“ไทยเบฟ” มึนต้นทุนทุบกำไรลด ลุยแจก “เบนซ์-ทอง” ปลุกเบียร์เวียดนาม


ยักษ์ไทยเบฟฯ แจ้งตลาดหุ้นสิงคโปร์ รายได้รวมโตแค่ 2.5% ผลพวงพิษเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยว ตปท.ไม่มาตามนัด ผู้บริโภคชะลอจับจ่าย โอดต้นทุนพุ่ง ทำกำไรลด ล่าสุดกระหน่ำโปรฯ ปลุกตลาดเบียร์เวียดนาม แจกรถเบนซ์-ทองคำ ยิงยาวถึงต้นปี’67
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 พ.ย.) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่ม-ร้านอาหารรายใหญ่ของไทย ได้แจ้งผลประกอบการปี 2566 (ต.ค. 65-ก.ย. 66) ต่อตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ โดยระบุว่า ช่วงปี 2566 บริษัทมีรายได้จากการขาย 279,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% จากปี 2565 แต่ด้านกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) และกำไรสุทธิต่างลดลงสวนทางกับรายได้ โดยกำไรก่อนหักดอกเบี้ยอยู่ที่ 50,880 ล้านบาท ลดลง 5.7% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 30,727 ล้านบาท ลดลง 10.9% เช่นกัน

 
ทั้งนี้ ยักษ์เครื่องดื่มอธิบายว่า การลดลงของกำไรสุทธิครั้งนี้เป็นผลจาก 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจเบียร์และธุรกิจอาหารมีกำไรลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจเบียร์ซึ่งสร้างรายได้ถึง 43.3% ของรายได้รวม เป็นรองเพียงธุรกิจเหล้านั้น ปริมาณการขายลดลง 6.6% ส่งผลให้ยอดขายลดลง 1.4% เหลือ 120,835 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ต้นทุนของทั้งวัตถุดิบหลัก และแพ็กเกจจิ้งต่างเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งบริษัทจำเป็นต้องลงทุนด้านการสร้างแบรนด์ กิจกรรมการตลาดและส่งเสริมการขายเพิ่มเพื่อรับมือแรงกดดันท่ามกลางการแข่งขันดุเดือด ทำให้กำไรสุทธิลดลงจาก 7,597 ล้านบาท เหลือ 4,995 ล้านบาท หรือลดลงไปถึง 2,602 ล้านบาท คิดเป็นการลดลง 34.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน
โดยปัจจุบันต้นทุนธุรกิจเบียร์แบ่งเป็น ภาษีสรรพสามิต 37.9% วัตถุดิบ 21.2% ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 14.9% แพ็กเกจจิ้ง 12.8% อื่น ๆ 1.8% ค่าเสื่อมราคา 1.4% แรงงาน 1%
เป็นไปในทิศทางเดียวกับธุรกิจอาหาร ที่แม้จะมีสัดส่วนเพียง 6.8% ของรายได้รวม และยอดขายเติบโต 16% เป็น 19,070 ล้านบาท หลังผู้บริโภคกลับมานั่งทานอาหารในร้านมากขึ้น แต่กำไรสุทธิลดลงมากถึง 82.7% หรือลดลงจาก 376 ล้านบาท เหลือเพียง 65 ล้านบาท หลังต้นทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบ แรงงาน และพลังงานปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งการสร้างการรับรู้แบรนด์ และการขยายสาขาซึ่งสูงขึ้นเช่นกัน
 
แจกเบนซ์ปลุกเบียร์เวียดนาม
ขณะที่ผลการดำเนินงาน โดยเฉพาะกำไรลดลงนี้ ไทยเบฟฯยังเดินหน้าโหมกิจกรรม-แคมเปญการตลาดเพื่อกระตุ้นการขายแบบลากยาวตั้งแต่โค้งท้ายปีนี้ไปถึงต้นปีหน้าโดยเฉพาะตลาดในเวียดนาม
ไทยเบฟฯระบุว่า ช่วงปีงบฯที่ผ่านมา ยอดขายจากตลาดต่างประเทศลดลง 1.7% มาอยู่ที่ 77,565 ล้านบาท มีสาเหตุหลักมาจากยอดขายเบียร์ในเวียดนามของซาเบโค (SABECO) ลดลง 5.7% หลังได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว แม้ยอดขายในต่างประเทศของธุรกิจเหล้าจะเติบโต 17.1% ด้วยความสำเร็จของแกรนด์รอยัลกรุ๊ปในเมียนมา แต่ยังไม่สามารถชดเชยการหดตัวของธุรกิจเบียร์ในเวียดนามได้หมด
  
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับในช่วงหน้าขายสำคัญช่วงปลายปีที่เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองปีนี้ ซาเบโค (SABECO) บริษัทในเครือไทยเบฟฯ ซึ่งเป็นเจ้าตลาดเบียร์ในเวียดนาม ได้เร่งเครื่องสาดโปรโมชั่นหวังปลุกตลาดต่อเนื่องตั้งแต่ท้ายปี 2566 และยาวจนถึงต้นปี 2567
โดยช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ยักษ์เบียร์เวียดนามลอนช์แคมเปญใหญ่ หลายแคมเปญ อาทิ แคมเปญฉลองตรุษญวนปีมังกร (10 ก.พ. 2567) ด้วยแพ็กเกจ-กระป๋องลายพิเศษ และยังมีแคมเปญลุ้นรางวัลรถเบนซ์ มอเตอร์ไซค์ ทองคำ และอื่น ๆ อีกด้วย
เนื่องจากปัจจุบันตลาดเบียร์เวียดนามได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจและการส่งออกชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคลดการดื่มเบียร์ลงต่อเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับที่เข้มงวดขึ้น สะท้อนจากปริมาณการขายเบียร์ทั้งตลาดลดลงไปแล้ว 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565
 
ส่งผลให้รายได้ของผู้เล่นแต่ละรายลดลงไปตาม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น ซาเบโค ที่รายได้ 3 ไตรมาสของปีงบฯลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน HABECO รายได้ไตรมาส 2 ลดลง 2.6% เช่นเดียวกับ ไฮเนเก้น ซึ่งรายได้ในเวียดนามลดลงไปถึง 20%
“เหงียน วัน เวียด” ประธานสมาคมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเบียร์เวียดนาม กล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ขณะนี้วงการเครื่องดื่มของเวียดนามท้าทายมาก หลังยอดขายลดลง 10-20% ขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่า 50% โดยสมาคมอยู่ระหว่างเจรจากับรัฐบาลให้ชะลอการขึ้นภาษีพิเศษสำหรับเบียร์
ออกไปก่อน

กระแสเหล้าสีหนุนดีมานด์
ด้านธุรกิจเหล้า ไทยเบฟฯระบุว่า การปรับไลน์อัพสินค้าตามกระแสนิยมเหล้าสีในไทย และการปรับขึ้นราคาจำหน่าย รวมถึงผลงานในตลาดเมียนมา 
ช่วยให้ยอดขายของธุรกิจนี้เพิ่มขึ้น 3.1% เป็น 119,799 ล้านบาท แม้ปริมาณการขายจะลดลง 2.1% เป็น 642.8 ล้านลิตรก็ตาม
การเติบโตของยอดขายนี้สามารถชดเชยต้นทุนแพ็กเกจจิ้ง และการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนด้านการทำตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายได้ ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มจาก 33.2% เป็น 34% จนกำไรขั้นต้นของธุรกิจนี้เติบโตได้ถึง 5.5% หรือเพิ่มขึ้น 2,115 ล้านบาท เป็น 40,683 ล้านบาท และต่อเนื่องไปทำให้กำไรสุทธิเติบโต 2.5% มาทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ด้วยมูลค่า 22,446 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์นั้น ยอดขายเพิ่มขึ้น 12.4% เป็น 19,602 ล้านบาท เป็นผลจากการบริโภคของทั้งนักท่องเที่ยวและชาวไทยเพิ่มขึ้น ช่วยให้ปริมาณการขายเพิ่มขึ้น 7.1% ตามไปด้วย พร้อมกันนี้ บริษัทรับมือกับภาวะต้นทุนแพ็กเกจจิ้งพุ่งสูงด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จนทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 15.2% เป็น 675 ล้านบาท
นอกจากนี้ ไทยเบฟฯระบุในรายงานผลประกอบการว่า ปัญหาเศรษฐกิจและกำลังซื้อเป็นความท้าทายหลักของปีงบฯ 2566 ที่ผ่านมา ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาน้อยกว่าคาด ทำให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวช้าลง ขณะเดียวกันความไม่ชัดเจนของการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจนทำให้การจับจ่ายชะลอตัวลง รวมถึงยังทำให้นโยบาย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐล่าช้าออกไปด้วย
เมื่อรวมปัจจัยเหล่านี้เข้ากับสภาวะการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน เงินเฟ้อ ราคาพลังงาน และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยิ่งทำให้การบริโภคชะงักงัน โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยนั้นกำลังซื้อยังคงต่ำและชะลอการจับจ่าย
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.prachachat.net/marketing/news-1446206
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่