กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับสยามพารากอน อัญเชิญ “พุทธบูชา มหาสงกรานต์” 9 องค์ ให้ประชาชนสักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล

กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับสยามพารากอน อัญเชิญ “พุทธบูชา มหาสงกรานต์” 9 องค์ ให้ประชาชนสักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล 12-16 เม.ย. 66 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน 


นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายวัฒนธรรมทั่วประเทศ สืบสานขนบธรรมเนียมประเพณี เสริมสร้างค่านิยมและความเป็นไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีสงกรานต์ ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ ถือเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งอีกหนึ่งกิจกรรมพิเศษ คือ วธ.ร่วมกับ ศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดงานเนื่องในประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2566 โดยอัญเชิญ “พุทธบูชา มหาสงกรานต์” 9 องค์ ให้ประชาชนสักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล ระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน 2566 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่งพระพุทธรูปมงคลโบราณ 9 องค์นี้ ทางกรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี นำมาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลในวาระแห่งเทศกาลขึ้นปีใหม่ของไทย ประกอบด้วย 1.วันอาทิตย์ พระพุทธรูปปางถวายเนตร 2.วันจันทร์ พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร 3.วันอังคาร พระพุทธรูปไสยาสน์ 4.วันพุธ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร 5.วันพุธกลางคืน พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ (พระพุทธรูปบูชาแทนพระราหู) 6.วันพฤหัสบดี พระพุทธสิหิงค์จำลอง (ปางสมาธิ) 7.วันศุกร์ พระพุทธรูปปางรำพึง  8.วันเสาร์ พระพุทธรูปปางนาคปรก และ 9.พระเกตุ พระหายโศก ปางสมาธิเพชร (พระพุทธรูปบูชาแทนพระเกตุ) และจะมีพิธีเปิดงานในวันที่ 12 เมษายนนี้ โดยจะได้รับชมการแสดง ชุด เริงรื่นชื่นสงกรานต์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การแสดงนาฏศิลป์ จากสมาคมศิลปะเพื่อเยาวชน ชุด รำไทยสงกรานต์ และการสาธิตน้ำอบน้ำปรุง การทำแป้งพวง และการร้อยมาลัยดอกไม้
 


นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในวันที่ 13 เมษายน 2566 กระทรวงวัฒนธรรมยังได้ร่วมเปิดงานเทศกาล “สงกรานต์วัดพระเชตุพน” ประจำปี 2566 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ ภายในงานมีการสาธิตศิลปะแม่ไม้มวยไทย โดยแชมป์มวยไทย การออกร้านอีกมากมาย โดยปีนี้ วธ.จะเน้นรณรงค์ให้องค์ความรู้ สาระ ที่มาวันสงกรานต์ ท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และประชาสัมพันธ์ประเพณีสงกรานต์ ที่ขณะนี้องค์การยูเนสโก ได้รับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมของไทย "สงกรานต์ในประเทศไทย" (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เข้าวาระการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในเดือนธันวาคม 2566 ด้วย


พาพันเคลิ้มพาพันรักสัตว์พาพันอาบน้ำ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่