ลมหนาวทั้งสองระลอกช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2566

เป็นที่รู้กันแล้วว่าไทยจะเข้าสู่ฤดูหนาวช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้แน่นอน ซึ่งช้ากว่าปกติประมาณ 1 เดือน โดยฝนส่วนใหญ่หลังจากนี้ก็จะเริ่มถูกดันลงไปชุกทางภาคใต้แทน แต่ก็ยังมีโอกาสกลับมาได้(อยู่บ้าง)หากลมหนาวขาดช่วง มีพายุเข้า หรือการปะทะของอากาศร้อน-เย็นในบางช่วง โดยทางกรมอุตุฯ จะประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวภายในช่วงต้นสัปดาห์นี้ โดยอาจจะรอให้ระลอกแรกเริ่มเย็นให้ไทยตอนบนอุณหภูมิลดลงโดยทั่วกันแล้วถึงค่อยประกาศ ตามเกณฑ์ที่กรมอุตุฯ ได้กำหนดไว้

ลมระดับล่างส่วนใหญ่เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว แต่ลมระดับบนหรือลมฝ่ายตะวันออกยังคงมีกำลังแรงอยู่ ทำให้มันพัดนำความชื้นจากทะเลเข้ามาเกิดเป็นเมฆฝนอยู่ได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกฝนตกกันแทบจะทุกวันเลยทีเดียว การแผ่มาของลมหนาวที่แห้งจะค่อยๆทำให้ความชื้นที่ก่อให้เกิดเมฆฝนหายไป

เปรียบเทียบความกดอากาศสูงทั้งสองระลอก (ช่วงวันที่ 14 และ 17 พ.ย.) สังเกตได้ว่าระลอกที่สองจะลงมาทางไทยเยอะกว่า ซึ่งความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงแบบนี้พักหลังๆส่วนใหญ่จะเห็นได้ในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค. มากกว่า ถือว่าปีนี้เป็นปีที่แปลกอยู่ มาช้าแต่ก็มาแรงได้ในปีที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญ


เมื่อระลอกสองแผ่มาแรงกว่าจะทำให้ลมตั้งแต่ระดับผิวพื้นถึงลมระดับบน(1500ม.)เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด โดยสังเกตลมระลอกแรกยังคงมาอ้อมมาทางทิศตะวันออกผ่านทะเลที่อุ่นมาเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้อุณหภูมิต่ำสุดของระลอกแรกยังไม่ค่อยเย็นมาก แต่ระลอกที่สองจะเย็นกว่า เพราะผ่านทะเลมาน้อยกว่า สามารถนำความเย็นมาได้มากกว่า โดยสังเกตอุณหภูมิหลายๆที่จะให้เย็นลงชัดเจนช่วงปลายสัปดาห์นี้ซึ่งเป็นลมหนาวระลอกที่สอง
ภาพเปรียบเทียบทิศทางของแนวลมบนที่ระดับ1500ม. ของลมหนาวทั้งสองระลอก (ช่วงวันที่ 14 และ 17 พ.ย.)


และที่ไม่ค่อยได้เห็นช่วงพักหลังๆ มวลเย็นของลมหนาวระลอกสอง มีแผ่เข้ามาทางภาคเหนือด้วย แผนภาพการพยากรณ์อุณหภูมิที่ผิดปกติในช่วงระดับ 850hPa ของวันที่ 17 พ.ย. บ่งบอกว่ามีมวลอากาศเย็นแผ่ซึมเข้ามาทางภาคเหนือตรงๆ ไม่ต้องรอลมฝ่ายตะวันตกมาทำให้เย็นแบบช่วงหลายครั้งที่ผ่านมา


เปรียบเทียบการพยากรณ์อุณหภูมิจังหวัดเชียงรายและนครพนม โดยทาง weather.com ให้ค่าใกล้เคียงกันในช่วงปลายสัปดาห์


ส่วนกรุงเทพ เมื่อระลอกแรกยังแผ่มาไม่แรงพอเท่าไหร่ ก็จะทำให้เกิดความแปรปรวนอยู่ อาจะยังมีฝนได้อยู่บ้างบางพื้นที่ตามแนวลมตะวันออกและการปะทะของอากาศ จะไปชัดเจนจริงๆเอาในช่วงระลอกที่สอง ทาง weather.com พยากรณ์ว่าจะมีลมแรงในวันศุกร์นี้แล้วหลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง โดยอุณหภูมิต่ำสุดจากที่ดูเปรียบเทียบมาหลายๆที่ส่วนใหญ่จะพยากรณ์ให้อยู่ในช่วงประมาณ 21-23°C ซึ่งก็อาจจะยังมีแกว่งอยู่บ้างตามระยะการพยากรณ์ (ยิ่งนานหลายวันยิ่งเปลี่ยนแปลงสูง) เนื่องจากปัจจัยในการคำนวณมันจะเปลี่ยนทุกวัน แต่คิดว่าระลอกสองคงจะอยู่ในช่วงประมาณนี้สำหรับกรุงเทพ และจากที่สังเกตอุณหภูมิต่ำสุดที่ลดลงจะไปโผล่ในวันถัดไป เช่น พยากรณ์ต่ำสุด 21°C ของวันศุกร์ แต่มันจะไปโผล่ตอนเช้าของวันเสาร์ (จากที่ผมสังเกตส่วนใหญ่แทบจะทุกครั้ง อุณหภูมิต่ำสุดผมจะ +1 วัน)


แผนภาพการพยากรณ์ฝนสะสม24ชม.ของไทยแต่ละวันจาก ECMWF ของช่วงวันที่ 15-19 พ.ย. สังเกตว่าการแผ่มาของลมหนาวระลอกสองจะดันเมฆฝนลงไปทางใต้จนหมด หลายพื้นที่ของไทยอากาศจะเริ่มแห้งแบบหน้าหนาวแล้ว


ทั้งหมดนี้ดูจากข้อมูลการพยากรณ์จากหลายๆที่ประกอบกันในช่วงระยะ 7 วัน ช่วงวันท้ายๆอาจจะมีเปลี่ยนแปลงได้อยู่บ้าง แต่แนวโน้มได้เย็นกันแน่นอนไม่ต้องเป็นห่วง ถึงหนาวช้าแต่เขามาต้อนรับเราอย่างดี ฮ่าฮ่าฮ่า

ปล. ตอนแรกจะคอมเม้นตอบในกระทู้อื่น แต่ไปๆมาๆมันดันยาว เลยขออนุญาตมาตั้งกระทู้ใหม่ (เอาเก็บไว้เป็นประวัติของช่วงสภาพอากาศแปลกๆ เดือน พ.ย. ปีนี้ด้วย)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่