เคย ‘บ้านหมุน’ ไหม ? อาจเกิดจาก โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

เคย ‘บ้านหมุน’ ไหม ? อาจเกิดจาก  โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

                     อาการวิงเวียนศีรษะ สิ่งของรอบตัวหมุนเคว้ง รู้สึกโคลงเคลงแม้ยืนนิ่งอยู่กับที่ อาการเหล่านี้คนทั่วไปมักเรียกว่า ‘บ้านหมุน’ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยหนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยนั้น เกิดจากโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนคืออะไร?
โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV) เกิดจากตะกอนหินปูนภายในอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน เคลื่อนที่หลุดออกจากอวัยวะควบคุมการทรงตัว ทำให้เกิดการส่งสัญญาณไปยังระบบประสาทส่วนกลาง ที่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนขึ้นมา

อาการบ้านหมุน จากโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน
▶ มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเมื่อเปลี่ยนท่าทางศีรษะ
▶ มีอาการเวียนศีรษะทันทีทันใด เมื่อล้มตัวลงนอน พลิกตะแคงขวา หรือก้มเงยหน้า
▶ บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
▶ อาการเวียนศีรษะมักเกิดไม่นาน ราว 1 นาที แล้วทุเลาลง
▶ อาการอาจกลับมาได้อีก เมื่อขยับศีรษะในท่าเดิมซ้ำ แต่จะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก
▶ อาการเวียนศีรษะมักเป็นอยู่หลายวัน แล้วจะดีขึ้นในเวลาสัปดาห์ถึงเดือน

บ้านหมุน เกิดกับใครได้บ้าง
อาการบ้านหมุน หรือ โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน พบได้ในคนอายุ 30-70 ปี ส่วนมากมักเกิดกับผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อัตราส่วนประมาณ 2:1 โดยโรคสามารถได้เกิดกับหูทั้ง 2 ข้าง แต่โดยทั่วไปมักเกิดกับหูเพียงข้างเดียว

สาเหตุของโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน
สาเหตุที่ทำให้หินปูนในหูชั้นในเคลื่อน ได้แก่ การเกิดอุบัติเหตุ การกระแทกบริเวณศีรษะ ความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น มีภาวะอักเสบในหูชั้นใน มีการผ่าตัดหูชั้นกลางหรือใน มีการเคลื่อนไหวศีรษะซ้ำ ๆ เช่น การทำงานที่ต้องก้ม ๆ เงย ๆ

การตรวจวินิจฉัย และแนวทางรักษาอาการบ้านหมุน
แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทดสอบ Dix-Hallpike Maneuver โดยจะให้ผู้ป่วยล้มตัวลงนอนหงายอย่างรวดเร็ว ในท่าศีรษะตะแคง และห้อยศีรษะเล็กน้อย หากพบการกระตุกของลูกตา ร่วมกับอาการเวียนศีรษะ จะเป็นลักษณะที่บ่งชี้ของโรคนี้ ซึ่งหากพบว่า เกิดจากโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน จะมีแนวทางการรักษาดังนี้

▶ รักษาตามอาการ ให้ยาบรรเทาการเวียนศีรษะ และแนะนำให้หลีกเลี่ยงท่าทาง หรือกิจกรรมที่กระตุ้นให้เวียนศีรษะ
▶ ทำกายภาพบำบัด เน้นฝึกการเคลื่อนไหวศีรษะและลำคอ เพื่อให้ตะกอนหินปูนเคลื่อนกลับเข้าไปภายในอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นในตามเดิม
▶ การผ่าตัด ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดไม่ได้ผล

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการบ้านหมุนมากขึ้น เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ศูนย์หูคอจมูก
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่