พิษแบนอาหารทะเลญี่ปุ่น 5 พันร้านซูชิในไทยป่วนหนัก

พิษแบนอาหารทะเลญี่ปุ่น 5 พันร้านซูชิในไทยป่วนหนัก
.
ตลาดอาหารทะเลโลกป่วน “จีน-ฮ่องกง” แบนนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น หวั่นสารกัมมันตภาพรังสีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิบำบัดไม่หมดไหลลงทะเลปนเปื้อนอาหาร หลังญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำ 24 ส.ค. 2566 ยืนยันความมั่นใจได้รับการรับรองจาก IAEA ฟาดหางร้านอาหารญี่ปุ่นซูชิ 5.3 พันแห่งในไทย ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากญี่ปุ่น ผู้ผลิตอาหารแปรรูปไทย ลุ้น อย.ถกกรมประมงตกผลึกมาตรการดูแลนำเข้าชัดเจน
.
---------
.
ในวันที่ 25 สิงหาคม 2566 นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เพื่อกำหนดแนวทางดูแลการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น หลังจากหลายประเทศทั่วโลกประกาศยกเลิกนำเข้าสินค้าอาหารทะเลญี่ปุ่น จากความกังวลว่าจะได้รับสารกัมมันตภาพรังสีจากน้ำเสียที่บำบัดแล้วที่ญี่ปุ่นทยอยระบายออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา
.
---------
.
เอกชนตั้งรับ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิลงทะเล ซึ่งเป็นไปตามแผนการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้วนับจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิปี 2011 ซึ่งใช้เวลาบำบัด 12 ปี และจะทยอยปล่อยน้ำเหล่านี้ลงมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นเวลา 30 ปีนับจากนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2566 ประเด็นนี้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลจากคนญี่ปุ่นในประเทศ รวมถึงประเทศใกล้เคียงในการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น แม้ว่าทางการญี่ปุ่นยืนกรานว่า น้ำที่จะปล่อยลงทะเลนั้นปลอดภัย โดยรับการรับรองจากองค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติ แต่ก็ยังไม่สามารถสยบกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องความกังวลต่อการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลในญี่ปุ่น รวมถึงในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้
.
---------
.
หวั่นบำบัดไม่หมด
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามรายงานข่าวระบุว่า ญี่ปุ่นได้ใช้ระบบปั๊มและกรองน้ำขั้นสูงที่เรียกว่า เอแอลพีเอส เพื่อบำบัดน้ำเสียมีระดับกัมมันตรังสีต่ำถึงระดับมาตรฐานที่ยอมรับได้ แต่การบำบัดขั้นสูงนี้ขจัดสารอย่างทริเทียม และคาร์บอน-14 ออกไปไม่ได้หมด สารทริเทียม และคาร์บอน-14 เป็นสารกัมมันตรังสีในรูปแบบของไฮโดรเจนและคาร์บอน ที่คัดแยกออกจากน้ำได้ยากมาก

ซึ่งอันที่จริง สารเหล่านี้มีอยู่ในธรรมชาติ น้ำ และในร่างกายมนุษย์ด้วย เพราะเกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศโลก ก่อนเข้ามาสู่วงจรของน้ำ และเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ แต่หากบริโภคสารทริเทียมเข้าไปมากพออาจเป็นอันตรายได้ ซึ่งน้ำที่ฟุกุชิมะมีแผนจะปล่อย มีทริเทียม 1,500 เบ็กเคอเรลต่อสิตร ส่วนมาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลกสำหรับทริเทียม คือ 10,000 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ดังนั้นตามทฤษฎีแล้ว ถ้าน้ำไม่เต็มไปด้วยเกลือ น้ำบำบัดจากฟุกุชิมะก็สามารถดื่มกินได้
.
---------
.
ต้านอาหารทะเลญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนออกมาต่อต้านแผนการปล่อยน้ำดังกล่าว เช่นเดียวกับนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม อย่าง “กรีนพีซ” ที่เผยแพร่รายงานที่ตั้งข้อสงสัยต่อกระบวนการบำบัดน้ำปนเปื้อนรังสีของเทปโก โดยกล่าวหาว่า เทปโก ดำเนินมาตรการไม่มากเพียงพอเพื่อขจัดสารกัมมันตรังสี โดยแนะนำรัฐบาลญี่ปุ่นควรจะกักเก็บน้ำปนเปื้อนไว้ในแท็งก์น้ำไปก่อน จนกว่าเทคโนโลยีการบำบัดน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีแบบใหม่จะเกิดขึ้น และควรต้องทำการศึกษาถึงผลกระทบต่อพื้นมหาสมุทรและสิ่งมีชีวิตทางทะเลให้มากกว่านี้

ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ ทางรัฐบาลเกาหลีใต้มีท่าทีต่อแผนของญี่ปุ่นว่า เคารพ “ผลการตรวจสอบของไอเออีเอ” อีกทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าหารือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพาผู้เชี่ยวชาญเกาหลีใต้เข้าชมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจุดยืนของรัฐบาลเกาหลีใต้ ทำให้ประชาชนเกาหลีใต้ไม่พอใจ โดยผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า 80% กังวลต่อเรื่องนี้ จนมีประชาชนหลายพันคนประท้วงในกรุงโซลหลายครั้ง เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินมาตรการ และผู้บริโภคเริ่มสะสมอาหารจำพวกเกลือ และอื่นๆ บ้างแล้ว

ต่อมาปลายเดือน มิ.ย. จีนเรียกร้องให้ญี่ปุ่นทำข้อตกลงกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค และสถาบันระหว่างประเทศ ให้เรียบร้อยก่อนจะปล่อยน้ำเสียที่บำบัดแล้วจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ลงทะเล โดยจีนกล่าวหาญี่ปุ่นว่า ละเมิด “ศีลธรรมระหว่างประเทศ และภาระผูกพันทางกฎหมาย” และเตือนว่า หากญี่ปุ่นเดินหน้าแผนการนี้ “จะต้องรับผลของการกระทำ” อย่างไรก็ดี จีนและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงกันมานาน และทวีความรุนแรงขึ้น จากการสั่งสมกำลังทางทหารของญี่ปุ่น และการซ้อมรบใหญ่ของจีนรอบเกาะไต้หวัน

ส่วนฮ่องกงก็มีการคัดค้านแผนปล่อยน้ำของญี่ปุ่นอย่างรุนแรง และจะดำเนินมาตรการควบคุมการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นในทันที เพื่อปกป้องความปลอดภัยของอาหารและสุขภาพของประชาชน ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม รัฐบาลฮ่องกงมีคำสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากหลายจังหวัดของญี่ปุ่น ได้แก่ โตเกียว ฟูกูชิมะ ชิบะ โทชิกิ อิบารากิ กุนมะ มิยางิ นีงาตะ นากาโนะ และไซตามะ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ห้ามนำเข้า คือ อาหารทะเลเป็น ๆ แช่แข็ง ตากแห้ง หรือผ่านกรรมวิธีถนอมอาหารอื่น ๆ รวมถึงเกลือทะเลและสาหร่าย
.
---------
.
ไทยตั้งรับด้วย
“ผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น รัฐบาลไทยซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารทะเลจำนวนมากจากญี่ปุ่น ยังไม่ออกมาแสดงท่าทีชัดเจนต่อเรื่องนี้ แต่ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรก ที่ผ่อนคลายการนำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดฟูกูชิมะของญี่ปุ่น ในปี 2561 เป็นต้นมา ซึ่งสถิติร้านอาหารญี่ปุ่นของไทย ปี 2565 มีร้านอาหารญี่ปุ่นกว่า 5,325 ร้าน ดังนั้น ประเทศไทยยังต้องติดตามสถานการณ์ และหากมีมาตรการย่อมกระทบร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย อาจต้องลองปรับแหล่งวัตถุดิบหรือออกเมนูโดยเพิ่มเนื้อสัตว์อื่น ๆ เข้าไปแทน”

“ส่วนผลต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปนั้น ไทยมีการนำเข้าอาหารจากหลายประเทศรวมถึงจากญี่ปุ่นด้วย แต่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญเรื่องการแปรรูป เมื่อแปรรูปเสร็จแล้ว เราก็ส่งกลับไปขายที่ญี่ปุ่น และด้วยความที่ประเทศไทยนำเข้าวัตถุดิบจากหลายแหล่งหลายประเทศ จึงมีทางออกในตัวเอง คงต้องดูสถานการณ์ว่าจะเข้มข้นมากน้อยเพียงไหน มีประเทศใดออกกฎระเบียบชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราก็มีวิธีทางเลี่ยงโดยการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศอื่นเพื่อส่งไปประเทศนั้นแทน เท่าที่ติดตามขณะนี้คงไม่ใช่ทุกประเทศที่จะมีมาตรการ”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ปี 2565 ไทยนำเข้าอาหารทะเลจากทั่วโลก 3,954 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15% ขณะที่ครึ่งปีแรกปีนี้ไทยนำเข้าจากทั่วโลก 1,841 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8% โดยเป็นการนำเข้าจากญี่ปุ่น สัดส่วนประมาณ 5% มูลค่านำเข้าปี 2565 เท่ากับ 182 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6% และในช่วงครึ่งปีแรก 2566 นำเข้า 91 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 17% ซึ่งรองจากแหล่งนำเข้าหลักคือ นอร์เวย์ อินเดีย ไต้หวัน จีน และเวียดนาม

สำหรับสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น คือ กลุ่มสัตว์น้ำ แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป อาทิ ปลาทูน่าสด แช่เย็น แช่แข็ง ปลาแซลมอน ปลาเทราต์ ปลาค็อด ปลาแมคเคอเรล กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาหมึกสดแช่เย็นและแช่แข็ง และกลุ่มสัตว์น้ำอื่น ๆ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ
สภาผู้บริโภคเรียกร้อง

ด้าน ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค เรียกร้องให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมประมง เร่งออกชี้แจงถึงมาตรการป้องกันและตรวจสอบ พร้อมทั้งแนวทางการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งต้องสุ่มตรวจอาหารทะเลที่หน้าด่านและในท้องตลาดที่นำเข้าจากน่านน้ำต่างประเทศหลังการปล่อยน้ำเสียเพื่อนำมาตรวจวัดกัมมันตภาพรังสี และขอให้แจ้งประชาสัมพันธ์การดำเนินการดังกล่าวให้ผู้บริโภคทราบด้วย เพื่อเป็นการจัดการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และคลายความกังวลของผู้บริโภคกรณีอาหารที่มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี ที่แม้ไม่เกิดอาการทันทีแต่อาจจะส่งผลอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้
การปรับตัวของผู้นำเข้าอาหารทะเล

นางศันสนีย์ แกทเทนบี้ เดวี่ส์ กรรมการบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ธรรมชาติ ซีฟู้ด รีเทล จำกัด หนึ่งในผู้นำเข้าอาหารทะเล ที่ดำเนินการมากว่า 16 ปี กล่าวว่า บริษัทจะรับมือด้วย 2 ขั้นตอน คือ เปลี่ยนแหล่งนำเข้าสินค้า ไปนำเข้าจากแหล่งที่ไม่ได้รับผลกระทบ โดยอาศัยข้อได้เปรียบจากระบบสืบค้นย้อนกลับและการมีซัพพลายเออร์หลายราย ตามด้วยการเพิ่มขั้นตอนทดสอบสินค้าให้สูงกว่าขั้นตอนปกติอีกขั้น
ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าและลูกค้าปลายน้ำว่า อาหารทะเลที่บริษัทนำเข้าปลอดภัยแน่นอน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่