เวลามีคนมาขายประกัน แล้วบอกว่า ประกันนี้ผลตอบแทนได้หลายร้อย % เราควรพูดกลับไปว่าอย่างไร

หลายคนน่าจะเคย เห็นโฆษณา หรือแม้แต่มีคนมาชวนซื้อประกันสะสมทรัพย์ ว่าจะได้รับผลตอบแทนคืนหลายร้อย % หลายคนพอได้ยินว่า หลายร้อย % ก็รีบตัดสินใจซื้อ โดยที่อาจไม่รู้รายละเอียดอื่นๆ

คำถามคือ ก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อประกันลักษณะนี้ เรามีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วหรือยังว่า เราจะได้รับผลตอบแทนคืนหลายร้อย %อย่างที่ตัวแทนขายประกันบอก



แล้วในความเป็นจริง การวัดผลตอบแทนที่เราจะได้รับจากการซื้อประกันสะสมทรัพย์ นั้น ควรวัดด้วยวิธีไหน เพื่อทำให้เราสามารถเทียบผลตอบแทนกับการลงทุนในทางเลือกอื่นได้

จริงๆ แล้วในทางการเงินนั้น ผลตอบแทนของการลงทุน เราจะพูดเป็น % เมื่อเทียบจาก เงินต้นที่ลงทุนไป

เช่น ต้นปีลงทุนไป 100,000 บาท สิ้นปีได้ผลตอบแทนกลับมา 10,000 บาท ก็แปลว่า เราได้ผลตอบแทนของการลงทุน 10% (ในปีที่ 1)

ในปีต่อไป ถ้าเรายังคงเงินต้นไว้ที่ 100,000 บาท และ สิ้นปีได้ผลตอบแทนกลับมา 10,000 บาท ก็แปลว่า เราได้ผลตอบแทนของการลงทุน 10% (ในปีที่ 2)

เราจะเห็นว่า เราไม่ได้ใส่เงินต้นเพิ่มลงไปเลยแม้แต่บาทเดียว โดยที่ได้รับผลตอบแทนปีละ 10%
ทีนี้มาดูที่ฝั่งการซื้อประกันสะสมทรัพย์กันบ้าง ที่หลายคนอาจเจอประโยคที่ว่า
 
“ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ ออมก็ง่าย คืนก็คุ้ม การันตีด้วยผลตอบแทนรวมสูงถึง 555% ของทุนประกัน ออมสั้น 5 ปี คุ้มครองยาว 10 ปี พร้อมช่วยลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 100,000 บาท ทุกปีที่ชำระเบี้ย”

หลายคนอ่านเร็วๆ อาจเคลิ้มไปกับคำว่า “ผลตอบแทนรวมสูงถึง 555% ของทุนประกัน”

โดยภายใต้เงื่อนไขนี้ คนซื้อประกันสามารถรับเงินคืน 5%ของทุนประกัน ตั้งแต่สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 7 - 9 และรับเงินก้อนเมื่อครบกำหนดสัญญา 540% ของทุนประกัน” (ก็จะเป็นผลตอบแทนรวมสูงถึง 555% ของทุนประกัน อย่างที่โฆษณานี้พูดถึง)

ดังนั้น สมมุติในปีที่ 1 เราซื้อประกัน ด้วยเงินจำนวน 35,000 บาท ขณะที่ปีต่อไปเราก็ยังคงต้องจ่ายเงินเท่าเดิมเพิ่มไปอีกปีละ 35,000 บาท ตั้งแต่ปีที่ 2-5
โดยที่จะได้รับเงินคืน 5% ตั้งแต่สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 7 – 9 หรือ ปีละ 1,750 บาท

ปีที่ 1 จ่ายค่าเบี้ย (35,000) บาท 
ปีที่ 2 จ่ายค่าเบี้ย (35,000) บาท 
ปีที่ 3 จ่ายค่าเบี้ย (35,000) บาท 
ปีที่ 4 จ่ายค่าเบี้ย (35,000) บาท 
ปีที่ 5 จ่ายค่าเบี้ย (35,000) บาท 
ปีที่ 6 -
ปีที่ 7 รับเงินคืน 1,750 บาท (5% ของ 35,000)
ปีที่ 8 รับเงินคืน 1,750 บาท (5% ของ 35,000)
ปีที่ 9 รับเงินคืน 1,750 บาท (5% ของ 35,000)
ปีที่ 10 รับเงินคืน 189,000 บาท (540% ของ 35,000)

แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ การที่เราต้องชำระเบี้ยทุกปี หรือ พูดง่ายๆ คือ ต้องใส่เงินเพิ่มเข้าไปทุกปี แต่เงินคืนที่ได้รับต่อปีนั้นเท่าเดิม ดังนั้น ถ้ามองในแง่การของลงทุน ผลตอบแทนที่เราจะได้รับนั้น จริงๆ ไม่ใช่ 5%

ลองดูตัวอย่างนี้ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น เช่น ถ้าเราลงทุน 100 บาท สิ้นปีได้กำไร 10 บาท แสดงว่าเราได้ผลตอบแทน 10%

ปีต่อมาเมื่อเราลงทุนเพิ่มเข้าไปอีก 100 บาท เป็น 200 บาท แต่สิ้นปีเรายังได้กำไรเท่าเดิมคือ 10  บาท แสดงว่าตอนนี้ผลตอบแทนเราเหลือแต่ 5%

ซึ่งก็เป็นกรณีเดียวกับการทำประกัน เพราะการที่เราใส่เงินเพิ่มไปปีละ 35,000 บาท ตั้งแต่ปีที่ 2-5 หมายความว่า เราใส่เงินลงทุนเพิ่มทุนทุกปี แต่เงินคืนกลับได้เท่าเดิมที่ 1,750 บาท ในช่วงปีที่ 7-9

อีกเรื่องคือ การรับเงินก้อน 540% เมื่อครบกำหนดสัญญา ซึ่ง 540% นี้ ใช้ฐานการจ่ายเบี้ยประกันของปีเดียวคือ 35,000 บาท ไม่ใช่การจ่ายเบี้ยประกันรวมที่ 175,000 บาท จึงทำให้ปีสุดท้ายได้เงินก้อนคืนที่ 189,000 บาท

และจุดนี้เองที่ทำให้การวัดผลตอบแทนด้วยวิธีทั่วๆ ไป นั้นไม่สามารถใช้ได้

ซึ่งวิธีการที่ถูกต้องว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในประกันนั้นได้เท่าไรคือ การใช้ IRR หรือ อัตราผลตอบแทนภายใน (โดยที่หลายๆ คนน่าจะใช้งาน IRR ได้อย่างง่ายๆ Ms. Excel)



ถ้าลองไปคำนวณแล้วจะพบว่า จริงๆ แล้ว IRR จากการลงทุนในประกันกรณีนี้จะอยู่แค่ 1.5% ซึ่งก็แทบไม่ต่างจากการฝากเงินในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องบอกว่า การทำประกันนั้น วัตถุประสงค์หลัก คือ เป็นการให้ความคุ้มครอง ที่จะจ่ายเป็นเงินทุนประกันให้คนข้างหลังหากเกิดเหตุฉุกเฉินกรณีที่คนทำประกันต้องจากไป ซึ่งถือเป็นสิ่งที่จำเป็น ที่เราต้องให้ความสำคัญมากที่สุด

ส่วนผลตอบแทนที่โฆษณาตามสื่อต่างๆ นั้นเป็นเพียงผลพลอยได้มากกว่า ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ ที่เราไม่ควรทำประกันเพียงเพราะเข้าใจว่า จะได้รับผลตอบแทนหลายร้อย % ทั้งที่ในความเป็นกลับได้ไม่กี่ % เท่านั้นเอง 

ดังนั้น ถ้ามีใครมาขายประกันและบอกว่าถ้าจะผลตอบแทนหลายร้อย % เราควรถามกลับไปว่า ผลตอบแทนนี้คิดเป็น IRR กี่ %
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่