JJNY : อิสราเอลยกระดับกวาดล้างฮามาส│กาตาร์บอกปล่อยตัวประกันยากขึ้น│แจงความคืบหน้ากรณีไอโอโจมตีผู้หญิง│แม่ค้าขนมไทยครวญ!!

อิสราเอลประกาศภาคเหนือกาซา “เป็นสนามรบ” ยกระดับกวาดล้างฮามาส
https://www.dailynews.co.th/news/2849805/

กองทัพอิสราเอลประกาศว่า พื้นที่ทางเหนือของฉนวนกาซา โดยเฉพาะที่เมืองกาซาซิตี "ถือเป็นสนามรบ" ส่งสัญญาณเตือนการยระดับความรุนแรงของการโจมตี เพื่อกำจัดกลุ่มฮามาส
 
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ว่า เน็ตบล็อกส์ ซึ่งเป็นเครือข่ายสังเกตการณ์อินเทอร์เน็ตนานาชาติ รายงานบนแพลตฟอร์ม เอ็กซ์ ว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในฉนวนกาซา กลับมาเป็นปกติแล้วบางส่วน และการติดต่อทางโทรศัพท์ ระหว่างประชาชนในภาคเหนือกับภาคใต้ของฉนวนกาซา เริ่มกลับมามีสัญญาณแล้ว

อย่างไรก็ตาม กองทัพอิสราเอลขยายขอบเขตปฏิบัติการทางทหารในภาคเหนือ และพื้นที่บางส่วนทางตอนกลางของฉนวนกาซา ตั้งแต่คืนวันศุกร์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น โดยส่งทั้งทหาร รถถัง และยานยนต์หุ้มเกราะเข้าสู่พื้นที่ ด้านเครื่องบินรบของกองทัพอากาศคอยคุ้มกัน และมีการทิ้งระเบิดโจมตีเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มฮามาสระดมยิงจรวดโต้ตอบไม่หยุด

ด้านกองทัพอิสราเอลประกาศว่า พื้นที่ทางเหนือของฉนวนกาซา โดยเฉพาะที่เมืองกาซาซิตี “คือสมรภูมิรบ” หมายความว่า “ไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไป” จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งยังไม่ย้ายลงไปทางใต้ของฉนวนกาซา “อพยพให้เร็วที่สุด” เนื่องจากจะมีการยดระดับปฏิบัติการทางทหารอีก เพื่อกวาดล้างกลุ่มฮามาส

อนึ่ง กองทัพอิสราเอลเชื่อมั่นว่า ภาคเหนือของฉนวนกาซาคือ “กองบัญชาการหลัก” ของกลุ่มฮามาส ซึ่งมีเครือข่ายอุโมงค์อยู่ใต้โรงพยาบาลอัล-ชีฟา โรงพยาบาลใหญ่ที่สุดของฉนวนกาซา ที่อยู่ในเมืองกาซาซิตีด้วย ขณะที่กลุ่มฮามาสยืนกรานปฏิเสธ และประณามอิสราเอลว่า ใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้าง เพื่อทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขของฉนวนกาซา

https://twitter.com/idfonline/status/1718305716698517757
 


กาตาร์บอกปฏิบัติการภาคพื้นดินอิสราเอล ทำความพยายามปล่อยตัวประกันยากขึ้น
https://www.matichon.co.th/foreign/news_4256909

กาตาร์บอกปฏิบัติการภาคพื้นดินอิสราเอล ทำความพยายามปล่อยตัวประกันยากขึ้น
 
รัฐบาลกาตาร์ ซึ่งรับหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจากับกลุ่มฮามาสให้ปล่อยตัวประกันมากกว่า 200 คนที่ถูกจับกุมตัวไปจากอิสราเอล เมื่อครั้งที่ฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคม ออกมาระบุว่า ปฏิบัติการการภาคพื้นดินของอิสราเอลทำให้ความพยายามที่จะปล่อยตัวประกันซับซ้อนและยากลำยากมากขึ้น
  
การยกระดับทำให้มันยากขึ้นมาก” มาเจด อัล-อันซารี โฆษกกระทรวงต่างประเทศกาตาร์กล่าว
 
ท่าทีของกาตาร์สวนทางกับอิสราเอล ซึ่งนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่า การจัดการทางทหารเพื่อโค่นล้มฮามาส กับการพาตัวประกันกลับบ้านไม่ได้ขัดแย้งกันแต่อย่างใด
 
ทั้งนี้ อิสราเอลยืนยันว่า ฮามาสจับตัวประกันไป 229 คน ซึ่งจนถึงขณะนี้มีตัวประกันที่ถูกปล่อยตัวออกมาเพียง 4 คนเท่านั้น



องค์กรสิทธิมนุษยชนแจงความคืบหน้ากรณีไอโอโจมตีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ
https://prachatai.com/journal/2023/10/106566

องค์กร Protection International ซึ่งทำงานสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แจงความคืบหน้ากรณีไอโอโจมตีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ว่าผู้รายงานพิเศษ UN 6 คณะ ส่งหนังสือถึงรัฐไทยเรียกร้องให้ชี้แจงข้อเท็จจริงจากการขาดความรับผิดและมาตรการคุ้มครองต่อการข่มขู่และการคุกคามทางออนไลน์ต่อ “อังคณา-อัญชนา” พร้อมเสนอ 5 ข้อ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการโจมตีทำร้ายด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งการใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์ ด้านผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ได้มีหนังสือตอบกลับระบุเพียงจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป แต่ยังไม่ได้ตอบข้อคำถาม หรือชี้แจงข้อห่วงกังวลของคณะผู้รายงานพิเศษแต่อย่างใด

29 ต.ค. 2566 องค์กร Protection International ซึ่งทำงานสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและอำนวยความสะดวกให้ อังคณา นีละไพจิตร และ อัญชนา ยิ้มมมิหน๊ะ ได้เข้าถึงความยุติธรรมกรณีการถูกโจมตีและละเมิดสิทธิออนไลน์โดยการทำไอโอ ได้เผยแพร่เอกสารแปลของผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติที่ส่งถึงรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยคณะผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ 6 คณะซึ่งประกอบด้วย คณะทำงานว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง , ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคม , ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน; ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ และผู้รายงานพิเศษว่าด้วยความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง สาเหตุ และผลลัพธ์ ได้ส่งหนังสือ(ลำดับที่ AL THA 3/2023 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2566[1]) ถึงรัฐบาลไทยเพื่อให้รัฐบาลไทยชี้แจงข้อเท็จจริงจากการขาดความรับผิดและมาตรการคุ้มครองต่อการข่มขู่และการคุกคามทางออนไลน์ ต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสองท่าน ได้แก่ อังคณา นีละไพจิตร และ อัญชนา ยิ้มมมิหน๊ะ
 
ในบางช่วงของหนังสือระบุว่า แม้ว่าศาลแพ่งกรุงเทพฯ จะมีคำพิพากษาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีรายงานว่า ศาลตระหนักว่าบุคคลทั้งสองได้รับผลกระทบจากการใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์ จากการทำหน้าที่ในฐานะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งสมควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐ และเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รายงานเกี่ยวกับการข่มขู่และคุกคามทางอินเทอร์เน็ตต่อ อังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ สมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Expert- WGEID)  และ  อัญชนา ยิ้มมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน  ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดูเหมือนจะเชื่อมโยงกับการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของตน
 
ผู้รายงานพิเศษทั้ง 6 ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ต่ออังคณา นีละไพจิตร ซึ่งได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติที่ฟาร์มไก่ของบริษัทไทยแห่งนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้รายงานพิเศษได้นำเสนอ ในจดหมายที่ส่งถึงรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 (เลขที่ AL THA 3/2020) ด้วย
 
คณะผู้รายงานสหประชาชาติ ได้ตั้งคำถามรัฐบาลไทยโดยให้รัฐบาลระบุถึงมาตรการ ภายหลังจดหมายก่อนหน้านี้ ซึ่งรัฐบาลของไทยนำมาใช้เพื่อประกันว่า ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเก็บและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะสามารถดำเนินงานอันชอบธรรมของตนต่อไปได้ ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุน โดยไม่ต้องกลัวต่อการข่มขู่หรือความเสี่ยงที่จะถูกตอบโต้และคุกคาม ทั้งออฟไลน์และออนไลน์
 
ทั้งนี้คณะผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ ยังได้มีคำถาม 5 ข้อถึงรัฐบาลไทยในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมอาทิ ให้รัฐบาลไทยระบุถึงมาตรการที่ได้นำมาใช้ เพื่อประกันให้เกิดความรับผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเข้าถึงความจริง ความยุติธรรม การเยียวยา และการประกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำต่อ อังคณา นีละไพจิตร และ อัญชนา ยิ้มมมิหน๊ะ และ ขอให้รัฐบาลไทยระบุถึงมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมที่นำมาใช้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการโจมตีทำร้ายด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งการใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์ต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงให้รัฐบาลไทย ระบุถึงมาตรการที่นำมาใช้เพื่อคุ้มครองบูรณภาพทางกายและใจของ อังคณา นีละไพจิตร และ อัญชนา ยิ้มมมิหน๊ะ เมื่อคำนึงถึงการข่มขู่และคุกคามที่เกิดขึ้นกับพวกเธออย่างต่อเนื่อง
 
แม้เราไม่ประสงค์จะตัดสินล่วงหน้าเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อกล่าวหาเหล่านี้ เราขอแสดงความกังวลต่อรายงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการข่มขู่และคุกคามทางอินเทอร์เน็ตด้วยเหตุผลด้านเพศสภาพ ต่อ อังคณา นีละไพจิตร และ  อัญชนา ยิ้มมมิหน๊ะ ซึ่งเป็นการขัดขวางความพยายามที่จะใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีเสรีภาพด้านการชุมนุมอย่างสงบ การสมาคม การแสดงความเห็น และการแสดงออกของพวกเธอ รวมทั้งสิทธิที่จะปลอดจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ” คณะผู้รายงานกล่าว
 
ทั้งนี้ ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ได้มีหนังสือตอบกลับผู้รายงานพิเศษทั้ง 6 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566[2] ว่าได้รับหนังสือของคณะผู้รายงานพิเศษ สหประชาชาติแล้ว และจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยหนังสืบตอบกลับไม่ได้ตอบข้อคำถาม หรือชี้แจงข้อห่วงกังวลของคณะผู้รายงานพิเศษแต่อย่างใด
 
ปรานม สมวงศ์ องค์กร Protection International กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีมากที่ผู้ถืออาณัติของวิธีพิจารณาวิสามัญคือผู้รายงานพิเศษ UN 6 คณะให้ความสนใจและมีคำถามมายังรัฐบาลไทย นั่นหมายถึงว่าต้องการให้มีการให้ความสนับสนุนให้เกิดการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯทั้งสองคน รวมถึงให้ระบุถึงมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมที่นำมาใช้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการโจมตีทำร้ายด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งการใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์ต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนท่านอื่นๆด้วย
 
“อังคณา” ระบุไทยประกาศตัวสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ (HRC) จึงควรแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนดังที่ได้ให้คำมั่นต่อประเทศสมาชิกสหประชาชาติ
 
ขณะที่อังคณากล่าวว่า  นับเป็นเวลาหลายปีที่ต้องเผชิญกับการถูกคุกคามโดยรัฐไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการยุติการคุกคามในการทำงานในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ยืนเคียงข้างผู้เสียหายและไม่มีความรับผิดชอบใดๆต่อการละเมิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลอดหลายปีที่ผ่านมา หนังสือที่คณะผู้แทนพิเศษทั้ง 6 ส่งถึงรัฐบาลไทยถือว่ามีความสำคัญอย่างมากเพราะน่าจะเป็นครั้งแรก ๆ ที่ผู้รายงานพิเศษด้านต่างๆของสหประชาชาติพร้อมใจกันลงนามในหนังสือถึงรัฐบาลไทยเพื่อแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการคุกคาม การด้อยค่า การใส่ร้ายป้ายสี รวมถึงการใช้เพศเป็นเครื่องมือในการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยทั้งออฟไลน์และออนไลน์
 
อังคณาระบุเพิ่มเติมว่า “ที่ผ่านมาได้เคยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหลายครั้งเพื่อให้หาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และยุติการคุกคามนี้ แต่หน่วยงานของรัฐกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิด ทั้งที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้นำปัญหานี้มาอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร โดยมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าหน่วยงานของรัฐอาจเป็นผู้สนับสนุนเว็บไซต์ pulony.blogspot.com ซึ่งเป็นเว็ปไซต์ที่ใส่ร้ายป้ายสี ด้อยค่าและใช้เพศเป็นเครื่องมือในการลดทอนความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กรณีของตัวเองถือเป็นเสมือนยอดของภูเขาน้ำแข็ง เพราะมีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกมากมายที่เป็นเหยื่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดบางประการโดยเฉพาะความกังวลต่อผลกระทบต่อครอบครัวจึงทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงเหล่านี้ไม่กล้าแจ้งความหรือเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ ผลการถูกคุกคามยังส่งผลอย่างมากต่อสภาพจิตใจของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทำให้พวกเธอรู้สึกไร้อำนาจและไร้คุณค่า
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่