ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ "อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล" สายพันธุ์ใหม่ของโลก ที่ประเทศไทย

ทธ. แถลงค้นพบซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก
วันที่ 18 ตุลาคม 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ร่วมกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทือบิงเกน ประเทศเยอรมนี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าวผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ของอัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก “อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis) หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล” โดยมีนายนพดล พลเสน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมด้วยนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ โฆษกประจำ ทส. นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ในฐานะโฆษกกรม นายปรีชา สายทอง ผู้อำนวยการกองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ซากดึกดำบรรพ์นี้ ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2548 โดยผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา แจ้งกรมทรัพยากรธรณีขอให้เข้าตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ ที่เก็บรักษาไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา พบเป็นกะโหลกสัตว์โบราณ 1 ชิ้น กรามสัตว์โบราณ 2 ชิ้น และกระดูกสัตว์โบราณ 5 ชิ้น จากนั้นได้ลงพื้นที่บ้านเจ้าของที่ดิน นายสมพร โนกลาง บ้านสี่เหลี่ยม ตำบลใหม่ อำเภอโนนสูง พบชิ้นส่วนโดยมากเป็นเศษกระดูกแตกหักจนไม่สามารถศึกษาได้ จากการตรวจสอบชิ้นส่วนกะโหลกอัลลิเกเตอร์ที่พบมีสภาพเกือบสมบูรณ์ในชั้นตะกอนทรายลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 2 เมตรคาดว่า มีอายุในช่วงไม่เกินสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง หรือประมาณ 230,000 ปีก่อน หรืออาจมีอายุอ่อนกว่านั้น พบว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก ถูกศึกษาและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Scientific Reports โดยผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกจากประเทศไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis) หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล โดยตั้งชื่อตามแหล่งค้นพบใกล้กับแม่น้ำมูล

ขอบคุณข้อมูล จากเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรธรณี

หน้าตามันจะเป็นอย่างไรครับ ใครรู้บ้าง 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่