บริหารเงิน VS บริหารสุขภาพ - โลกในมุมมองของ Value Investor โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร



เขียน ณ วันที่ 19 ส.ค 2566
ถ้าจะถามว่าวัน ๆ หนึ่งผมทำอะไรบ้าง คำตอบของผมก็คือ ส่วนใหญ่มากก็คือ “บริหารเงิน” หรือจริง ๆ ก็คือเรื่องของการลงทุน ซึ่งก็รวมถึงการอ่าน พูด และเขียน

นอกจากนั้น เวลา “ว่าง” หรือทำอย่างอื่นเช่น การเดินช้อปปิงก็มักจะเป็นเรื่องของการ “คิด” ไปเรื่อย ๆ ในประเด็นที่หลากหลายมาก ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของมนุษย์และสังคมโดยเฉพาะเรื่องของเหตุผลว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นในประเทศไทยและในโลก และจะเป็นอย่างไรต่อไป ทั้งหมดนั้นก็มักจะอิงอยู่กับ “พื้นฐานของมนุษย์” ที่ “ถูกควบคุมโดยยีน” และโดยมี “ประวัติศาสตร์” เป็นสิ่งที่จะช่วยยืนยันความคิดนั้น

แต่สิ่งที่ผมทำมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปและผมมีอายุมากขึ้นก็คือ การ “บริหารสุขภาพ” ซึ่งจนถึงวันนี้ก็กลายเป็น “สิ่งสำคัญที่สุด” เพราะโอกาสที่จะเจ็บป่วยหรือตายสูงขึ้นมากเมื่อคนมีอายุมากขึ้นถึงจุดหนึ่ง ถ้าไม่ทำอะไร เราอาจจะป่วยหนักและฟื้นตัวกลับไม่ได้เหมือนตอนที่เป็นหนุ่มสาว ความสุขจะหายไปมากมาย ถ้าไม่ทำอะไรก็อาจจะตายเร็ว และเงินที่มีอยู่ก็ไม่มีความหมายอะไรอีกต่อไป มาดูกันว่าผมมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องของการบริหารสุขภาพอย่างไร

เบื้องต้นเลยผมเห็นว่าการบริหารสุขภาพและการบริหารเงินนั้น เป็นศาสตร์และศิลป์พอ ๆ กัน นั่นก็คือ จะต้องประกอบไปด้วยหลักการใหญ่และสำคัญ ๆ ที่เป็นวิทยาศาสตร์ กล่าวคือมีการพิสูจน์หรือมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีการศึกษาอย่างกว้างขวางและยาวนานว่าหลักการและวิธีการทำงานในเรื่องการบริหารเงินและการบริหารสุขภาพแบบไหนเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลดีและแบบไหนเป็นผลเสียต่อเรื่องการเงินและสุขภาพ

ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นเรื่องของการเงินแล้ว การที่จะลงทุนแล้วให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าก็มักจะต้องมีความเสี่ยงที่สูงขึ้น เช่น ลงทุนในหุ้นก็ต้องเสี่ยงกว่าการฝากเงิน อย่างไรก็ตาม มีวิธีลดความเสี่ยงที่ได้ผลดีก็คือการกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสมที่เราพอจะรับได้ หรือในเรื่องของสุขภาพนั้น ศาสตร์ที่ชัดเจนว่าดีต่อสุขภาพแน่นอนก็คือ การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีสารอาหารครบหมู่ อยู่ในที่ ๆ มีอากาศบริสุทธ์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนให้เพียงพอ อย่าให้มีน้ำหนักตัวเกิน และมีสภาพจิตที่ดี ไม่เครียดเกินไป

ในด้านของศิลปะนั้น ก็มักจะเป็นเรื่องของการปรับแต่งว่าเราควรจะทำแต่ละเรื่องมากน้อยแค่ไหนและอย่างไร ในเรื่องของการลงทุนก็เช่น จะกระจายความเสี่ยงแค่ไหนที่จะทำให้การลงทุนระยะยาวของเราได้ผลดีที่สุด กล่าวคือ ได้ผลตอบแทนน่าพอใจและความเสี่ยงไม่สูงเกินไป

เช่น ไม่เคยขาดทุนเกิน 30% เลยในระยะเวลา 10-20 ปี และผลตอบแทนทบต้นได้ถึงปีละ 12% เป็นต้น โดยที่การกระจายความเสี่ยงนั้น รวมไปถึงการลงทุนในหลาย ๆ หลักทรัพย์ ทั้งที่เป็นหุ้น พันธบัตรและอาจรวมถึงทองและอสังหาริมทรัพย์ด้วย เช่นเดียวกับการลงทุนในต่างประเทศที่อาจจะจำเป็นมากขึ้นทุกที เป็นต้น

ศิลปะของการบริหารสุขภาพนั้น แน่นอนว่าอาจจะรวมไปถึงการกินอาหารเสริมและวิตามิน บางคนก็อาจจะเสริมด้วยฮอร์โมน บางคนก็ดื่มน้ำมากกว่าปกติในบางช่วงเวลา ตาม “หนังสือบางเล่ม” ที่เขียนแนะนำว่าจะก่อให้ผลดีต่อสุขภาพ แต่ทั้งหมดนั้นก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าจะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับจริง ๆ

เรื่องสุขภาพนั้นก็คล้าย ๆ กับเรื่องของการบริหารเงินและการลงทุน ที่แต่ละคนก็มีวิธีและหลักการแตกต่างกันและทุกคนก็ดูเหมือนว่าสามารถที่จะชักชวนให้คนเชื่อว่าวิธีของตนเองนั้นดี “ผมทำมาแล้วได้ผลดีมากและคุณก็ทำได้” โดยที่ความเป็นจริง คนที่ติดตามและอาจจะตามอ่านหนังสือของคนเขียนก็ไม่รู้ว่า เขาทำแล้วรวยจริงไหม? หรือเขาทำแล้วสุขภาพดีขึ้นมากนั้นจริงหรือไม่?

บางทีเขาอาจจะ “กุเรื่องขึ้น” เพื่อเขียนหนังสือขายหรือขายคอร์สเรียนราคาแพง หรือตั้งใจชวนให้คนมาซื้ออาหารเสริม หรือช่วยปั่นหุ้นหรือหลักทรัพย์อ้างอิงอะไรก็เป็นได้

แน่นอนว่า การที่จะชักชวนให้คนเชื่อได้จริง ๆ ก็คงต้องมี “หลักฐาน” บางอย่างให้เห็นนอกจากการพูดหรือเขียนให้ฟังดูน่าประทับใจ ในเรื่องของการลงทุนนั้น ไม่มีอะไรดีไปกว่าการโชว์ว่า “ผมรวย” จากวิธีการที่ผมทำ เช่น การโชว์พอร์ตลงทุนว่าใหญ่และมีเงินขนาดไหนหรือแสดงกำไรเป็นร้อย ๆ เปอร์เซ็นต์ในการเทรดฟอร์เร็กซ์หรือเหรียญ เป็นต้น หรือในกรณีของสุขภาพก็จะต้องโชว์ความอ่อนเยาว์กว่าอายุจริงให้เห็นอย่างชัดเจน เป็นต้น

ศิลปะของการบริหารสุขภาพและการเงินหลาย ๆ เรื่องนั้น ก็อาจจะเป็นเรื่องจริงหรือได้ผลจริงและเกิดขึ้นกับเจ้าตัวคนทำ อย่างน้อยก็เป็นเรื่องของผลระยะสั้นและเป็นเรื่องของ “ความรู้สึก” แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างก็อาจจะกลับมาเหมือนเดิม ดูเหมือนว่าการทำแบบนั้นจะเป็นแฟชั่นที่มาสักพักแล้วก็ไป ตัวอย่างผมคิดว่ามีมากมายและแทบจะตลอดเวลา เช่น

เรื่องของฮอร์โมนเสริมต่าง ๆ ที่จะทำให้คนมีสุภาพดีและเป็นหนุ่มสาวขึ้น เช่น ฮอร์โมนเมลาโทนินที่ช่วยในการนอนหลับ โกรทฮอร์โมนที่ทำให้เด็กเติบโตและซ่อมสร้างร่างกายที่สึกหรอ และฮอร์โมนอีกมากมายที่คนเราจะมีน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้น เราจึงควรเติมให้เหมือนกับตอนเป็นหนุ่มสาว ซึ่งจะทำให้เราย้อนวัยกลับเป็นหนุ่มสาวได้ และแนวคิดแบบนี้ก็น่าจะมีส่วนที่ก่อให้เกิด “แพทย์ทางเลือก” แขนงหนึ่งก็คือ เรื่องของ Anti-Ageing หรือ “การแพทย์ชะลอวัย” ที่ร้อนแรงมากมาจนถึงทุกวันนี้

แต่นี่เป็นเรื่องจริงหรือ? ชะลอวัยได้จริงหรือ ผมเองก็ไม่รู้ แต่ก็เคยเข้าไปใช้บริการและก็ยังกินฮอร์โมนบางอย่างอยู่ แม้จะรู้สึกว่าอาจจะไม่มีผลอะไรในระยะยาว ประเด็นก็คือ ก็ยังไม่เห็นข้อเสียอะไร มีแค่เสียเงินบ้างแต่เราก็ไม่เดือดร้อน นี่ก็อาจจะคล้าย ๆ กับคนที่ไม่เชื่อว่านรกสวรรค์มีจริง แต่ก็อยากทำบุญเผื่อไว้ ถ้าเราคิดผิด กลายเป็นว่านรกสวรรค์มีจริง ก็จะได้ปลอดภัยว่าได้ทำบุญไว้แล้ว

ศิลปะในการบริหารเงินนั้น มีมากเท่า ๆ กับ “เซียน” ในตลาดหุ้น ตลาดเงิน หรือตลาดเหรียญต่าง ๆ ทุกครั้งที่ตลาดซื้อขายบูม ราคาวิ่งขึ้นไปแรงมาก ก็จะมีคนนำเสนอวิธีการลงทุนหรือเทรดตราสารที่ตนเองทำแล้วกำไรได้มหาศาลและรวดเร็ว การไปบรรยายหรือสอนนั้นก็จะเป็นช่องทางที่จะทำให้เป็นที่ยอมรับ ส่วนเทคนิคหรือวิธีการที่ใช้นั้น บางครั้งก็ไม่ใช่ของจริงหรือบอกไม่หมด ตัวอย่างเช่น ไม่ได้บอกว่าตนเองมีอินไซ้ต์ หรือหุ้นนั้นถูกปั่นหรือถูกคอร์เนอร์ เป็นต้น

ในหลาย ๆ กรณี เทคนิควิธีก็เป็นสิ่งที่ทำให้การลงทุนประสบความสำเร็จสูง แต่เมื่อคนทำตามก็อาจจะมีปัญหา อาจจะเป็นเพราะเข้าตลาดในช่วงที่หลักทรัพย์ขึ้นไปมากแล้ว คนที่เข้ามาแทนที่จะเป็น “ผู้ล่า” ก็กลายเป็น “เหยื่อ” เพราะเข้าไปซื้อในช่วงที่ราคาแพงมาก และกระแสของการเก็งกำไรในหลักทรัพย์ดังกล่าวจบลง ดังนั้น ศิลปะในการลงทุนที่มีคนนำเสนอมากมายตลอดเวลาจึงมักจะเป็นเรื่องที่ “ดีชั่วคราว” และถ้าใครทำผิดเวลาก็อาจจะเสียหายหนัก ในขณะที่เซียนที่เสนอหลักการ “รวย” เพราะมีคนมารับต่อหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่ขึ้นไปมาก

ในกรณีของเหรียญหรือตราสารที่มีขนาดใหญ่และเทรดกันในระดับโลกนั้น ศิลปะในการลงทุนดูเหมือนว่าแทบจะไม่ช่วยอะไรแม้ว่าตอนที่ทำจะรู้สึกว่าน่าจะดี แต่เป็นเรื่องในอดีตที่เกิดขึ้นแล้ว อนาคตอาจจะเป็นตรงกันข้าม ศาสตร์ของการใช้กราฟในการเล่นตราสารหรือเหรียญนั้นบอกว่า เป็นวิธีที่ไม่ได้ผล ไม่มีหลักฐานว่ามีใครชนะได้จริงในระยะยาว

ดังนั้น การเล่นแทบจะไม่ต่างกับการพนันที่มีแต้มต่อติดลบเพราะค่าคอมมิชชั่น การกำไรขาดทุนในระยะสั้นขึ้นอยู่กับโชค ในระยะยาวมีแต่จะขาดทุน คนที่อาจจะได้บ้างก็คือคนที่ขายคอร์สเรียนในราคาแพงแต่ไม่ได้ผลอะไรเลย

จุดยืนของผมในเรื่องของการบริหารการลงทุนนั้นก็คือ ผมสนใจและศึกษาเฉพาะศิลปะของการทำเงินระยะยาว ในส่วนของสุขภาพนั้น ผมสนใจที่จะลองในเรื่องที่คิดว่ามีโอกาสเป็น “ของจริง” แม้ว่าในขณะนี้ผมยังไม่เห็นว่าอะไรจะทำให้สุขภาพดีและหนุ่มขึ้นนอกเหนือจากศาสตร์ 4-5 ข้อที่กล่าว ซึ่งผมก็ทำเกือบทุกข้อแล้ว อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องที่มี “ต้นทุน” สูง ผมก็จะไม่ทำ

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ผมก็ยังเชื่อว่าความสำเร็จทางด้านการเงินและสุขภาพที่ดีนั้น นอกจากเรื่องของการบริหารแล้ว ยังขึ้นอยู่กับ “โชคชะตา” ไม่น้อย และนี่ก็ทำให้ผมรู้สึกอิจฉาวอเร็น บัฟเฟตต์ ว่า เขานั้นสุดยอดในด้านการเงินซึ่งน่าจะเกิดจากการบริหาร แต่ในด้านสุขภาพเขาน่าจะบริหารได้ไม่ดีนักเพราะกินแต่แฮมเบอร์เกอร์และโค้กวันละหลายกระป๋อง แต่สุขภาพยังดีเยี่ยมจนถึงวันนี้ที่อายุ 93 ปีแล้วก็ยังไปทำงานทุกวัน เขาบอกว่ามันคงเป็นเรื่องยีนของเขา

19 ส.ค 2566
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

อ้างอิง https://www.finnomena.com/dr-niwes/money-vs-health-management/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่