[CR] รีวิว...เส้นทางราชมรรคาสู่ดินแดนบุรีรัมย์


          สวัสดีครับชาวพันทิป...การเดินทางของเราตามเส้นทางราชมรรคามาถึงจังหวัดบุรีรัมย์...ถึงการเดินทางจะไม่ได้ตามเส้นทางราชมรรคาดั้งเดิมเป๊ะๆก็ตาม เพราะเส้นทางเดิมนั้นก็เปลี่ยนสภาพหรือสูญหายไปตามกาลเวลา หากอ้างอิงตามบทประพันธ์ La Voir Royale ของ Andre Malraux (อ็องเดร มาลโรซ์) ระหว่างเส้นทางราชมรรคาซึ่งผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ จะมีปราสาทที่ก่อสร้างไว้หลายแห่ง เช่น ปราสาททมอ ปราสาทบ้านบุ ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทโคกปราสาท ปราสาทหนองปล่อง ปราสาทหนองตาเปล่ง ปราสาทบ้านสำโรง

          ซึ่งจากการค้นหาก่อนการเดินทางพบว่าปราสาทหลายแห่งอย่าง ปราสาททมอ ปราสาทโคกปราสาท ปราสาทหนองตาเปล่ง เหลือแต่ซากปราสาทที่ยากจะดูออกว่าเคยเป็นอะไรมาก่อน การเดินทางคราวนี้จึงข้ามปราสาทเหล่านี้ไป ทำให้ปราสาทขอมในจังหวัดบุรีรัมย์ที่ผมไปในทริปนี้เลยอาจจะน้อยกว่าจังหวัดก่อนหน้าอย่างศรีสะเกษหรือสุรินทร์...แต่เรื่องราวและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไม่น้อยกว่ากันแน่นอน


           แน่นอนว่าเป้าหมายแรกคงไม่พ้นอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ประมาณ 70 กม. ขับรถประมาณชั่วโมงเดียวก็ถึง ที่อุทยานมีจุดจอดรถ 2 จุดใหญ่ๆ สำหรับใครที่อยากเดินจากชั้นล่างขึ้นข้างบนก็จอดที่ลานจอดรถข้างล่างแล้วค่อยๆเดินขึ้นมายังตัวปราสาทได้ ระยะทางจากที่จอดรถถึงปราสาทด้านบนประมาณ 500 เมตร ส่วนถ้าอยากชมปราสาทโดยไม่ต้องเดินมากนักก็มาจอดที่จอดรถชั้นบน ลงจากรถก็แทบจะถึงตัวปราสาทแล้ว


          จอดรถ เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยแล้วก็เริ่มเดินกันเลย...ก่อนจะก้าวเท้าก้าวแรกเงยหน้าไปเห็นบันได แล้วหน้ามันจะมืดยังไงไม่รู้...เอาน่ะ ก้มหน้าก้มตาแล้วเดินไป


          เดินขึ้นมาได้พักเดียวก็เห็นปราสาทใหญ่อยู่ปลายทาง เอ้า...ไม่ไกลเท่าไหร่ แต่เอ๊ะ แล้วบันไดถี่ยิบนั่นคืออะไร เข่าลั่นแน่งานนี้...ขอพักตรงนี้แป๊ะนึงนั่งศึกษาประวัติศาสตร์ของที่นี่กันสักพักหนึ่งค่อยเดินกันต่อ ข้อมูลที่จะเขียนต่อไปนี้หลายส่วนมาจากรายการ ประวัติศาสตร์นอกตำรา EP.107 ตอนปราสาทพนมรุ้งที่เราไม่เคยรู้ ซึ่งเป็นรายการที่ผมชอบมากๆ คนที่ชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์ต่างๆติดตามรายการนี้ได้เลย

          สิ่งที่ผมสงสัยคือทำไมปราสาทพนมรุ้งถึงได้ใหญ่โตนัก ถ้าเทียบกับปราสาทที่ไปมาก่อนหน้านี้ ปราสาทพนมรุ้งดูจะใหญ่โตและสำคัญกว่ามากเลย...เอาล่ะ ไปศึกษาประวัติศาสตร์กันหน่อย ปราสาทพนมรุ้งเป็นเทวสถานที่ตั้งอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟเก่า จากหลักศิลาจารึกที่พบมีจารึกคำว่า “วนัมรุง” วนัม หรือ พนม แปลว่า “ภูเขา” ส่วน รุง สันนิษฐานว่าแปลว่า “กว้าง หรือ ใหญ่” 

          ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยที่ประทับของพระศิวะ โดยการสร้างปราสาทพนมรุ้งไว้บนยอดเขาเพื่อจำลองที่ประทับของพระศิวะบนเขาไกรลาส ปราสาทพนมรุ้งไม่ได้สร้างเสร็จในคราวเดียวแต่เป็นการสร้างเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ โดยสร้างขึ้นครั้งแรกราวพุทธศตวรรษที่ 15 โดยสร้างปราสาทอิฐ 2 หลังแต่ปัจจุบันพังทลายเหลือแต่ฐาน ปราสาทประธานสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17  

             กษัตริย์ที่เกี่ยวมีบทบาทในการสร้างปราสาทพนมรุ้งพระองค์แรกคือ พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 ซึ่งพระองค์ทรงสร้างศาสนสถานหลายแห่งถวายแด่เทพเจ้าในศาสนาฮินดู ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 ได้ถวายที่ดินให้แก่เทวสถาน ทำให้พื้นที่ของปราสาทพนมรุ้งขยายออกไปเป็นรัศมีหลายกิโลเมตร...เดี๋ยวมาเล่าต่อ ไปดูปราสาทกันก่อนครับ


          หากเดินขึ้นปราสาทจากที่จอดรถด้านล่าง จะพบพลับพลาเปลื้องเครื่องอยู่ด้านขวามือ ไม่ถึงกับแอบในป่าแต่เท่าที่ดูก็แทบไม่มีใครสนใจเพราะปราสาทใหญ่ตรงหน้าดึงความสนใจไปหมด 

          พลับพลาเปลื้องเครื่องเป็นที่พักและเปลี่ยนเครื่องแต่งกายของพระมหากษัตริย์ก่อนเสด็จเข้าสักการะเทพเจ้าหรือก่อนประกอบพิธีกรรมในศาสนสถาน


          จากหลักฐานทางสถาปัตยกรรมพบว่าพลับพลาเปลื้องเครื่องนี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 ศิลปะแบบ “บายน” ซึ่งใช้ศิลาแลงเป็นส่วนประกอบหลักในการสร้าง แต่ “เศียรนาคหินทราย” ตรงกรอบหน้าบัน เป็นศิลปะแบบ “เกลียง” หรือ “เคลียง” หรือ “คลัง” ที่มีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16


          ทางเดินสู่ปราสาทหลักยาว 160 เมตร กว้างประมาณ 9 เมตรปูด้วยศิลาแลงเรียกว่า “ทางดำเนิน” 2 ฝั่งของทางดำเนินมีเสาหินทรายยอดทรงดอกบัวตูมจำนวน 68 ต้น เรียกว่า “เสานางเรียง” ซึ่งเป็นตัวกำหนดอาณาเขตทางเดินของพระมหากษัตริย์และเป็นเครื่องประดับในขณะเดียวกัน


          เดินมาจนสุด “ทางดำเนิน” ก็พบกับสะพานนาฎราช...เดี๋ยว นั่นมันรางวัล...สะพานนาคราช ซึ่งเป็นจุดเชื่อมไปยังบันไดขึ้นปราสาท สะพานนาคราชเป็นผังรูปกากบาทแผ่ออกไปทั้ง 4 ทิศ ลักษณะศิลปะแบบ “นครวัด” ซึ่งอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 17


           ตรงกลางของกากบาท มีภาพสลักเป็นรูปดอกบัวแปดกลีบ ซึ่งไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนว่าความหมายของดอกบัวแปดกลีบนี้คืออะไร แต่จากการสันนิษฐานคาดว่าอาจหมายถึงเทพประจำทิศทั้งแปดในศาสนาฮินดู หรืออาจจะหมายถึงทิศทั้ง 8 แสดงให้เห็นว่าตรงนี้เป็นศูนย์กลางจักรวาล...ส่วนเหรียญที่อยู่ตรงดอกบัวไม่เกี่ยวอะไรและไม่รู้ว่าจะโยนเหรียญลงไปกันทำไม...เดินมาถึงตรงนี้ก็เกือบจะถึงตัวปราสาทประธานแล้วล่ะครับ เหลือบันไดอีกแค่ 52 ขั้นเท่านั้น(มีลิฟท์มั้ย) ก็ถึงปราสาทประธานแล้ว


          ขึ้นมาถึงด้านบนตรงทางเข้าปราสาทมีสะพานนาคราชอีกแห่งหนึ่งแต่จะเล็กกว่าสะพานด้านล่าง มีระเบียงคดก่อเป็นห้องยาวต่อเนื่องล้อมรอบปราสาท ดูจากภายนอกน่าจะเดินได้รอบแต่จริงๆแล้วไม่สามารถเดินทะลุกันได้เพราะมีผนังกั้นเป็นช่วงๆ


          ซุ้มประตูทางทิศตะวันออกมีภาพสลักหน้าบันเป็นรูป พระศิวะในภาคของมหาโยคี ถือประคำในพระหัตถ์ขวา ประทับนั่งห้อยพระบาทข้างหนึ่งแวดล้อมด้วยบริวาร เรียกว่า “โยคะทักษิณามูรติ” ส่วนทับหลังด้านล่างเป็นภาพสลักเทพที่คาดว่าเป็นพระอินทร์ซึ่งเป็นเทพประจำทิศตะวันออก จุดนี้น่าจะเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าการสร้างปราสาทพนมรุ้งนี้สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ


          ปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน ด้านหน้าอยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนประกอบต่างๆเช่นเสากรอบประตู ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มต่างๆก่อด้วยหินทรายสีชมพู มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมกว้าง 8.20 เมตร และสูง 27 เมตร

          จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อว่าปราสาทประธานนี้สร้างโดย “นเรนทราทิตย์” ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 นเรนทราทิตย์ได้เข้าร่วมกับกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในการรบรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น นเรนทราทิตย์ได้รับความดีความชอบและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองเมืองซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของราชวงศ์มหิธรปุระ


          หน้าบันทิศตะวันออกของปราสาทประธานมีทับหลังที่มีชื่อเสียงที่สุดชิ้นหนึ่งในประเทศไทยคือ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” โดยพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวาเหนือพระยาอนันตนาคราชทอดตัวอยู่เหนือมังกรอีกทีหนึ่ง พระนารายณ์ทรงถือ คฑา สังข์ และจักรไว้ในพระหัตถ์หน้าซ้าย พระหัตถ์หลังซ้ายและพระหัตถ์หลังขวาตามลำดับ...เชื่อว่าหากไม่มีเหตุร้ายอะไรพระนารายณ์จะบรรทมอยู่อย่างนี้ แต่หากมีเรื่องร้ายพระนารายณ์จะตื่นไปปราบ

          ที่จริง “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” ไม่ได้มีที่ปราสาทพนมรุ้งที่เดียว แต่ที่ “ทับหลัง” ชิ้นนี้มีชื่อเสียงเพราะเกิดการทวงคืนทับหลังชิ้นนี้จนเป็นเรื่องระดับชาติ

          พ.ศ. 2478 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทเขาพนมรุ้งเป็นสมบัติวัฒนธรรมของชาติ พ.ศ. 2503 เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรจำนวนหนึ่งไปสำรวจและทำแผนผังเพื่อการศึกษาและบูรณะ และได้บันทึกการค้นพบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ไว้ พ.ศ.2504 เป็นช่วงสงครามเวียดนามและคาดว่าการโจรกรรมทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เป็นฝีมือของชาวต่างชาติแต่งตัวในเครื่องแบบคล้ายทหารสหรัฐร่วมกับผู้มีอำนาจของไทย

          พ.ศ. 2508 กรมศิลปากรพบชิ้นส่วนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ส่วนหนึ่งที่ร้านขายของเก่าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯและยึดคืน แต่ไม่ทราบว่าส่วนที่เหลืออยู่ที่ไหน พ.ศ. 2516 ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ไปพบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จัดแสดงอยู่ที่ The Art Institute of Chicago

         พ.ศ. 2519 กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งว่าทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่ในความครอบครองของมูลนิธิ Alsdorf Foundation และเรื่องก็เงียบหายไปจน พ.ศ. 2530 คณะกรรมาธิการวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ทวงคืนทับหลังกลับไทยอีกครั้ง

         กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 หนังสือพิมพ์ในเมืองไทยตีพิมพ์จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ประชาชนชาวอเมริกันกดดันให้สถาบันศิลปะแห่งชิคาโกคืนทับหลังให้ไทย สำนักข่าวต่างประเทศตีพิมพ์แถลงการของสถาบันศิลปะแห่งชิคาโกตอนหนึ่งระบุว่าพร้อมจะคืนทับหลังให้ไทยแต่ต้องแลกกับวัตถุโบราณที่อยู่ในสมัยเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าทัวร์ลงยับ (ถ้าสมัยนั้นมีโซเชียลมีเดีย น่าจะขึ้นเทรนด์อันดับ 1 อย่างไม่ต้องสงสัย) พฤษภาคม พ.ศ. 2531 คนไทยในสหรัฐประมาณ 500 คนประท้วงหน้าสถาบันศิลปะ ชาวอเมริกันบางส่วนมาร่วมวงด้วย

          สิงหาคม พ.ศ. 2531 ผู้อำนวยการสถาบันศิลปะแห่งชิคาโกประกาศว่าการคืนทับหลังจะทำให้ประเทศอื่นๆเลียนแบบและสุดท้ายจะเหลือของแสดงแค่ไม่กี่ชิ้น...อันนี้ไม่มีรายงานว่าทัวร์ลงด้วยหรือเปล่า 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 คาราบาว วางแผงอัลบัมลำดับที่ 9 ชื่อ “ทับหลัง” ปกเป็นรูปเทพีเสรีภาพถือทับหลังแทนแผ่นจารึกคำประกาศอิสระภาพของสหรัฐ เนื้อเพลง

         สรุปเหตุการณ์ได้ค่อนข้างดีเลย ลองไปฟังกันดูครับ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ กลับมาถึงเมืองไทยหลังจากถูกโจรกรรมไปกว่า 30 ปี แน่นอนว่าการทวงคืนครั้งนั้นไม่ฟรีแต่จบลงตรงที่ไทยตกลงจะจัดหาวัตถุโบราณที่มี มูลค่าเท่ากับทับหลังไปแลก ซึ่งมูลค่าที่ตีไว้ประมาณ 50 ล้านบาท
ชื่อสินค้า:   จังหวัดบุรีรัมย์
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่