เป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คิด

หายใจเข้าเรารับรู้อะไร หายใจออกเราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่รับรู้นั้นบ้าง ค่ายทหารมองให้เป็นคุกก็เป็น มองให้เป็นโรงเรียนประจำก็เป็น เรื่องที่จะพูดต่อไปนี้ ความนิยมชมชอบทหารไม่ใช่หมายถึงทุกคนต้องมีอาชีพเป็นทหาร การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารไม่เท่ากับการยกเลิกกองทัพ และส่วนตัวก็เห็นด้วยกับ “ระบบสมัครใจเกณฑ์ทหาร” ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ “ฉันทะ” คือ คนที่มีใจรักในความเป็นทหารอาชีพจริงๆ “วิริยะ” คือ ความเพียรพยายามในการฝึกก็เกิดขึ้น“จิตตะ” ความตั้งใจในการโอบรับคุณค่าที่ได้รับจากกองทัพก็ตามมา สุดท้าย “วิมังสา” การพิจารณาทบทวนว่าประสบการณ์ที่ได้รับจะประยุกต์ใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

ฉันทะ,วิริยะ,จิตตะ และวิมังสา หรือที่เรียกว่า “อิทธิบาท 4” นี้ เป็นหลักธรรมซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จ ถ้าติดกระดุมเม็ดแรกถูก คือ กองทัพรับสมัครทหารจากคนที่มีใจรักตั้งแต่แรก ต่อไป เมื่อส่วนย่อยๆดี ทหารแต่ละนายเป็นรายบุคคลประพฤติอยู่ในระเบียบวินัยดี ภาพรวมก็จะดี เป็นกองทัพที่ประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพสามารถกู้วิกฤติศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกองทัพได้มากพอสมควร

การเปลี่ยนมาใช้ระบบสมัครใจ คำถามที่ตามมาคือ ยอดผู้สมัครจะเพียงพอต่อการป้องกันประเทศไหม? ถ้าไม่พอจะทำอย่างไรต่อไป? เราจะสร้างแรงจูงใจให้พลเรือนมาสมัครเพิ่มขึ้นด้วยวิธีใด? ฝึกยังไง? สิทธิสวัสดิการด้านไหนบ้าง? ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองถกเถียงกันเพื่อหาทางออกกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะพรรคซึ่งยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตย ข้อเสียของการเป็นทหารก็พูดกันหนาหูแล้ว เสียงานบ้าง เสียความสัมพันธ์ของการมีชีวิตคู่บ้าง เสียใจกระทั่งทำร้ายตนเองจนเสียชีวิตจากการจับได้ใบแดงบ้าง ซึ่งผมขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้สูญเสียมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

เพราะเวลาของคนเรามีจำกัด การใช้เวลาไปกับการเพ่งโทษหรือข้อเสียมากเกินไปจะทำให้เรามองข้ามคุณค่าบางอย่างไป ต่อไปนี้ ผมจะมาแบ่งปันคุณค่าที่ได้รับจากการที่ผมเคยเป็นทหารประจำการมาก่อน (ผลัด 2/2563 - ปลดประจำการ 1 พ.ย. 2564) ให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ผู้ปกครองของทหาร ทหารซึ่งยังประจำการอยู่ ตลอดจนผู้ที่มีความสนใจทั่วไป บางท่านอาจจับได้ใบแดง บางท่านอาจสมัครเข้ามาเพียงเพื่อลดเวลาในการเป็นทหารให้น้อยที่สุด แต่ถ้าเราเฟ้นเอาคุณค่าได้ ผมเชื่อว่ามันสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันหลังปลดประจำการได้เป็นอย่างดี หรือนำมาประกอบการพัฒนานโยบายด้านการฝึกก็ได้ เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดขณะที่เราทำหน้าที่อยู่จะไม่เสียเปล่า

ถ้าทหารเป็นนักรบซึ่งมีหน้าที่ปกป้องสถาบันหลักและอธิปไตยของชาติ ดังนั้น ทหารจะต้องมีการเตรียมความพร้อมให้ร่างกายและจิตใจแข็งแรงอยู่เสมอ พร้อมรบเสมอ เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสงครามจะเกิดขึ้นตอนไหน

ด้านร่างกาย การฝึกทหารใหม่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการออกกำลังกายเพื่อพัฒนาความแข็งแรงทนทานของกล้ามเนื้อ แม้แต่การถูกลงโทษหรือที่ภาษาทหารเรียกว่า “-” นั้น ก็ยังต้องให้ทหารผู้กระทำผิดวินัยได้ออกกำลังกายอย่างเช่น ท่าดันพื้น , ท่าพุ่งหลัง , ท่าชักเท้าสลับ ฯลฯ จุดที่เหมือนกันของการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะถูก-หรือไม่ถูก- คือ ให้นับการออกกำลังแต่ละท่าเป็น “ยก” เช่น การปฏิบัติในท่าดันพื้น เมื่อเอาอกลง นับ 1…เมื่อดันอกขึ้น นับ2…เอาอกลงอีกครั้ง นับ 3…แล้วเมื่อดันอกกลับขึ้นมาอีกครั้ง คิดเป็น “1 ยก” ทหารจะไม่นับเป็นครั้งเหมือนพลเรือน100 ยกในท่าดันพื้นของทหารเท่ากับ 200 ครั้งของพลเรือน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบดู ขวัญกำลังใจในการออกกำลังกายจะต่างกัน โดยที่พลเรือนอาจรู้สึกเหนื่อยกว่าทหาร กรณีที่ตั้งเป้าหมายว่าต้องดันพื้นให้ครบ 200 ครั้ง ขณะที่ทหารซึ่งนับเป็นยกอาจรู้สึกเหนื่อยน้อยกว่า เหมือนกับการกำหนดสติตั้งมั่นว่า “มันก็แค่ 100 ยก” ตรงนี้เราสามารถประยุกต์กับการสร้างกำลังใจในการออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญไขมัน และลดน้ำหนักในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

การนำแขนวางทับกันขัดฉากก่อนรับประทานอาหาร การนั่งหนีบเข่าเท้าชิด และกินเป็นฉาก ที่กระแสบนโซเซียลมีเดียมักบอกว่าเปลี่ยนทหารให้เป็น “หุ่นยนต์” นั้น แท้จริงแล้ว ภาพรวมนั่นเป็นการฝึกให้ทหารรู้จักเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อให้อดทนต่อความปวดเมื่อยได้นานขึ้น การนั่งหนีบเข่าเท้าชิดจะสร้างความคุ้นชินให้ทหารพร้อมต่อการฝึกหรือทบทวนหลักสูตรส่งทางอากาศ เมื่อโดดร่ม เท้าพ้นจากพื้นแล้ว เราจะรักษาตำแหน่งท่าทางของร่างกายอย่างไรให้การดิ่งลงพื้นปลอดภัยที่สุด และการกินเป็นฉาก ก็เพื่อให้ทหารจดจ่อกับการกิน รีบกินอย่างระมัดระวัง ขณะเดียวกัน การกินนั้นต้องไม่ส่งเสียงดังซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคให้ข้าศึกได้ยินแล้วตรงเข้ามาตีที่พักของเรา คุณค่าที่เราได้จากการกินแบบทหารเมื่อมาใช้ชีวิตอยู่นอกค่าย คือ เราจะสำรวมการกิน การเคี้ยวของเราไม่ให้รบกวนคนรอบข้างโดยอัตโนมัติ

การวิ่งแบบทหารเน้นให้วิ่งโดยพร้อมเพรียงผ่านการนับก้าว (นับจังหวะการก้าว) ด้วยร้องเพลง ด้วยการออกคำสั่งโดยสิบเวรหรือผู้คุมแถว มีสติกับการวิ่ง ไม่วอกแวกไปตามจิตที่ฟุ้งซ่าน วิ่งไม่เร็วไม่ช้า ปอดก็แข็งแรง สามารถกักเก็บอ๊อกซิเจนได้นานขึ้น ช่วยให้กลั้นหายใจเวลาว่ายน้ำนานขึ้น กล้ามเนื้อขาแข็งแรง อดทนต่อการยืนเวร ต่อการเดินในระยะทางซึ่งยาวไกล อนึ่ง การวิ่งไปพร้อมๆกัน เป็นการใช้รูปแบบความพร้อมเพรียงส่งต่อไปยังวิธีคิดของทหารให้รู้จักทำงานเป็นทีม ไปไหนไปด้วยกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ด้วย

การดึงข้อแบบทหาร ฝึกให้ดึงขึ้นสุดลงสุด ขาตรง ไม่แยกออกจากกัน เมื่อดึงเสร็จ จะต้องวางเท้าลงบนที่พักเท้าก่อนเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้เส้นเอ็นฉีกขาด และหรือการอักเสบของข้อต่อ ซึ่งการฝึกแบบพลเรือนมักมองข้ามจุดๆนี้นอกจากนั้น ถ้าฝึกดึงข้อจนคล่อง ความสามารถในการปีนป่ายและดึงน้ำหนักตัวเองขึ้นเพื่อหนีอุปสรรคบางอย่างจะทำได้เป็นอย่างดี เพิ่มโอกาสการเอาชีวิตรอดมากขึ้น

ด้านจิตใจ การฝึกทหารใหม่เราจะต้องเข้าแถวรวมท่องอย่างนี้ทุกเช้าว่า “ไม่มีอะไรที่ทหารใหม่ทำไม่ได้ ทำไม่ไหว ทำไม่ทัน” นั่นก็เพราะ เป็นการใช้คำพูดไปย้ำสมองของทหารว่า “อย่ากลัวอุปสรรค” ที่เราทำไม่ได้หนะ เราทดลองทำมันแล้วหรือยัง? ก่อนเดินเราก็ต้องกล้ายืน ก่อนปั่นจักรยานได้เราก็ต้องทรงตัวให้ได้ ก่อนว่ายน้ำได้เราก็ต้องกล้ากลั้นหายใจในน้ำให้ได้ ถ้าเราเริ่มต้นด้วยความกลัว อันนี้ก็ไม่กล้า อันนั้นก็ไม่กล้า การพัฒนาความสามารถของตนเองก็คงไม่เกิด , การที่ทหารต้องพูดเสียงดังก็เพื่อสร้างความฮึกเหิมให้กับกำลังพลฝ่ายตนเอง และข่มขวัญกำลังใจข้าศึก เมื่อจะขออนุญาตเติมอาหารก็ต้องพูดเสียงดังฟังชัด การพูดด้วยเสียงอันดังจะเป็นการทำลายกำแพงความเขินอายออกไปและสร้างความมั่นใจในตนเองเข้ามาแทนที่ บุคลิกของเราจะดูมีความเป็นผู้นำ เข้มแข็ง เมื่อสื่อสารกับคนหมู่มากจะดูเพิ่มความน่าเชื่อถือ

“ระบบทหารไทย” นั้นมีระบบรุ่นพี่-รุ่นน้อง นายทหารชั้นสัญญาบัตรก็มีรุ่นในส่วนของเขา และชั้นประทวนเองก็มีรุ่นในส่วนของตนเหมือนกัน ตามระบบนั้น ทหารผู้เข้ามารับราชการก่อนจะเป็นรุ่นพี่ ขณะที่ทหารผู้เข้ามารับราชการทีหลังจะเป็นรุ่นน้อง ประสบการณ์ คือ สิ่งซึ่งเรียนรู้จากการรับรู้ในรูปแบบงานและหรือสถานการณ์ที่หลากหลายทางการเห็นการได้ยินคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา รุ่นพี่เข้ารับราชการก่อนก็ผ่านรูปแบบงานและสถานการณ์ในกองทัพเหล่านั้นก่อนรุ่นน้อง ดังนั้น หน้าที่ของรุ่นพี่ คือ ถ่ายทอดประสบการณ์ของตน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี รู้จัก คุ้นชิน ทำลายความประหม่าให้กับรุ่นน้องได้ปฏิบัติงานเป็นชิ้นเป็นอัน คล่องขึ้น

“สงฆ์” ที่พระพุทธเจ้าวางระบบเอาไว้ กับ “แบบธรรมเนียมของทหาร” นั้น มีความคล้ายคลึงกันอยู่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ “การเคารพผู้มาก่อน” พระมาบวชทีหลังต้องเคารพพระบวชก่อน (อาวุโสไหว้ภันเต) , ทหารที่เข้ามารับราชการตอนหลังต้องเคารพทหารที่เข้ามารับราชการก่อนหน้าตนเอง อย่างที่พูดตอนต้น ทั้งนี้ ทั้งหมดนี้จะไม่สนใจเรื่องอายุไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุว่าอายุน้อยต้องเคารพอายุมาก พระบวชหลังถึงแม้จะอายุมากกว่าพระบวชก่อนก็ยังต้องเคารพพระบวชก่อน ทหารก็เช่นเดียวกัน

เหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะให้พระและทหารลด “ความอวดดื้อถือดี” หรือ “อัตตา” ลง แล้วมองไปถึง “ประสบการณ์” ของการทำงาน และ “คุณค่าของงาน” มากขึ้น ผู้มาหลังก็เปิดรับเอาประสบการณ์จากผู้มาก่อนเพื่อสร้างผลงานของตนเองในองค์กร ในหมู่คณะ ผู้มาก่อนก็เตือนตนเองเสมอที่จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นที่น่าเคารพ ให้สมกับประสบการณ์สมกับผลงานที่ตนได้สะสมมา แล้วก็รักษาผลงานนั้นให้มีมาตรฐานต่อไป

การเคารพของผู้มาหลัง “ไม่ได้ทำให้ผู้มาหลังตัวเล็กลงหรือโดนกดขี่มากขึ้น” การวางตัวของผู้มาก่อนก็ “ไม่ได้ทำให้ผู้มาก่อนตัวใหญ่ขึ้นหรือมีข้ออ้างในการกดขี่ผู้มาหลังมากขึ้น” นี่คือนัย กุศโลบายของธรรมเนียมของสงฆ์และของทหารซึ่งปัจจุบัน ในวงการการศึกษา ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน ครูกับครู หรือแม้แต่พระและทหารเองก็เข้าใจแบบผิดๆ

นอกจากนี้ ด้วยความที่ระบบราชการไม่ใช่มีตำแหน่งที่ตายตัว คือทุกคนต้องเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ เลื่อนฐานเงินเดือน และเลื่อนความรับผิดชอบอยู่ตลอด การมีระบบรุ่นเข้ามารองรับก็เพื่อให้เกิดการกระชับความสัมพันธ์ภายในรุ่น (ดี-ร้าย-ไม่ดีไม่ร้าย) เลื่อนไปพร้อมกัน ทุกคนต่างรู้ไส้รู้พุงกันดี รู้เห็นเช่นสันดานดีชั่วเป็นอย่างดี นั่นคือการคานอำนาจโดยอาศัยจิตวิทยามนุษย์อย่างหนึ่งภายในองค์กร ซึ่งแต่ละคนจะใช้อำนาจหน้าที่ที่มีทำตามอำเภอใจไม่ได้ หาผลประโยชน์ฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะทุกคนต่างถูกจับตามองซึ่งกันและกันหมด หรือในกรณีของโผนายทหารชั้นนายพลใครได้เป็น ผบ.ทบ. ก็จะเป็นการง่ายต่อการช่วงใช้คนให้เหมาะสมกับงาน เพราะกำเนิดจากเตรียมทหารรุ่นเดียวกันเป็นเพื่อนกันที่เตรียมทหาร 2 ปี , จปร. 5 ปี กระทั่งแยกไปเป็น ผบ.หน่วย เติบโตพร้อมๆกันเกือบเกษียณ เป็นต้น

(ต่อ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่