JJNY : อิสราเอลระเบิดค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่สุดในกาซา│เพจสภาเปิดงบ กอ.รมน.│ส.ส.ก้าวไกลชี้ถกเถียงกันได้│

อิสราเอลระเบิดค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่สุดในกาซา อ้างสังหารผู้นำก่อเหตุ 7 ต.ค. ฮามาสปัดไม่จริง ชี้อ้างสังหารพลเรือน
https://www.matichon.co.th/foreign/news_4261262
 
 
อิสราเอลระเบิดค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่สุดในกาซา อ้างสังหารผู้นำก่อเหตุ 7 ต.ค. ฮามาสปัดไม่จริง ชี้อ้างสังหารพลเรือน
 
อิสราเอลได้ทำการโจมตีทางอากาศต่อค่ายผู้ลี้ภัยจาบาเลีย ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในฉนวนกาซาและมีประชากรอยู่หนาแน่นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่น โดยระบุว่าการโจมตีดังกล่าวทำให้อิบราฮิม บิอารี ผู้บัญชาการอาวุโสของฮามาส ซึ่งเป็นแกนนำในการโจมตีของผู้ก่อการร้ายต่ออิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา เสียชีวิต
 
พันโทโจนาธาน คอนริคัส โฆษกของกองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) แถลงว่า เป้าหมายในการโจมตีคือนายบิอารี ซึ่งมีส่วนสำคัญในการวางแผนและทำการโจมตีอิสราเอล นอกจากนายบิอารีจะเสียชีวิตแล้ว ยังมีนักรบฮามาสหลายสิบคนที่ถูกสังหาร ในอุโมงค์ใต้ดินอันกว้างใหญ่จากจุดที่บิอารีคอยควบคุมการปฏิบัติการ
 
คอนริคัสกล่าวว่า IDF ได้ทำการโจมตีระหว่างอาคารต่างๆ โดยพุ่งเป้าไปที่เครือข่ายของอุโมงค์ที่อยู่ด้านล่าง และการพังทลายของอุโมงค์ทำให้อาคารโดยรอบพังทลายลง ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และว่า การโจมตีที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับระเบิดมากกว่า 1 ลูก แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม
 
คอนริคัสกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ IDF กำลังตรวจดูรายงานเกี่ยวกับความเสียหายข้างเคียงที่เกิดขึ้น และการบาดเจ็บล้มตายที่ไม่เกี่ยวข้องกับทหาร พร้อมระบุว่าพื้นที่ตอนเหนือของฉนวนกาซาคือฐานที่มั่นของกลุ่มฮามาส
 
โฆษก IDF กล่าวว่า กองทัพได้แจ้งให้พลเรือนออกจากพื้นที่ดังกล่าวด้วยการโปรยใบปลิว แจ้งข้อความบนโซเชียลมีเดีย และวิทยุกระจายเสียง และย้ำว่า การโจมตีครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญทางการทหารในสนามรบ เพื่อให้เราสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางทหารได้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมันถึงถูกโจมตี
 
ด้านฮาเซม กัสเซม โฆษกของกลุ่มฮามาส ออกมาปฏิเสธว่า ไม่มีผู้บัญชาการอาวุโสคนใดของฮามาสอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยจาบาเลีย คำกล่าวของ IDF เป็นเพียงข้ออ้างของอิสราเอลในการสังหารพลเรือน

การโจมตีของอิสราเอลต่อค่ายผู้ลี้ภัยดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขของฉนวนกาซารายงานว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 50 ราย ขณะที่กลุ่มฮามาสระบุในเวลาต่อมาว่า มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บรวม 400 คนในจาบาเลีย แต่ไม่มีใครสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้
 
แรงระเบิดของอิสราเอลทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งกลายสภาพเป็นเศษหินล้อมรอบด้วยอาคารคอนกรีตที่พังยับเยิน และมีภาพศพหลายสิบศพที่ถูกปกคลุมด้วยผ้าสีขาว ถูกนำมาเรียงกันอยู่ข้างโรงพยาบาลอินโดนีเซีย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับค่ายผู้ลี้ภัย
 
นายจอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงประจำทำเนียบขาว ไม่แสดงความเห็นใดๆ ต่อเหตุระเบิดค่ายผู้ลี้ภัยครั้งนี้ โดยบอกเพียงว่าเขายังไม่มีข้อมูล แต่ยืนยันว่า การสังหารพลเรือนไม่ใช่เป้าหมายในการทำสงครามของอิสราเอล



เพจสภาเปิดงบ กอ.รมน.ย้อนหลัง 4 ปียุคประยุทธ์ ยอดรวมทะลุ 3.4 หมื่นล้าน   
https://www.matichon.co.th/politics/news_4261076

เพจสภาเปิดงบ กอ.รมน.ย้อนหลัง 4 ปียุคประยุทธ์ ยอดรวมทะลุ 3.4 หมื่นล้าน   
 
จากกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุมชี้แจงมอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ว่า “การยุบ กอ.รมน.ไม่ได้อยู่ในความคิดของรัฐบาลนี้ ไม่ได้อยู่ในความตั้งใจ และไม่ได้อยู่ในนโยบายของรัฐบาลชุดนี้” หลัง ส.ส.ก้าวไกล เสนอร่างกฎหมาย กอ.รมน. โดยที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นด้วย ล่าสุดอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญนั้น

ล่าสุด (31 ต.ค.) เพจ LIRT : คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยงบประมาณรายจ่ายของ กอ.รมน.ย้อนหลังไป 4 ปี ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2563-2566 โดยมีรายละเอียดแยกเป็นรายปี ดังนี้
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ​​ ​- 9,893,672,900 ​ ​ ​ บาท
 
​งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ​​ ​-  8,854,707,900 ​ ​ บาท
​งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565  -​ ​ 7,764,882,400 ​ ​ บาท
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ​ ​-​ 7,772,273,500 ​ ​ บาท
 
รวมงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 – 2566 ของ กอ.รมน. คือ 34,285,536,700 บาท



ส.ส.ก้าวไกล ชี้ยุบไม่ยุบกอ.รมน. ถกเถียงกันได้ แต่นายกฯ ควรเปิดพื้นที่ เซ็นรับรองให้เข้าสภา 
https://www.matichon.co.th/politics/news_4261132

รอมฎอน ส.ส.ก้าวไกล ชี้ยุบไม่ยุบกอ.รมน. ถกเถียงกันได้ แต่นายกฯ ควรเปิดพื้นที่ เซ็นรับรองให้เข้าสภา 
 
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ ร่างกฎหมาย กอ.รมน. ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายยุบกอ.รมน. โดยมีเนื้อหาดังนี้
 
นายกฯ เศรษฐาระบุว่า หากจะดันกฎหมาย ยุบกอ.รมน. จะต้องเข็น กันเอาเอง แต่การเข็นขึ้นหรือไม่ขึ้นนั้นตอนนี้อยู่ในมือของนายกฯ ที่ชื่อเศรษฐาเองนะครับ ร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน. นั้นถูกประธานสภาฯ ตีความว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 นายกรัฐมนตรี จะต้องใช้ดุลพินิจให้ คำรับรอง ต่อร่างกฎหมายโดยเปิดทางให้สภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายและถกเถียงกัน
 
การตัดสินใจเรื่องนี้ ของเศรษฐาในโมเมนต์นี้ จึงสำคัญมากกว่า คำให้สัมภาษณ์หรือคำแถลงใดๆ การจะ ยุบไม่ยุบ กอ.รมน. นั้นอาจเห็นแตกต่างกันได้ แต่ละพรรคการเมืองก็มีนโยบายแตกต่างกัน แต่การเปิดโอกาสให้มีการให้เหตุผลโต้แย้งกันอย่างสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่ควรกระทำครับ
 
ผมคิดว่า ท่านนายกฯ ไม่ควรต้องกังวลใจหรือหวั่นเกรงต่ออำนาจและอิทธิพลใด ๆ เพราะอย่างน้อย ๆ คะแนนโหวตในสภานั้นจะเป็นตัวตัดสินครับ
แต่ถ้านายกฯ เศรษฐาตัดสินใจตัดตอนโดยการไม่ให้คำรับรอง ตามความเห็นของ กอ.รมน. ที่เสนอมาเป็นการภายในนั้น ภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีพลเรือนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพจะโดดเด่นเห็นชัดมากยิ่งขึ้น โจทย์ใหญ่ยังตกอยู่กับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลหลายพรรคที่สมาชิกพรรคอาจมีท่าทีแตกต่างกันเกี่ยวกับสถานะของ กอ.รมน.
 
อย่างน้อย ๆ ก็ประธานวิปรัฐบาลที่ออกตัวชัดเจนว่าจำเป็นต้องโละทิ้งองค์กรที่เป็นรัฐซ้อนรัฐอันเป็นมรดกของสงครามเย็น การยุบ กอ.รมน.ถือเป็น “ให้เกียรติทหาร คืนกลับสู่กรม กอง คืนทหารให้ทหาร คืนเสรีภาพให้ประชาชน คืนอำนาจให้หน่วยราชการ”
 
คำถามโต ๆ ยังปะทะไปยังพรรคประชาชาติ ที่มีฐานเสียงสำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าจะมีจุดยืนอย่างไร ชายแดนใต้เป็นพื้นที่ความขัดแย้งที่เป็นทั้งจุดกำเนิดและฐานที่มั่นสำคัญของ กอ.รมน.ในเวอร์ชั่นที่เราเห็นในทุกวันนี้ สิบกว่าปีมานี้และโดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร งบประมาณและอำนาจที่ขยายตัวมากขึ้นของกองทัพในนามของ กอ.รมน.ได้สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิทธิเสรีภาพของประชาชน
 
ที่สำคัญ แนวทางของ กอ.รมน. ยังได้จำกัดทางเลือกในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติวิธีและเปิดกว้าง เป็นเพียงความพยายามสร้างความภักดีแบบบีบบังคับ สกัดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง โดยทึกทักว่าวิธีการเหล่านั้นจะสร้างสันติสุขที่สงบราบคาบได้ — แต่เปล่าเลย ความไม่เชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐและความอึดอัดใจของประชาชนแพร่กระจายอยู่เต็มไปหมด นี่คือที่มาของแรงสนับสนุนของผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ให้ยุบกอ.รมน.
 
หากนายกรัฐมนตรี ไม่แยแส ต่อความรู้สึกเช่นนี้ และปิดกั้นไม่ให้มีการอภิปรายเรื่องนี้ในสภาผู้แทนราษฎร สส.เขตในพรรคร่วมรัฐบาล 12 คนจากทั้งหมด 13 เขตเลือกตั้ง จะตอบคำถามประชาชนอย่างไร?
 
เปิดให้สภาฯ ได้ถกเถียงเถิดครับ!

https://www.facebook.com/romadonity/posts/pfbid0jhoc3CJUe555w1fW86MQMFW2Xg58quJE57RoP2CiDFaQvi6SDVAr61QYZ2LPxyxyl
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่