เปิดธรรมที่ถูกปิดโดยพุทธวจนะ : ประเด็น "บัว 3 เหล่า บัว 4 เหล่าที่วัดนาป่าพงสอนผิด"

บัวสามเหล่า บัวสี่เหล่า ที่วัดนาป่าพงสอนผิด



ก่อนจะถึงประเด็นว่า พระไตรปิฎกแสดงเรื่องเหล่าบัวไว้อย่างไร ดิฉันอยากให้ทุกท่านชมคลิปนี้ เป็นคลิปที่สะท้อนความเข้าใจผิดของศิษย์วัดนาฯ ทั้งประเทศ ประชาชนชาวพุทธทั้งประเทศถูกคึกฤทธิ์สอนผิด โดยสอนว่า บัวสามเหล่าคือ "ลำดับการบรรลุธรรม"


ศิษย์วัดนาฯ จึงพยายามหาว่าตัวเองตอนนี้เหล่าไหนแล้ว ใครเข้ามาใหม่ก็เข้าใจว่าตนเองสุตะน้อย ยังเป็นบัวใต้น้ำอยู่ พอเริ่มค้นหาพระสูตรเป็น ก๊อปแปะได้ ก็คิดว่าตนขยับมาเป็นบัวปริ่มน้ำ พอทีองปฏิจสมุปบาทได้หน่อย ก็เข้าใจว่าตนโสดาบันแล้ว


บางคนเป็นหนักเข้าใจว่าตนรู้ถ้วนทั่วในปฏิจสมุปบาท เป็น "เอกพีชี" เกิดอีกชาติเดียวก็มี ชมคลิปค่ะ

ดูความคิดและความเข้าใจของเขาได้จากคลิป


คำอธิบายที่ถูกต้องตามพุทธวจนะของจริงในเรื่อง "บัวสามเหล่า"


บัวสามเหล่าตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้น พระพุทธเจ้าทรงหมายถึงความยากง่ายในการสอนให้บรรลุธรรม 

ในพระไตรปิฎกจะมีข้อความให้สังเกตคือ

ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ฉันนั้นได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มีมีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี  "จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี"


แต่วัดนาป่าพงนำไปสอนโดยอธิบายความหมายผิด หรือทำให้คนเข้าใจผิดว่า บัวสามเหล่าคือการพัฒนาทางปัญญาของคนที่จะบรรลุธรรม ส่วนมากผู้ฟังธรรมจากวัดนี้จึงพากันพิจารณาว่าตนตอนนี้เป็นบัวเหล่าไหน แล้วพากันคิดว่า ฉันเพิ่งมาศึกษาฉันเป็นเหล่าที่ ๓ ต่อมาฟังมากๆ เข้า ตัวเองก็คิดว่าตนพัฒนาเป็นเหล่าที่ ๒ และพัฒนาต่อไปจนเป็นเหล่าที่ ๑

บางคนท่องปฏิจสมุปบาทได้ก็เข้าใจว่าตนบรรลุธรรมแล้ว

สรุป   บัวสามเหล่า ทรงอุปมาถึงสอนยากสอนง่าย มิใช่อุปมาพัฒนาการหรือลำดับการบรรลุธรรม

ส่วนบัวสี่เหล่า พระอรรถกถาจารย์ทรงอุปมาโดยนำบัวทั้งสามเหล่ามาเข้าด้วยบุคคลสี่จำพวก  เพราะในเรื่องบุคคลสี่จำพวกนี้ มีพระพุทธวจนะอธิบายไว้แล้วว่ามีลักษณะใดบ้าง   โดยบุคคลสามจำพวกแรกเป็นผู้ที่จะบรรลุธรรมได้ในชาตินี้ (คำว่าในชาตินี้หมายถึงชาติที่พระพุทธองค์อุบัติและตรัสรู้พร้อมจะสั่งสอนโปรดเวไนยสัตว์)  

ส่วนบุคคลอีกจำพวกหนึ่ง ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ในชาติที่พระองค์ทรงเผยแผ่พระธรรมวินัย แต่จะฟังธรรมและเป็นวาสนาต่อไปในชาติอื่นข้างหน้า  บุคคลประเภทที่ ๔ นี้เรียกว่า ปทปรมะ แปลว่า ผู้มีบทยิ่ง  คือ ทรงจำไว้มาก สอนผู้อื่นก็มาก แต่ไม่อาจบรรลุธรรมได้  บัวสี่เหล่าจึงแสดงในมุมของผู้ฟังธรรมที่จะบรรลุธรรมได้ยากหรือง่าย ย้ำนะคะ บัวสี่เหล่าหรือคนสี่จำพวกแสดงในมุมของผู้ฟังว่าจะบรรลุธรรมได้ยากหรือง่าย

สำหรับคนที่ยังพร่องๆ อยู่อย่างเรา ทรงจำยังไม่ได้ สอนใครยังไม่ได้ ยังไม่จัดเข้าแม้เป็นปทปรมะเลยด้วยซ้ำ จะกล่าวไปใยถึงสามเหล่าเล่า

พิจารณาพุทธวจนะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ

อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมแต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง ๑

วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น ๑

เนยยะผู้พอแนะนำได้ ๑

ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

พุทธพจน์ในพระสูตรนั้น มีคำขยายความตามพุทธดำรัสอยู่ในพระอภิธรรม ซึ่งคึกฤทธิ์ปฏิเสธอีกว่าไม่ใช่พุทธวจนะ  ขอให้สังเกตว่า บุคคลสามจำพวกแรกจะทรงตรัสถึง “การบรรลุมรรคผล” ง่ายหรือยาก

บุคคลผู้อุคฆติตัญญู เป็นไฉน  การบรรลุมรรคผล ย่อมมีแก่บุคคลใด พร้อมกับเวลาที่ท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง  บุคคลนี้เรียกว่า บุคคลผู้อุคฆติตัญญู

บุคคลผู้วิปัญจิตัญญู  เป็นไฉน  การบรรลุมรรคผล ย่อมมีแก่บุคคลใด ในเมื่อท่านจำแนกเนื้อความแห่งภาษิตโดยย่อให้พิสดาร บุคคลนี้เรียกว่า บุคคลผู้วิปัญจิตัญญู

บุคคลผู้เนยยะ เป็นไฉน  การบรรลุมรรคผลเป็นชั้นๆ ไป ย่อมมีแก่บุคคลใด โดยเหตุอย่างนี้  คือโดยอุทเทส โดยไต่ถาม โดยทำไว้ในใจโดยแยบคาย โดยสมาคม  โดยคบหา โดยสนิทสนมกับกัลยาณมิตร บุคคลนี้เรียกว่า บุคคลผู้เนยยะ

บุคคลผู้ปทปรมะ เป็นไฉน  บุคคลใดฟังพุทธพจน์ก็มาก กล่าวก็มาก จำทรงไว้ก็มาก บอกสอนก็มาก แต่ไม่มีการบรรลุมรรคผลในชาตินั้น บุคคลนี้เรียกว่า บุคคลผู้ปทปรมะ

อนึ่ง บุคคลที่เป็นตัวอย่างสำหรับบัวเหล่าที่ ๑ หรือบุคคลผู้อุคฆติตัญญู ได้แก่พระพาหิยะ สาวกผู้เลิศในด้านการตรัสรู้เร็ว

ดังนั้น

    ๑ .     บัวสี่เหล่าหรือคนสี่จำพวก แสดงถึงการบรรลุธรรมของผู้ฟัง ว่ายากหรือง่าย

    ๒.     บัวสามเหล่าแสดงในมุมของผู้สอน (พระพุทธเจ้า) ว่าจะสอนให้เขาบรรลุธรรมได้ยากหรือง่าย

บัวสามเหล่าและสี่เหล่าจึงเป็นภาพสะท้อนคนละมุมกัน  อุปมาเหมือนคนเดียวยืนส่องกระจกสองบาน บานหนึ่งส่องด้านซ้าย อีกบานหนึ่งส่องด้านขวานั่นเอง

แหล่งข้อมูล : http://watnaprapong.blogspot.com/2015/11/blog-post.html?m=1
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่