ประวัติศาสตร์ไทยเคยมีข้าราชการไทย"ตายเพราะทัดทาน"บ้างหรือเปล่า

รู้สึกว่าในประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยได้ยินนะครับ  ข้าราชการประเภทตงฉิน  เป็นตัวแทนชนชั้นล่าง  แล้วกล้าขัดใจ  กล้าทัดทาน  หรือกล้าตำหนิติเตียนตามตรงเมื่อฮ่องเต้ทำผิดเทียบกับในหนังจีน  ของไทยเคยมีตัวอย่างบ้างหรือเปล่า เช่น ขุนนางยกกระบัตรเมืองนั้นเมืองนี้โดนประหารเพราะถวายฎีกาแทนราษฎร

ที่ใกล้เคียงอาจจะเช่นเจ้าพระยาโกษาเหล็กที่คัดค้านพระนารายณ์สร้างป้อมปราการจนต้องพระราชอาญา  แต่นั่นเจ้าพระยาโกษาเหล็กก็ไปรับเงินชาวบ้านเป็นค่าน้ำร้อนน้ำชาก่อนมาทัดทาน   หรือพระพนรัตน์ป่าแก้วที่ทูลขอชีวิตแม่ทัพนายกองกันพระนเรศวรซึ่งก็ไม่รู้ว่านี่เป็นเรื่องจริงตามหลักฐานหรือเปล่า (ขณะที่พระพนรัตน์ป่าแก้วคนก่อนหน้าโดนตัดหัวคาตะแลงแกงเพราะไปให้ฤกษ์ก่อกบฏ)  แต่ยังไงก็เป็นพระไม่ใช่ข้าราชการ

เทียบกับในประวัติศาสตร์จีนซึ่งบัณฑิตได้รับการศึกษาแบบขงจื๊อมีธรรมเนียมตายเพราะทัดทานมานับพันปีแล้ว  โดยเจ้าตัวจะถือเป็นเกียรติประวัติและภาคภูมิใจที่ได้โดนประหารเพราะกล้าพูดความจริงด้วย   บางคนที่โชคดีหน่อยก็อาจเจริญรุ่งเรืองเพราะฮ่องเต้มีปัญญา เช่น เว่ยเจิง  บางคนดวงแคล้วคลาดเพราะฮ่องเต้กลับใจภายหลัง เช่น ไห่รุ่ย  แต่ส่วนใหญ่ก็ทูลทัดทานแล้วได้ตายจริง  แถมตายกันแทบทุกรัชกาลด้วยนับแต่สมัยต้าหมิงเป็นต้นมา   แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งอุดมการณ์ของเหล่าบัณฑิตได้ ยิ่งมีคนสมัครใจตายกันเรื่อยๆ  สถาบันการศึกษา เช่น ตงหลิน ฮั่นหลิน ล้วนแต่ปลูกฝังค่านิยมนี้  จนแม้แต่ฮ่องเต้บางองค์ยังต้องเกรงกลัวไม่กล้าเป็นศัตรูกับเหล่าบัณฑิต

รู้สึกว่าไทยที่ติดต่อกับจีนมานานไม่เคยได้รับธรรมเนียมนี้มาบ้างเลย   มีคนตั้งข้อสังเกตว่าชาวจีนที่มาตั้งรกรากในเมืองไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นพวกไป่เยว่ชาวภาคใต้ที่ไร้การศึกษา  ไม่เหมือนชาวฮั่นในจงหยวน  ดังนั้นจึงไม่เห็นคนตั้งศาลขงจื๊อในเมืองไทยเลย  ขณะที่มีศาลเจ้าอื่นๆร้อยแปดแม้แต่ตัวละครจากนิยายอย่างเห้งเจีย  ชาวจีนในไทยจึงมีแต่ธรรมเนียมพ่อค้าและธรรมเนียมชาวนา  เช่นติดสินบนและประจบนาย  ตายเพราะอุดมการณ์กันไม่เป็น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่