ความสำคัญของกฏแห่งกรรม กับการเจริญสติ

ที่จริง ผมควรจะตั้งชื่อกระทู้ว่า "ความสำคัญของสัมมาทิฏฐิ กับการเจริญสติ" แต่ผมรู้สึกว่ามันจะดูกว้างเกินไป อีกทั้งหลายคนก็อาจจะไม่สนใจ เพราะเชื่อว่าตัวเองเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว (ทั้งที่ความจริงอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น)

หนึ่งในคำถามที่มักจะถามกันเข้ามา นั่นก็คือ "ทำไมเวลารู้ตัวว่าโกรธแล้วความโกรธไม่หาย?"

คนที่ถามคำถามลักษณะนี้ แน่นอนว่า ต้องเป็นคนที่เอาการเจริญสติมาใช้ผิดวิธี คือปฏิบัติผิดแน่ๆ เหมือนที่ผมยกตัวอย่าง ซื้อเครืองบินเจ็ทเอาไว้ไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ

เช่น สมมุติว่าเราทำงานกับเจ้านายที่ไม่ดี หรือมีเพื่อนร่วมงานที่ทำแต่สิ่งที่ผิดพลาด แต่เราจำเป็นต้องร่วมงานกันต่อไป และต้องเจอกันทุกวัน หรือคนในครอบครัวเราทำให้เราโกรธ ทำให้เราเป็นทุกข์ในหลายๆ เรื่อง หรือคนในครอบครัวเราถูกทำร้าย ถูกหลอก ถูกโกงเงิน ฯลฯ

เวลาที่เราโกรธหรือเป็นทุกข์จากการกระทำอะไรก็ตาม หรือเรื่องใดก็ตาม สิ่งแรกที่เราควรนำมาใช้ คือ "กฏแห่งกรรม" และไม่ใช่แค่เป็นสิ่งแรกเท่านั้น ต้องจบที่สิ่งนี้ด้วย หมายความว่า ความโกรธหรือความทุกข์ต้องจบที่เรื่องกฏแห่งกรรมนี้

จริงอยู่ว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้นทันทีคงเป็นไปไม่ได้ ต้องค่อยๆ คิดถึงเรื่องนี้บ่อยๆ (หมายถึงกฏแห่งกรรม) พร้อมกับเจริญมรรคข้ออื่นๆ พร้อมกันไปด้วย เช่น คิดดี (สัมมาสังกัปปะ) พูดดี (สัมมาวาจา) ทำดี (สัมมากัมมันตะ) หรือการรักษาศีล 5 นั่นเอง และหมั่นฟังธรรมเป็นระยะๆ

เรื่องการเจริญสติเอาไว้ทีหลัง ให้มรรค 6 องค์แรกเจริญขึ้นก่อน หรือจะทำไปด้วยก็ได้ แต่ไม่ใช่เพื่อดับความทุกข์ โดยเฉพาะความทุกข์ที่ยกตัวอย่างข้างต้น

ถามว่า เหตุผลเพราะอะไร? เพราะหัวใจสำคัญของการเจริญสติปัฏฐานสี่ ไม่ใช่แค่รู้เฉยๆ แต่ต้อง "ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย" หรือภาษาบาลีคือ "กำจัดอภิชฌาและโทมนัส" ซึ่งนี่คือหัวใจสำคัญ

ถ้าเราเจริญสติฯ ตอนที่เราโกรธ โดยหวังจะให้ความโกรธมันหายไป แสดงว่าเราเกิดความยินร้ายกับสิ่งนั้น อยากให้มันหายไป เท่ากับว่า เอาการเจริญวิปัสสนามาใช้เป็นสมถะ เสียของเปล่าๆ

จริงอยู่ ถึงแม้ว่าเราจะเข้าใจและยอมรับเรื่องกฏแห่งกรรม แต่ด้วยความที่จิตมันไม่ใช่เรา เวลาที่เราต้องเจอกับคนที่สร้างความทุกข์ให้เรา หากตอนนั้นเราขาดสติ ความโกรธมันก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเรารู้ตัวแล้วว่าโกรธ ความเข้าใจเรื่องกฏแห่งกรรมมันจะทำหน้าที่ของมันตามปกติ โอกาสที่จะปรุงแต่งต่อก็ไม่มี แต่เราก็จะได้เห็นจิตที่มันทำหน้าที่ของมัน (คือโกรธ) โดยที่ไม่ไปยินร้ายไปกับมัน แค่ดูมันเฉยๆ ซึ่งนั่นคือการเจริญปัญญา

ก็คงไม่มีอะไรมากกว่านี้ หวังว่าจะเข้าใจประเด็นที่ผมต้องการจะสื่อ แต่ที่สำคัญไปกว่านี้ก็คือ ต้องฟังเทศน์จากครูบาอาจารย์ ที่จริงผมไม่เคยได้ยินครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ตามที่ผมอธิบายลักษณะนี้ แต่ท่านอาจจะเทศน์อยู่แล้วก็ได้ เพียงแต่ผมรู้แล้วเป็นเรื่องปกติ เลยฟังผ่านไป ฟังเป็นเรื่องธรรมดาไป ถ้าไม่เคยสนใจประเด็นนี้มาก่อนก็อาจจะได้ฟังครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ในลักษณะประมาณนี้

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องฟังธรรมบ่อยๆ อีกทั้งการฟังแต่ละครั้งความเข้าใจก็จะเปลี่ยนไป

อ้อ...สำหรับหลักของกฏแห่งกรรมที่ผมใช้เป็นประจำ ก็คือตามรูปด้านล่างนี้

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่