เปิดข้อมูลอุโมงค์ลับใต้ดินกลุ่มฮามาส

เปิดข้อมูล “อุโมงค์ลับใต้ดิน” ของกลุ่มฮามาสในดินแดนฉนวนกาซา หนึ่งในภัยคุกคามต่ออิสราเอล...






.

"อุโมงค์ลับใต้ดิน" ในพื้นที่ฉนวนกาซา ซึ่งปัจจุบันคาดว่าน่าจะถูกใช้เป็นสถานที่ควบคุมตัวประกันชาวต่างชาติในสงครามอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสในปัจจุบันมีความเป็นมาอย่างไร? เป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอลมากน้อยแค่ไหนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วันนี้ “เรา” ไปร่วมกันสำรวจข้อมูลที่เชื่อมโยงปริศนาในบรรทัดด้านบนร่วมกันดู  

ข้อมูลเครือข่ายอุโมงค์ลับใต้ดินในพื้นที่ฉนวนกาซา :

จากรายงานของ RAND Corporation องค์กรที่ปรึกษาหน่วยงานภาครัฐไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งได้ออกบทวิเคราะห์ผลการเปิดปฏิบัติการ “Operation Protective Edge” ของ กองทัพอิสราเอล (The Isreal Defense Forces) หรือ “IDF” ซึ่งเป็นการเปิดปฏิบัติการภาคพื้นดินในพื้นที่ฉนวนกาซา เพื่อมุ่งทำลายอุโมงค์ลับใต้ดินดังกล่าว ในปี 2014 ระบุว่า เครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินซึ่งมีขนาดความกว้างประมาณ 1 เมตร และอยู่ในระดับความลึกตั้งแต่ 50-80 เมตรนั้น มีเส้นทางเชื่อมต่อกันเป็นใยแมงมุม เป็นระยะทางยาวมากกว่า 100 กิโลเมตร ใต้พื้นที่ 360 ตารางกิโลเมตร ของ “ฉนวนกาซา”

.



.

จุดเริ่มต้นการก่อสร้างอุโมงค์ลับใต้ดิน :  

ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา กลุ่มฮามาสได้เริ่มขยายการขุดอุโมงค์ลับเดิมซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่หลบซ่อนตัวจากการไล่ล่าของกองทัพอิสราเอลมาตั้งแต่ช่วงปลายยุค 60 ให้มีระยะทางและความลึกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะมีการดำเนินการก่อสร้างอย่างจริงจังในปี 2006 หลังฮามาสชนะการเลือกตั้งจนมีอำนาจเหนือดินแดนฉนวนกาซาอย่างสมบูรณ์ โดยมีอัตราความคืบหน้าในการสร้างอุโมงค์เฉลี่ยประมาณ 3-6 เดือน ต่อระยะทางประมาณ 800 เมตร

ปัจจุบันอุโมงค์ลับใต้ดินดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่ทอดยาวอยู่ใต้อาคารที่พักอาศัยของประชาชนในพื้นที่ฉนวนกาซา ถูกนำมาใช้ทั้งเป็นฐานบัญชาการ, คลังแสง, เส้นทางการซุ่มโจมตีกองทหารอิสราเอล, ลักลอบขนอาวุธและกำลังคนเข้าสู่พื้นที่ฉนวนกาซา, ที่หลบซ่อนตัวจากการโจมตีทางอากาศให้กับกลุ่มติดอาวุธฮามาส และล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าน่าจะถูกใช้เป็นสถานที่ควบคุมตัวประกันต่างชาติประมาณ 240 คน ที่ถูกจับกุมตัวมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม โดยจนถึง ณ ขณะนี้ (1 พ.ย. 23) เงื่อนไขที่กลุ่มฮามาสเรียกร้องต่ออิสราเอล คือ ให้ปล่อยนักโทษชาวปาเลสไตน์ประมาณ 6,000 คน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่