🕵️โคนัน! เหรียญเงินฟูนัน หลักฐาน ที่ไขปริศนา ใช้ย้อนเวลาไปหาอดีตได้🧞



หลักฐานและความรู้ใหม่ ... พบเหรียญฟูนันที่เมืองโบราณศรีเทพ

ซึ่งอาจจะเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่จะมาเติมเต็มประวัติศาสตร์เมืองโบราณศรีเทพช่วงก่อนวัฒนธรรมทวารวดี ??

เหรียญเงินฟูนัน ชาวบ้านขุดพบเมื่อประมาณปี 2522-2523 จำนวนหลายเหรียญ บรรจุเต็มอยู่ในไห 2 ใบ บริเวณที่นาบึงนาโลม ใกล้แม่น้ำป่าสัก ห่างจากถนนใหญ่ 4-5 กม. เข้าไปทางหลังโรงเรียนบ้านโคกสง่า ต.พุขาม อ.วิเชียรบุรี ซึ่งอยู่ในเขตบริเวณอันกว้างใหญ่ของเมืองโบราณศรีเทพ


ขอบคุณท่านอารี ศรีทองเพ็ชร ผู้ที่เจ้าของเหรียญผู้ขุดพบนำมามอบให้ และเป็นผู้ให้ข้อมูลและอาสาพาไปพบครอบครัวผู้ขุดพบเหรียญดังกล่าวด้วย

อารยธรรมฟูนัน สันนิษฐานว่ามีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาจึงได้ขยายอาณาเขตไปยังลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ มีเจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6-11 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อเปลี่ยนผ่านจากยุคก่อนประวัติศาสตร์มาเป็นยุคประวัติศาสตร์ตามบริบทของดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้

อันมีลักษณะทางการปกครองเปลี่ยนผ่านจากการอยู่กันเป็นชนเผ่ามาเป็นแบบรัฐเริ่มแรก มีกษัตริย์หรือเจ้าเมืองปกครอง และมีการส่งฑูตและบรรณาการไปจีน ซึ่งปรากฏอยู่ในบันทึกเอกสารของจีน

การเริ่มต้นของอารยธรรมฟูนัน มาจากการเข้าค้าขายมาของคนอินเดีย และได้มาตั้งหลักแหล่งผสมกับคนพื้นเมือง จึงนำวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองอยู่ในอินเดียเข้ามาด้วย อันมีตำนานเรื่องพระทองกับนางนาค ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของอารยธรรมฟูนันในสุวรรณภูมิ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนอารยธรรมทวารวดี
การค้นพบเหรียญฟูนันที่อาณาบริเวณเมืองโบราณศรีเทพนี้ จึงน่าจะเป็นหลักฐานที่สำคัญว่า อารยธรรมฟูนัน ก็ได้เคยแผ่ขยายมาถึงเมืองโบราณศรีเทพก่อนวัฒนธรรมทวารวดีเสียอีก จึงนับว่าเป็นข้อต่อสำคัญที่จะอยู่ระหว่างกลางของของยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ มาจนเป็นวัฒนธรรมทวารวดี

ที่ทำให้เมืองโบราณศรีเทพได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
ชาวฟูนันใช้เหรียญเงินเป็นสื่อกลางในการค้าขาย เป็นเหรียญลักษณะกลมแบน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ความหนาและน้ำหนักแตกต่างกัน โดยมีน้ำหนักประมาณ 7-10 กรัม ส่วนใหญ่ทำด้วยโลหะเงิน ซึ่งขุดพบในบริเวณต่างๆ ของประเทศไทยในปัจจุบันที่เชื่อว่าเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอารยธรรมฟูนันมาก่อน

ชาวฟูนันน่าจะทำเงินตราขึ้นใช้เอง โดยปรับรูปแบบจากเงินตราที่พ่อค้าชาวอินเดียนำเข้ามาใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้า

ลวดลายของเหรียญที่พบนั้น ด้านหนึ่งเป็นรูปพระอาทิตย์ครึ่งดวงแผ่รัศมี มีจุดไข่ปลาเรียง 2 แถว อีกด้านมีสัญลักษณ์ศรีวัตสะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระนารายณ์อยู่ตรงกลาง

ข้างหนี่งของศรีวัตสะเป็นบัณเฑาะว์ หมายถึงกลองเล็กชนิดหนึ่งที่พราหมณ์ใช้ในพิธีต่างๆ อีกข้างหนึ่งเป็นเครื่องหมายสวัสดิกะ ส่วนบนสุดของเหรียญเป็นรูปดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ลวดลายที่ปรากฏบนเหรียญแสดงให้เห็นความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์

นอกจากนั้น ยังพบเหรียญรูปพระอาทิตย์ที่ถูกตัดเป็นเสี้ยวๆ ขนาด 1/2 1/4 1/8 และ 1/16 ซึ่งสันนิษฐานว่าใช้เป็นเงินปลีกย่อยในการค้าขาย

อารยธรรมฟูนันรุ่งเรืองอยู่ประมาณ 500 ปี และเริ่มเสื่อมอำนาจลงเมื่ออาณาจักรเจนละ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนได้ครอบครองอาณาจักรฟูนันได้ และได้ก่อกำเนิดวัฒนธรรมต่าง ๆ ตามมา รวมทั้งวัฒนธรรมทวารวดีด้วย

ขอบคุณที่มา
ข้อมูล : คุณวิศัลย์ โฆษิตานนท์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่