อนให้เห็นถึงความกตัญญูของคนไทย ที่มีต่อบรรพบุรุษ ความเอื้ออาทรและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ประเพณีสงกรานต์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้เคารพนับถือ จัดขบวนแห่ของชุมชนที่แสดงถึงตำนานสงกรานต์ จัดละครพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ การละเล่น และการแสดงต่าง ๆ เป็นต้น

นายเสริมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมและดำเนินงานปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จึงได้จัดงานฉลองสงกรานต์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติขึ้น เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ “สงกรานต์ในประเทศไทย” ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง และเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดการสงวนรักษา อนุรักษ์ สืบสาน ปกป้อง คุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของประเทศชาติ นอกจากนี้ การจัดงานฉลองสงกรานต์ฯ ยังเป็นการสร้างการรับรู้ให้ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ก่อให้เกิดการเข้าใจและยอมรับในระบบสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน อีกด้วย

บรรยากาศภายหลังพิธีเปิดงาน ประธานพิธี คณะรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร หน่วยงานภาคี ได้สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์จำลอง สรงน้ำพระสงฆ์และรดน้ำขอพรอาวุโส พร้อมรับชมขบวนแห่ฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Songkran in Thailand, Traditional Thai New Year Festival) 8 ขบวน  ประกอบด้วย ขบวนมหาสงกรานต์จตุรทิศ แผ่นดินไทย  ขบวนอันเชิญพระพุทธสิหิงค์ (จำลอง)  ขบวนตำนานนางสงกรานต์ ทั้ง 7 วัน นำโดย แอนโทเนีย โพซิ้ว รองอับดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 มาในชุด “นางมโหธรเทวี”  (นางสงกรานต์ประจำปี 2567) ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย มือขวาถือจักรเป็นอาวุธ ซ้ายตรีศูล พาหนะนกยูง ต่อด้วยขบวนเริงรื่นชื่นสงกรานต์ 4 ภาค ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง  และปิดท้ายด้วยขบวนธงตราสัญลักษณ์

นอกจากนี้ ภายในงานฉลองสงกรานต์ ณ ลานคนเมือง ยังมีสินค้าภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ของกระทรวงวัฒนธรรม กว่า 30 ร้านค้า และร้านจำหน่ายอาหาร ขนมไทย จากสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ให้ได้ชมและชิมอย่างเต็มอิ่ม และผู้เข้าร่วมงานยังได้รับชมการแสดงวงดนตรี โดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ อย่างเพลิดเพลิน


ทั้งนี้ เมื่อมรดกภูมิปัญญาฯ ได้รับการทะเบียนแล้ว รัฐภาคีจะต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ ต้องเสนอรายงานสถานะของรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ทุก 6 ปี ประกอบด้วย 7 ประเด็น ดังนี้

(1) ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับหน้าที่ทางสังคมและวัฒนธรรมของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม บทบาทของผู้ถือครองและผู้ปฏิบัติที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

(2) สถานการณ์ดำรงอยู่และความเสี่ยงในปัจจุบันของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

(3) ความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ หลังจากที่ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 

(4) มาตรการที่ดำเนินการที่ส่งเสริมและสนับสนุนอันเนื้องมาจากการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม  

(5) การมีส่วนร่วมของชุมชน และองค์กรในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม  

(6) หน่วยงาน และองค์กรชุมชนที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการ และส่งเสิรมรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม  

(7) การเปิดโอกาสให้ชุมชน กลุ่มต่าง ๆ องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุดในกระบวนการจัดทำรายงาน
 



พาพันซนพาพันอาบน้ำพาพันดี๊ด๊า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่