พบกันเร็วๆ นี้ “รถไฟไทยทำตู้แรก” 32 ล้าน ใส่ฟังก์ชั่นห้องโดยสารเครื่องบิน



พบกันเร็วๆ นี้ “รถไฟไทยทำตู้แรก” 32 ล้าน ใส่ฟังก์ชั่นห้องโดยสารเครื่องบิน

เตรียมพบกับ “รถไฟไทยทำตู้แรก” 32 ล้านบาท ต้นแบบ “ไทยเฟิร์ส” เร็วๆ นี้ สร้างเสร็จแล้ว ใส่ฟังก์ชั่นห้องโดยสารเครื่องบิน ผลิตเองประหยัดเงิน ถูกกว่านำเข้า 30% เตรียมทดสอบให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย ก่อนเปิดให้บริการประชาชนปลายปีนี้

เปิดวาร์ปไปเมื่อเดือน ก.ค.  2565 สำหรับ”รถไฟไทยทำ” ตามโครงการวิจัยรถไฟไทยทำ หรือการพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ ตามนโยบายกระทรวงคมนาคมในโครงการ “ไทยเฟิร์ส” ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ (Local Content) และลดนำเข้าเทคโนโลยี โดยใช้งบประมาณในการวิจัยตัวรถ รวมแคร่ และงานระบบ ประมาณ 32 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ล่าสุดเมื่อวันที่  3 พ.ค.ที่ผ่านมา  รถไฟไทยทำเปิดตัวอีกครั้งในรูปแบบคลิปวีดีโอ Thai Makes Train “Beyond Horizon”ด้วยความยาว 2.28 นาที โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.หรือKMITL) โครงการนี้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) 25 ล้านบาท และบริษัท กิจการร่วมค้าไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด 7 ล้านบาท รวม 32 ล้านบาท ได้ผลิตตู้รถไฟโดยสาร 25 ที่นั่งมาเป็นต้นแบบ โดยใช้โมเดลการให้บริการ แบบ First Class และ Business Class ของสายการบิน ประกอบด้วย Super Luxury Class  8 ที่นั่ง และ Luxury Class  17 ที่นั่ง

การพัฒนารถไฟโดยสารฯเสร็จแล้ว เตรียมทดสอบร่วมกับ รฟท. เร็วๆนี้ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานด้านความปลอดภัย ก่อนส่งมอบรฟท. นำไปให้บริการประชาชนได้ภายในปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567  โดยร่วมขบวนรถไฟของรฟท. ได้หลากหลายรูปแบบ สำหรับโครงการวิจัยฯ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย การออกแบบและกำหนดคุณลักษณะ การผลิต และการทดสอบใช้งานจริง ขณะนี้โครงสร้างตัวรถและองค์ประกอบหลักได้จัดทำแล้วเสร็จ และผ่านการทดสอบตามมาตรฐานระดับสากลแล้ว

ชิ้นส่วนหลักได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการในประเทศไทยกว่า 10 ราย  ปริมาณมูลค่าชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 50% ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม  ซึ่งคณะนักวิจัยได้คำนวณออกแบบ และทดสอบ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และข้อกำหนดของ รฟท. สำหรับชิ้นส่วนที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และไม่มีผู้ประกอบการในประเทศ ได้เกิดความร่วมมือกับเจ้าของเทคโนโลยีในต่างประเทศ ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านกระบวนการออกแบบ และทดสอบร่วมกันกับนักวิจัยไทย

นอกจากนี้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรถไฟโดยสารต้นแบบ คณะนักวิจัยยังได้สร้างนวัตกรรมเพื่อใช้งานในตัวรถด้วย อาทิ ระบบฝังตัวอัตโนมัติในตัวรถ ระบบ Smart Infotainment ด้วยเทคโนโลยี 5G ระบบฟอกอากาศด้วย UVC เป็นต้น เบื้องต้นจากการประเมินค่าใช้จ่ายในการพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ พบว่า มีราคาถูกกว่าการนำเข้าไม่น้อยกว่า 30% ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อ รฟท. และประเทศชาติอย่างแท้จริง

ข่าวจาก : เดลินิวส์ออนไลน์
https://www.dailynews.co.th/news/2290435/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่