ขอรบกวนเพื่อนๆนักกฎหมายช่วยตีความความหมายในเอกสารพินัยกรรมฝ่ายเมืองหน่อยครับ

เมื่อหลายปีก่อน คนในครอบครัวของผมได้ไปทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองที่เขตเขตหนึ่งในจังหวัดกรุงเทพครับ  ตอนนั้นคุณป้าซึ่งยังแข็งแรงและเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนหนึ่งได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้กับหลาน ซึ่งในตอนนั้น คิดเพียงว่าทำจบแล้วก็ถือว่าจบ ไม่มีอะไรต้องกังวล  เวลาผ่านไปหลายปีจนตอนนี้คุณป้าก็ค่อนข้างชรามากและเดินเหินไม่สะดวกแล้ว   จึงได้นำพินัยกรรมฉบับเดิมที่เคยทำไว้เมื่อหลายปีก่อนออกมานั่งดู (ตามภาพด้านล่างครับ) ซึ่งใจความสำคัญอยู่ ตรงคำว่า “บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่และที่จะเกิดมีขึ้นในภายหน้า ข้าพเจ้าขอยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมนี้ ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้คือ.” 1 ที่ดินแปลงที่ A   2 ที่ดินแปลง B
คำถามในการตีความตรงนี้ครับ
คือถ้าหลายปีก่อนตอนที่ทำพินัยกรรม ผู้ทำพินัยกรรม มีที่ดิน 2 แปลงคือแปลง A และแปลง B  จึงได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ทั้ง2แปลงให้กับผู้รับมรดก   เวลาผ่านไปหนึ่งปี ผู้ทำพินักรรม ขายที่ดินแปลง B ออก คงเหลือแต่ที่ดินแปลง A ดังนั้น ทรัพย์ตามมรดกจึงเหลือแค่ที่ดินแปลง A แปลงเดียว  ผ่านมาอีก 5 ปี ผู้ทำพินัยกรรมซื้อที่ดินเพิ่มอีก 1 แปลง ขอเรียกว่าแปลงที่ C ดังนั้น เท่ากับผู้ทำพินัยกรรม มีที่ดิน 2 แปลงคือแปลงที่  A และแปลงที่ C
คำถามคือที่ดินแปลงที่ C จะอยู่ภายใต้พินัยกรรมนี้หรือไม่ครับ
คือถ้าตีความเฉพาะคำว่าทรัพย์ที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า  ที่ดินแปลงที่ C ก็ควรต้องอยู่ภายใต้พินัยกรรมนี้
แต่ข้อความในพินัยกรรมมีต่อคำว่า “ตามจำนวนทรัพย์สินซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้คือที่ดินแปลง A และที่ดินแปลง B” ซึ่งในขณะนี้ที่ดินแปลง B ไม่อยู่แล้ว จึงจบกันไป แต่แปลง C ซึ่งไม่ได้ถูกระบุในพินัยกรรม จะอยู่ในเงื่อนไขของพินัยกรรมนี้รึเปล่าครับ
 
ที่เรียนถาม เพราะคุณป้าอายุมากแล้ว แกเองก็ตั้งใจยกทรัพย์ทั้ง 2 แปลงให้หลานตามความตั้งใจเดิม แต่ก็กังวลว่าถ้อยคำในพินัยกรรมที่ตีความได้ 2 แง่ 2 ง่ามอย่างนี้ ถ้าแกไม่อยู่แล้ว เดี๋ยวจะต้องเป็นเหตุให้ญาติๆมามีเรื่องให้ฟ้องร้องกันวุ่นวายในภายหลัง แกจึงให้หลานเอาพินัยกรรมมาให้ผมดู (ตามในรูปครับ) 
 ผมจึงให้ความเห็นไปว่า คำว่า”ทรัพย์ทั้งที่มีอยู่และจะเกินขึ้นในภายหน้า” มีความหมายชัดเจน ต่อให้คุณป้าซื้อที่อีกกี่แปลง มันก็ต้องอยู่ภายใต้พินัยกรรมและเป็นของผู้รับมรดกตามพินัยกรรมนี้  แต่ยังไงซะ ผมก็แนะนำให้ไปถามที่หน่วยงานผู้รับทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองเพื่อ cross check อีกที  ฝ่ายหลานผู้รับมรดกจึงถือเอกสารไปที่เขตและสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ฝ่ายปกครองซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้   ปรากฏว่าความเห็นของเจ้าหน้าที่ตรงข้ามกับความเห็นของผมเลยครับ  เค้าบอกว่าทรัพย์ที่จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขมรดกนี้คือที่ดินแปลง A เพราะถูกระบุไว้ในพินัยกรรมชัดเจน  ส่วนที่ดินแปลง C ซึ่งซื้อมาหลังจากทำพินัยกรรมแล้ว ไม่อยู่ในเงื่อนไขมรดก ก็ต้องไปแบ่งกันระหว่างญาติๆคนอื่นๆ  ส่วนคำว่า “ทรัพย์ทั้งที่มีอยู่และจะเกิดขึ้นในภายหน้า” เป็นเพียงวลีมาตรฐานเท่านั้น แต่จะต้องยึดถือรายการทรัพย์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เป็นหลัก
ซึ่งถ้าเป็นอย่างเรื่องคงยิ่งวุ่นวายพิลึกเลยครับ เพราะทรัพย์สินนั้นนอกจากที่ดินแล้วยังมีการลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งคนที่เล่นหุ้นก็จะมีการซื้อเข้าขายออกขึ้นๆลงๆทุกวัน  หลังทำพินัยกรรม ก็ยังคงมีการขายหุ้นออกและซื้อหุ้นเพิ่ม ถ้าอย่างนี้หุ้นที่ซื้อเพิ่มหลังทำพินัยกรรม ย่อมไม่เป็นส่วนหนึ่งของพินัยกรรม ถ้าอย่างนั้น มิต้องไปทำพินัยกรรมกันใหม่ทุกครั้งหลังมีการซื้อขายหุ้นกันเป็นรายวันหรือ??
 
หลังจากที่หลานชายผู้เป็นผู้รับมรดกไปที่เขตมา ก็มาปรึกษากับผม ผมก็แนะนำคุณป้าไปว่า ถ้าอยากสบายใจ ก็ไปทำพินัยกรรมใหม่ แต่ก็ติดที่คุณป้าอายุมากเต็มทีเดินเหินก็ไม่สะดวกแล้ว  ผมจึงลองนำข้อความในพินัยกรรมมาลองปรึกษาสอบถามเพื่อนๆนักกฏหมายดูหน่อยครับ ว่าผมเข้าใจผิดหรือทางเจ้าหน้าที่ที่ให้คำแนะนำเข้าใจผิดกันแน่  แล้วนอกจากการเดินทางไปทำเรื่องที่เขต สามารถขอให้ทางเขตมาที่เรื่องที่บ้านเราได้มั้ยครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่