[BTS Thread] "ในวันที่เพลงของ BTS บอกให้เราซื่อตรงกับตัวเอง" บทความจากจิตแพทย์เด็ก

ที่มา : เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา



“คุณหมอคะ ... ทำไมเป็นวัยรุ่นมันเหนื่อยจัง” เด็กสาวที่กำลังเรียนชั้นม.ปลายคนหนึ่งพูดประโยคนี้กับหมอ 

“ตอนเด็กๆ เราอยากทำอะไรก็ทำได้ สบายๆ กว่านี้เยอะ แต่พอโตแล้ว รู้สึกว่าเราต้องวางตัวให้โอเค ดูดี เราแคร์สายตาคนอื่นที่มองมา เหมือนมีหน้ากากที่ทำให้ไม่เป็นตัวเอง บางทีมันก็เหนื่อยนะคะ ... ”
หมอตอบเด็กไปว่าอย่างไร จะค่อยๆ เล่าให้ฟังในบทความ

อย่างไรก็ตาม ขอให้เครดิตกับวง BTS , Carl Jung ผู้ที่มีส่วนในคำตอบและบทความนี้ค่ะ
.
การที่เราเป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นนั้น เมื่อเด็กและวัยรุ่นมีความชื่นชอบอะไร การไปลองดูว่าสิ่งที่พวกเขาชอบเป็นอะไร อย่างไรบ้างนั้น จะทำให้เรารู้จัก เข้าใจ และอาจพูดคุยกันได้ดีขึ้น
ในตอนแรกหมอเองก็ไม่รู้จักวง BTS มาก่อน สิ่งที่รู้จักเกี่ยวกับ BTS อย่างเดียวก็คือ รถไฟฟ้า 55
เมื่อได้เห็นเด็กๆ ที่มาตรวจกับหมอหลายคนเป็นแฟนคลับ ทำให้เริ่มรู้สึกว่าอยากไปทำความรู้จัก ในที่สุดความประทับใจแรกของหมอกับ BTS คือตอนที่ RM กล่าว Speech ในที่ประชุมใหญ่ของ UN ในเรื่องเกี่ยวกับ ความรักและมองเห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นคำกล่าวที่เรียบง่าย ชัดเจน และจริงใจดี
เมื่อเริ่มทำความรู้จักเพลงของพวกเขา ความประทับใจก็เพิ่มขึ้น เนื้อหาส่วนใหญ่ของเพลงมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้ชีวิต การเติบโต การก้าวข้ามสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ฯลฯ 


แน่นอน พวกเขาบอกให้คนที่ฟังเพลงมีความรักตัวเอง ตรงนี้ทำให้เด็กๆหลายคนที่มาหาหมอและฟังเพลง BTS มีกำลังใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เด็กที่ถูกกลั่นแกล้ง เด็กที่มีความเครียดกับการเรียน หรือเครียดกับอนาคตข้างหน้าที่ไม่แน่นอน จะเลือกอาชีพ การเรียนอะไรดี เป็นต้น
.
สิ่งที่ดีมากอย่างหนึ่งของ BTS คือ พวกเขาชอบอ่านหนังสือต่างๆ แล้วเอามาแต่งเป็นเพลง เช่น เขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับ Carl Jung แล้วเอามาแต่งเป็นทุกเพลงในอัลบั้ม Map of the Soul อัลบั้มหนึ่งของวง BTS ที่ออกมาเมื่อราวสามปีก่อน
Carl Jung เป็นจิตแพทย์ชาวสวิสที่มีชื่อเสียง เขาได้อธิบายเกี่ยวกับจิตใจ การแสดงออกและบุคลิกภาพของมนุษย์ และคำๆ หนึ่ง ในทฤษฎีของเขา คือคำว่า ‘Persona’ ซึ่งเป็นที่มาเป็นชื่อเพลงแรกในอัลบั้มนี้ของ BTS 
.
Persona เป็นภาษาละตินที่แปลว่า หน้ากาก แบบเดียวกับที่นักแสดงสวมบนเวที เหมือนเราทุกคนที่มีบทบาทในชีวิตแต่ละด้านที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงชีวิตหนึ่ง 


เช่น เรามีหน้ากากบทบาทของความเป็นลูก แต่เมื่อเติบโตเรามีบทบาทของการเป็นนักเรียน เป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่ เป็นสามีภรรยา เป็นพ่อหรือแม่ เป็นเพื่อน เป็นหัวหน้างานหรือลูกน้อง 
คนบางคนที่มีบุคลิกภาพแบบเก็บตัวจากสังคม มี Persona แบบหนึ่งเมื่อเขาอยู่กับคนที่คุ้นเคย ไว้วางใจ แต่เขาก็จะแสดงออกอีกแบบเมื่ออยู่ในสังคมภายนอก 
Persona ก็เป็นเหมือนตัวเชื่อมระหว่างตัวเรากับโลกภายนอก 
.
เราคงไม่สามารถแสดงออกเหมือนกันในทุกบทบาท อย่างเช่น ตัวหมอเอง เวลาที่อยู่กับคนไข้ หมอก็จะแสดงออกในบทบาทวิชาชีพแพทย์ แต่เมื่ออยู่กับเพื่อน จะไปวางตัวเป็นหมอ ก็คงไม่เหมาะ ก็คงต้องวางตัวสบายๆ ไม่มีพิธีรีตองอะไร
มันไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนละคนกัน เราแค่เป็นคนที่ไม่เหมือนกันในแต่ละบทบาท แต่เราก็คือเรานั่นแหละ 
ในวันที่เราเป็นเด็กเราอาจจะมีบทบาทเดียว คือ เด็กที่ใสซื่อบริสุทธิ์ แสดงออกเหมือนกันในทุกสถานการณ์ ตรงไปตรงมา เอาแต่ใจตัวเอง แต่เมื่อเราเติบโตขึ้นถ้าเราแสดงออกเหมือนกันหมด ก็จะกลายเป็นไม่มีกาลเทศะไป ตรงนั้นก็คงไม่ดี
มันอาจจะทำให้เราสับสนและกังวลในการแสดงออกบ้าง บางทีเรารู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง อึดอัด ไม่แน่ใจ ตรงนั้นเป็นเรื่องธรรมดา
หมอคิดว่ามันเป็นขั้นตอนหนึ่งในการเจริญเติบโตและการใช้ชีวิต
อย่างไรก็ตามขอให้เราเข้าใจตัวตน มองเห็นคุณค่าของตัวเองในแบบที่เราเป็นจริงๆ เราจะมีความจริงใจต่อตัวเองในการแสดงออก โดยปรับกับสถานการณ์ นั่นคือการที่เราใช้ชีวิตในสังคมรอบข้างอย่างเหมาะสม 
.
Key Message หนึ่งที่ BTS อยากบอกคนที่ฟังเพลงพวกเขาอยู่ก็คือ
“ในวันที่เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อาจมีบางเวลาที่เราสับสนอึดอัด รู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง เราแสดงออกแตกต่าง ในแต่ละบทบาทสถานการณ์ที่พบเจอ ตรงนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ขอให้เรายอมรับตัวตน รักตัวเอง และซื่อตรงกับตัวเองได้ นั่นก็คือโอเคแล้วล่ะ”


ตรงนี้ใช้ได้ทั้งกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กและผู้ใหญ่ 
และหมอก็บอกกับเด็กไปเช่นนั้นแหละค่ะ 
หมายเหตุ: เนื้อหาบางส่วนในบทความมาจากหนังสือเรื่อง Map of the Soul - Persona: Our Many Faces โดย Murray Stein 
#หมอมินบานเย็น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่