สงสัยเรื่องหลักการตั้งพระนามเมื่อทรงกรมเจ้านายในยุคก่อน กับสมัยนี้

เวลาอ่านพวกจดหมายเหตุ เอกสารเก่าๆน่าจะได้เห็นกันอยู่ว่า หลักการตั้งพระนามกรมของระดับเจ้าฟ้า ที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว จะมีสัดส่วนคือ

คำนำ พระยศ พระนาม สร้อยพระนาม พระนามกรม
ตัวอย่าง เจ้าฟ้ามหิดล

"สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณินทรวรางกูร สมบูรณ์เบญจพรศิริสวัสดิ์ ขัตติยวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐ ลักษณวิจิตรพิสิฐบุรุศย์ ชนุตมรัตน์พัฒนศักดิ์ อรรควรราชกุมาร กรมขุนสงขลานครินทร์"

บางพระองค์ก็จะมาในรูปแบบ
คำนำ พระนาม สร้อยพระนามเดิม พระนามกรม สร้อยพระนามเพิ่มเติมแสดงความยิ่งใหญ่
ตัวอย่าง เจ้าฟ้าบริพัตร
"สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ ดิลกจันทรนิภาพงศ มหามกุฎวงศนราธิราช จุฬาลงกรณนาถราชวโรรส อดุลยยศอุภโตพงศพิศุทธ นรุตมรัตนขัติยราชกุมาร กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สชีวะเชษฐสาธิษฐสุขุมาลกษัตริย์ อภิรัฎฐมหาเสนานหุษเนาอุฑฑิน จุฬินทรปริยมหาราชวรางกูร สรรพพันธุธูรราชประยูรประดิษฐาประชาธิปกปัฐพินทร์ ปรมินทรมหาราชวโรปการ ปรีชาไวยัตโยฬารสุรพลประภาพ ปราบต์ไตรรัชยยุคยุกติธรรมอรรถศาสตร อุดมอาช์วีวีรยาธยาศรัย เมตตามันตภาณีศีตลหฤทัย พุทธาทิไตรรัตนศรณธาดา มหันตเดชานุภาพบพิตร"

แต่พอเป็นกรณีพระองค์เจ้า พระนามโดยกำเนิด กลับหายไปหลังจากตั้งนามกรมทันที กลายเป็น
คำนำ พระนามกรม สร้อยพระนาม แทน
ตัวอย่าง พระองค์เจ้ารังสิต ถึงแม้จะถูกเลื่อนเป็นระดับสมเด็จแล้ว
"สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรทร จุฬาลงกรณราชวโรรส สยามสุขบทบุรัสการี เมตตาสีตลหฤทัย อาชชวมัททวัธยาศัยสุจารี วิวิธเมธีวงศาธิราชสนิท นวมนริศรสุมันตนบิดุล ติรณคุณสรณาภิรักษ ประยูรศักดิธรรมิกนาถบพิตร"

เทียบให้ชัดอีกพระองค์กับตอนกรมพระยาดำรง พึ่งได้รับนามกรมใหม่ๆ พระยศยังไม่เป็นสมเด็จ
"พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ"

แต่พอเป็นช่วงยุคสมัย ร.10 หลักการตั้งจะเปลี่ยนเป็นทันที มาเป็นหลัก
คำนำ พระนาม พระนามกรม (สร้อยพระนามถ้ามี, ยังไม่มีกรณีพระองค์เจ้าให้เห็น ณ ตอนนี้)
ตัวอย่าง พระองค์โสม
"พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ"

เลยมีข้อสงสัยว่า ทำไมสมัยก่อน (อย่างน้อยในช่วงรัชกาลที่ 4 ลงมา) พอตั้งพระนามกรมพระองค์เจ้าแล้ว พระนามโดยกำเนิดถึงหายไปเลย ไม่เหมือนเจ้าฟ้าจะมีติดมาด้วยทุกพระองค์ มีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลังหรือเปล่าครับ?
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่