บทเรียน “ฝรั่งเศส” ฝันสลาย “เงินบำนาญ”
นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 8 เมษายน 2566
คอลัมน์ สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์
*Credit ที่มา : https://www.prachachat.net/opinion-column-10/news-1257414
ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประเทศฝรั่งเศสมีข่าวใหญ่เรื่องการประท้วงหยุดงานของสหภาพแรงงานต่อเนื่องกว่า 2 เดือน เพื่อแสดงพลังต่อต้านนโยบายยืดอายุรับเงินบำนาญ ของประธานาธิบดี “เอ็มมานูเอล มาครง”
เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ประท้วงของฝรั่งเศสที่รุนแรงเลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี ที่คนเข้าร่วมถึง 2 ล้านคน ทั้งพนักงานรัฐ คนขับรถไฟ ครู และแรงงานส่วนอื่น ๆ จนกรุงปารีสและหลายเมืองทั่วประเทศขยะเกลื่อนเมือง การเดินทางติดขัด ถนนหลายสายในกรุงปารีสเป็นอัมพาต
ต้นเหตุเกิดจากรัฐบาลฝรั่งเศสเห็นว่าจะไม่สามารถจ่ายเงินบำนาญให้พนักงาน ลูกจ้าง ตามที่เคยสัญญาเอาไว้
จึงต้องปฏิรูประบบบำนาญของประเทศ โดยให้ขยายอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี โดยระบุว่าจะเพิ่มเงินบำนาญขั้นต่ำจากเดิม 1,000 ยูโรต่อเดือน เป็น 1,200 ยูโรต่อเดือน แต่นโยบายนี้บังคับให้คนทำงานต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นอีก 2 ปี จากจ่ายเงิน 41 ปี มาเป็น 43 ปี เพื่อให้ได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน
เพราะขณะนี้ประเทศฝรั่งเศสมีผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ จำเป็นต้องสร้างความมั่นคงให้กับระบบบำนาญ จึงต้องให้คนทำงานจ่ายเงินสมทบยาวนานขึ้นเพื่อให้มีเงินเพียงพอสำหรับเลี้ยงดูคนวัยเกษียณ
ปัญหานี้กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เด็กเกิดใหม่ลดลง รวมทั้งประเทศไทย ที่มีคำเตือนจากนักวิชาการถึง “ความเพียงพอของเงินกองทุนประกันสังคม” ที่เปรียบเสมือนระเบิดลูกใหญ่
เรื่องนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการทำรายงานวิจัยเรื่อง “ทางออกของประกันสังคมเพื่อลูกหลานไทยในอนาคต” โดยหยิบยกที่นักวิชาการส่วนหนึ่งได้ทำการศึกษาเรื่อง ความเพียงพอของกองทุนประกันสังคมมาตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งมีข้อสรุปเดียวกันคือ ในอนาคตเงินกองทุนประกันสังคมจะไม่เพียงพอที่จะจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่สัญญาไว้กับผู้ประกันตน โดยเฉพาะกรณี “ชราภาพ”
หมายความว่า ความหวังของแรงงานที่จะมีเงินบำนาญจากกองทุนทุกเดือนไว้ยังชีพหลังเกษียณ หลังจากอดออมมาหลายสิบปีอาจเป็นฝันสลายได้เพราะเงินกองทุนหมด
รายงานวิจัยระบุว่า “หากเราไม่ทำอะไรในวันนี้ ปัญหาของกองทุนซึ่งเปรียบเสมือนระเบิดเวลาจะปะทุในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า”
ที่สำคัญเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาลจะมีภาระมากขึ้น สิ่งสำคัญก็คือ ต้องเร่งปรับโครงสร้างกองทุนประกันสังคม ไม่ว่าเรื่องของการปรับเพดานค่าจ้าง อัตราเงินสมทบ และอายุเกษียณ เพราะเป็นสิ่งที่กระทบต่อลูกจ้างที่ฝากชีวิตไว้ในระบบนี้มากกว่า 11 ล้านคน
ล่าสุด สำนักงานประกันสังคม ได้เตรียมปรับสูตรคำนวณเงินสมทบกองทุนฯ ของผู้ประกันตนมาตรา 33 เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนในการรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น
ภายใต้ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... คาดหวังจะเริ่มใช้ในปี 2567 โดยจะปรับเพิ่มฐานค่าจ้างขั้นสูงจาก 15,000 บาท แบบค่อยเป็นค่อยไป 3 ระยะ
ตัวอย่างผลต่อผู้ประกันตน คือในปี 2567 ผู้ประกันตนที่ค่าจ้างมากกว่า 17,500 บาทต่อเดือน จะส่งเงินสมทบเดือนละ 875 บาท (เดิม 750 บาท) และจะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ระยะที่ 2 เริ่มปี 2570 ผู้ที่ค่าจ้างมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน จะส่งเงินสมทบเพิ่มเป็นเดือนละ 1,000 บาท และปี 2573 ผู้ที่มีค่าจ้างมากกว่า 23,000 บาท จะส่งเงินสมทบเพิ่มเป็น 1,150 บาท
นี่คือส่วนหนึ่งของการเสริมฐานะกองทุนประกันสังคม แต่คงยังไม่เพียงพอ เพราะคนวัยทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ลดน้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุที่ต้องดูแลมีเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ระบบบำนาญประเทศไทยเกิดปัญหาเช่นที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส
ถึงเวลาที่ผู้กำหนดนโยบายต้องวางแผนปลดชนวนระเบิดเวลาอย่างจริงจัง.
บทเรียน “ฝรั่งเศส” ฝันสลาย “เงินบำนาญ”
นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 8 เมษายน 2566
คอลัมน์ สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์
*Credit ที่มา : https://www.prachachat.net/opinion-column-10/news-1257414
ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประเทศฝรั่งเศสมีข่าวใหญ่เรื่องการประท้วงหยุดงานของสหภาพแรงงานต่อเนื่องกว่า 2 เดือน เพื่อแสดงพลังต่อต้านนโยบายยืดอายุรับเงินบำนาญ ของประธานาธิบดี “เอ็มมานูเอล มาครง”
เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ประท้วงของฝรั่งเศสที่รุนแรงเลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี ที่คนเข้าร่วมถึง 2 ล้านคน ทั้งพนักงานรัฐ คนขับรถไฟ ครู และแรงงานส่วนอื่น ๆ จนกรุงปารีสและหลายเมืองทั่วประเทศขยะเกลื่อนเมือง การเดินทางติดขัด ถนนหลายสายในกรุงปารีสเป็นอัมพาต
ต้นเหตุเกิดจากรัฐบาลฝรั่งเศสเห็นว่าจะไม่สามารถจ่ายเงินบำนาญให้พนักงาน ลูกจ้าง ตามที่เคยสัญญาเอาไว้
จึงต้องปฏิรูประบบบำนาญของประเทศ โดยให้ขยายอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี โดยระบุว่าจะเพิ่มเงินบำนาญขั้นต่ำจากเดิม 1,000 ยูโรต่อเดือน เป็น 1,200 ยูโรต่อเดือน แต่นโยบายนี้บังคับให้คนทำงานต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นอีก 2 ปี จากจ่ายเงิน 41 ปี มาเป็น 43 ปี เพื่อให้ได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน
เพราะขณะนี้ประเทศฝรั่งเศสมีผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ จำเป็นต้องสร้างความมั่นคงให้กับระบบบำนาญ จึงต้องให้คนทำงานจ่ายเงินสมทบยาวนานขึ้นเพื่อให้มีเงินเพียงพอสำหรับเลี้ยงดูคนวัยเกษียณ
ปัญหานี้กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เด็กเกิดใหม่ลดลง รวมทั้งประเทศไทย ที่มีคำเตือนจากนักวิชาการถึง “ความเพียงพอของเงินกองทุนประกันสังคม” ที่เปรียบเสมือนระเบิดลูกใหญ่
เรื่องนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการทำรายงานวิจัยเรื่อง “ทางออกของประกันสังคมเพื่อลูกหลานไทยในอนาคต” โดยหยิบยกที่นักวิชาการส่วนหนึ่งได้ทำการศึกษาเรื่อง ความเพียงพอของกองทุนประกันสังคมมาตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งมีข้อสรุปเดียวกันคือ ในอนาคตเงินกองทุนประกันสังคมจะไม่เพียงพอที่จะจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่สัญญาไว้กับผู้ประกันตน โดยเฉพาะกรณี “ชราภาพ”
หมายความว่า ความหวังของแรงงานที่จะมีเงินบำนาญจากกองทุนทุกเดือนไว้ยังชีพหลังเกษียณ หลังจากอดออมมาหลายสิบปีอาจเป็นฝันสลายได้เพราะเงินกองทุนหมด
รายงานวิจัยระบุว่า “หากเราไม่ทำอะไรในวันนี้ ปัญหาของกองทุนซึ่งเปรียบเสมือนระเบิดเวลาจะปะทุในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า”
ที่สำคัญเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาลจะมีภาระมากขึ้น สิ่งสำคัญก็คือ ต้องเร่งปรับโครงสร้างกองทุนประกันสังคม ไม่ว่าเรื่องของการปรับเพดานค่าจ้าง อัตราเงินสมทบ และอายุเกษียณ เพราะเป็นสิ่งที่กระทบต่อลูกจ้างที่ฝากชีวิตไว้ในระบบนี้มากกว่า 11 ล้านคน
ล่าสุด สำนักงานประกันสังคม ได้เตรียมปรับสูตรคำนวณเงินสมทบกองทุนฯ ของผู้ประกันตนมาตรา 33 เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนในการรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น
ภายใต้ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... คาดหวังจะเริ่มใช้ในปี 2567 โดยจะปรับเพิ่มฐานค่าจ้างขั้นสูงจาก 15,000 บาท แบบค่อยเป็นค่อยไป 3 ระยะ
ตัวอย่างผลต่อผู้ประกันตน คือในปี 2567 ผู้ประกันตนที่ค่าจ้างมากกว่า 17,500 บาทต่อเดือน จะส่งเงินสมทบเดือนละ 875 บาท (เดิม 750 บาท) และจะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ระยะที่ 2 เริ่มปี 2570 ผู้ที่ค่าจ้างมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน จะส่งเงินสมทบเพิ่มเป็นเดือนละ 1,000 บาท และปี 2573 ผู้ที่มีค่าจ้างมากกว่า 23,000 บาท จะส่งเงินสมทบเพิ่มเป็น 1,150 บาท
นี่คือส่วนหนึ่งของการเสริมฐานะกองทุนประกันสังคม แต่คงยังไม่เพียงพอ เพราะคนวัยทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ลดน้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุที่ต้องดูแลมีเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ระบบบำนาญประเทศไทยเกิดปัญหาเช่นที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส
ถึงเวลาที่ผู้กำหนดนโยบายต้องวางแผนปลดชนวนระเบิดเวลาอย่างจริงจัง.