"ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ"

https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=576&Z=666

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔
มหาวรรค ภาค ๑
 
เรื่องยสกุลบุตร
[๒๕] ก็โดยสมัยนั้นแล ในพระนครพาราณสี มีกุลบุตร ชื่อ ยส เป็นบุตรเศรษฐีสุขุมาลชาติ.

ยสกุลบุตรนั้นมีปราสาท ๓ หลัง คือ หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูหนาว หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูร้อน หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝน. ยสกุลบุตรนั้นรับบำเรอด้วยพวกดนตรี ไม่มีบุรุษเจือปน ในปราสาทฤดูฝนตลอด ๔ เดือน ไม่ลงมาเบื้องล่างปราสาท.

ค่ำวันหนึ่ง เมื่อยสกุลบุตรอิ่มเอิบพร้อมพรั่งบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ได้นอนหลับก่อน ส่วนพวกบริวารชนนอนหลับภายหลัง.

ประทีปน้ำมันตามสว่างอยู่ตลอดคืน. คืนนั้นยสกุลบุตรตื่นขึ้นก่อน ได้เห็นบริวารชนของตนกำลังนอนหลับ บางนางมีพิณตกอยู่ที่รักแร้ บางนางมีตะโพนวางอยู่ข้างคอบางนางมีเปิงมางตกอยู่ที่อก บางนางสยายผม บางนางมีน้ำลายไหล บางนางบ่นละเมอต่างๆปรากฏแก่ยสกุลบุตรดุจป่าช้าผีดิบ.

ครั้นแล้วความเห็นเป็นโทษได้ปรากฏแก่ยสกุลบุตร จิตตั้งอยู่ .ในความเบื่อหน่าย จึงยสกุลบุตรเปล่งอุทานว่า ท่านผู้เจริญ  ที่นี่วุ่นวายหนอ  ที่นี่ขัดข้องหนอ แล้วสวมรองเท้าทองเดินตรงไปยังประตูนิเวศน์ พวกอมนุษย์เปิดประตูให้ด้วยหวังใจว่า  ใครๆอย่าได้ทำอันตรายแก่การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตของยสกุลบุตรเลย.

ลำดับนั้น ยสกุลบุตรเดินตรงไปทางประตูพระนคร.

พวกอมนุษย์เปิดประตูให้ด้วยหวังใจว่า ใครๆ  อย่าได้ทำอันตรายแก่การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตของยสกุลบุตร.

ทีนั้น  ยสกุลบุตรได้เดินตรงไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน.
             

[๒๖] ครั้นปัจจุสสมัยแห่งราตรี พระผู้มีพระภาคตื่นบรรทมแล้วเสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้งได้ทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วเสด็จลงจากที่จงกรมประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้.

ขณะนั้น  ยสกุลบุตรเปล่งอุทานในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคว่า  ท่านผู้เจริญ  ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ.

ทันทีนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะยสกุลบุตรว่า ดูกรยส ที่นี่ไม่วุ่นวายที่นี่ไม่ขัดข้อง  มาเถิดยส  นั่งลง  เราจักแสดงธรรมแก่เธอ.

ที่นั้น ยสกุลบุตรร่าเริงบันเทิงใจว่าได้ยินว่า  ที่นี่ไม่วุ่นวาย  ที่นี่ไม่ขัดข้อง  ดังนี้  แล้วถอดรองเท้าทองเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง   เมื่อยสกุลบุตรนั่งเรียบร้อยแล้วพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา  โทษความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม.

เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ยสกุลบุตรมีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้วจึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์
สมุทัย  นิโรธ  มรรค.

ดวงตาเห็นธรรม  ปราศจากธุลี  ปราศจากมลทิน ว่า  สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา  ได้เกิดแก่ยสกุลบุตร ณ ที่นั่งนั้นแล ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น.

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ดอกไม้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่