กกพ.เขาเสนอทางเลือกขึ้นค่าไฟปีหน้าไปที่ 4.68-5.95 บาทต่อหน่วย คนไทยจะไหวกันไหมครับ รัฐบาลควรต้องทำอย่างไรดี



กกพ.เขาเสนอทางเลือกขึ้นค่าไฟปีหน้าไปที่ 4.68-5.95 บาทต่อหน่วย คนไทยจะไหวกันไหมครับ รัฐบาลควรต้องทำอย่างไรดี

ควรต้องจัดการที่โครงสร้าง หรือต้องไปดูต้นทุนที่แท้จริง เรามีไฟฟ้าสำรองมากเกินไปหรือไม่ หรือว่า ไม่หรอก เราต้องสำรองไว้แบบนี้ถูกแล้ว แล้วต้นทุนน่ะ เขารบกันยังไม่เสร็จ ก็ต้องส่งผลกระทบต่อต้นทุนสิ

กกพ.เคาะ 3 ทางเลือก ขึ้นค่าไฟงวดม.ค.-เม.ย. 67 อัตรา 4.68 - 5.95 บาท/หน่วย

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เปิดเผยว่า กกพ. ได้รับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริง ประจำรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟที สำหรับงวดเดือนมกราคม-เมษายน ปี 67 จากปัจจุบันที่เรียกเก็บอยู่ 3.99 บาทต่อหน่วย โดย กกพ. ได้เคาะออกมา 3 กรณี

กรณีที่ 1 ขึ้นค่าเอฟที และคืนหนี้ค่าเอฟที กฟผ. งวดเดียว 95,000 ล้านบาท รวมเท่ากับ 216.42 สตางค์ต่อหน่วย บวกกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 ขึ้นค่าเอฟที บวกค่าเอฟที ที่ทยอยคืนหนี้ กฟผ. ใน 1 ปี รวมเท่ากับ 114.93 สตางค์ต่อหน่วย บวกค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย

และกรณีที่ 3 ขึ้นค่าเอฟที บวกค่าเอฟที ที่ทยอยคืนหนี้ กฟผ. ภายใน 2 ปี รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย และบวกค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย

โดยผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้ง 3 กรณี เป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิง โดยปัจจุบันก๊าซธรรมชาติในอ่าวยังอยู่ระหว่างเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 800 ล้านลูกบาศฟุตต่อวัน ในเดือนเมษายนปี 67 จึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อชดเชยก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งมีความเสี่ยงจากสงครามที่ทำให้ราคา LNG ผันผวนสูง โดย กกพ. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นทั้ง 3 กรณี ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันนี้ ถึง 24 พฤศจิกายนนี้ ก่อนที่จะสรุปและประกาศใช้ ซึ่งก็ต้องจับตาว่ารัฐบาลจะมีมาตรการบรรเทาผลกระทบหรือไม่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่