JJNY : ชีวิตดี๊ดี..ซี้จุกสูญ สปส.โดนอีก! คสรท.จวกเพิ่มเงินสมทบผู้ประกันตน แท้จริงกองทุนย่ำแย่ เหตุรัฐค้างจ่าย 5.6หมื่นล.

กระทู้คำถาม
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม นายสมพร ขวัญเนตร รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า การเพิ่มเงินสมทบทั้งส่วนลูกจ้างนายจ้าง ในผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 16,000-20,000 บาทขึ้นไป เงินที่เพิ่มขึ้นตนตั้งข้อสังเกตว่า เพราะกองทุนประกันสังคมเริ่มเห็นว่าจะมีปัญหาเงินลดน้อยลงเรื่อยๆหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลยังค้างจ่ายเงินสมทบในส่วนของภาครัฐกว่า 56,000 ล้านบาท ทั้งๆที่กฎหมายให้รัฐร่วมสมทบจ่ายน้อยกว่านายจ้างลูกจ้างเสียอีก โดยจ่ายในสัดส่วนเพียง 2.75 เปอร์เซ็นต์ หายไปถึง 2.25 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่นายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายตามกฎหมายฝ่ายละ 5 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งเดิมรัฐก็จ่ายเท่ากันหมด แต่มีการแก้กฎหมาย สุดท้ายก็เป็นปัญหาเงินกองทุน

“ผมแค่สงสัยและตั้งคำถามว่า การเพิ่มเงินสมทบครั้งนี้ เพื่อนำมาหมุนก่อนหรือไม่ เพราะสิทธิประโยชน์จริงๆ ที่ได้เพิ่มขึ้นก็ไม่รู้ว่าแบ่งอย่างไร แต่ที่แน่ๆ กองทุนจะมีเงินเพิ่มขึ้นมา จริงๆแล้วหากรัฐบาลจ่ายเงินที่ค้างสปส.อยู่ ก็จะช่วยได้มาก ปัญหาคือ เมื่อพูดแบบนี้ ทางสปส.จะบอกว่าเป็นปัญหาค้างจ่ายของรัฐบาลชุดก่อนๆ แต่ถามว่ารัฐบาลไม่ว่าชุดไหน หากมาอยู่ในปัจจุบันก็ต้องเป็นหน้าที่ในการแก้ปัญหาหรือไม่ แบบนี้เหมือนรัฐบาลตีตั๋วเด็ก จ่ายส่งน้อย แต่มาให้ผู้ประกันตนกลุ่มหนึ่งจ่ายเพิ่ม และบอกว่าจะให้สิทธิต่างๆ ซึ่งเรื่องสิทธิที่เพิ่มขึ้นก็ต้องมาแจงว่าตกลงเพิ่มอะไร เอาให้ชัด เพราะจะให้ดีควรเพิ่มในส่วนของเงินบำนาญชราภาพ เพื่อให้ได้มากขึ้น ส่วนอื่นๆ ค่ารักษาพยาบาล ไม่ต้องเอาเงินส่วนนี้ไปเพิ่ม แต่ให้รัฐรับผิดชอบไป เหมือนของสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง)” นายสมพร กล่าว

นายสมพร กล่าวอีกว่า เงินบำนาญชราภาพก็ต้องมีการปรับปรุงด้วย เพราะหากเพิ่มเงินสมทบแล้ว แต่ช่องโหว่ต่างๆยังมีก็ไม่มีประโยชน์ อย่างปกติผู้ประกันตนเมื่อส่งเงินไปไม่ถึง 15 ปีจะได้รับเงินบำเหน็จ หรือกรณีเสียชีวิตก็จะได้ แต่หากส่งเงินเกิน 15 ปีก็จะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพแทน แต่หากเสียชีวิตทั้งก่อนหรือหลังเกษียณไม่เกิน 5 ปี จะได้รับเงิน 10 เท่าจากเงินบำนาญที่รับเพื่อมอบให้ทายาท ปัญหาคือ หากหลัง 5 ปีก็ไม่ได้รับอะไรเลย เงินบำนาญก็ไม่ได้รับ แบบนี้ต้องแก้ไข จริงๆ แล้วก่อนจะประกาศกฎหมายทั้งเรื่องแก้ไขเงินสมทบ หรือการปฏิรูปกองทุนชราภาพ ควรเรียกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าหารือก่อน ไม่ใช่ประกาศเลย แบบนี้จะมีปัญหาในอนาคต เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางคสรท.จะมีการประชุมประจำทุกเดือน และจะหยิบยกปัญหาของประกันสังคมเข้าหารือด้วยในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้

นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน(คปค.) กล่าวว่า จริงๆแล้วการเพิ่มเงินสมทบในกลุ่มผู้มีเงินเดือน 16,000 บาทขึ้นไปนั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องดีในระยะยาว โดยเฉพาะกรณีรับเงินบำนาญชราภาพ แต่ในส่วนเงินบำนาญชราภาพก็ต้องแก้ไขในเรื่องการมอบให้ทายาท เนื่องจากทุกวันนี้หากอยู่ในประกันสังคมเกิน 15 ปี ก็จะบังคับให้รับเงินบำนาญชราภาพตอนอายุ 55 ปีคือเกษียณอายุทำงาน และหากเสียชีวิตภายใน 5 ปีก็จะได้รับเงินทดแทนแต่ปัญหาคือหลังจากนั้นไม่ได้รับ ซึ่งตรงนี้ตนมองว่าควรปรับปรุงแก้ไขให้ทายาทรับได้ทุกกรณี ไม่ใช่แค่กรณีจำเป็น เนื่องจากเป็นเรื่องของความเท่าเทียม ดังนั้น ต้องจับตามองในเรื่องการประชาพิจารณ์กองทุนบำนาญชราภาพด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยจะขยายอายุรับบำนาญ หรืออายุเกษียณจาก 55 ปีเป็น 60 ปี ซึ่งจุดนี้ต้องหารือกันยาวเพราะมีหลายเรื่องต้องปฏิรูปต่อไป โดยต้องฝากความหวังกับคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.) ชุดใหม่ เพราะชุดเก่าจะหมดวาระในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร เพราะกฎหมายใหม่จะให้มีการเลือกตั้งบอร์ดสปส. ก็ต้องรอดูว่าจะทันวันแรงงานแห่งชาติหรือไม่

ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่า การปรับปรุงกฎหมายเพิ่มเงินสมทบในผู้ประกันตนเงินเดือน 16,000-20,000 บาท ขอย้ำว่าเป็นไปเพื่อผู้ประกันตน เพราะได้ประโยชน์ทั้งเรื่องการเพิ่มขึ้นของสิทธิทดแทนต่างๆรวมทั้งกรณีบำนาญชราภาพ จึงไม่เป็นความจริงที่มีผู้กล่าวว่าเป็นเพราะกองทุนเงินใกล้หมด หรือใกล้ถังแตก ไม่ใช่เลย ที่สำคัญไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องรัฐบาลค้างจ่ายเงินสปส. เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาลชุดเก่าที่ค้างไว้กว่า 5 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันก็พยายามช่วยในเรื่องการจัดสรรเพื่อประโยชน์ผู้ประกันตนทุกคน อย่างทุกปีเราขอไปแสนกว่าล้านบาท รัฐบาลเก่าๆให้มาเพียง 2 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลชุดนี้ให้ 4 หมื่นล้านบาท ส่วนจะมีเพิ่มในเรื่องการค้างจ่ายอย่างไร ตนจำไม่ได้ เพราะเกิดตั้งแต่ก่อนตนจะรับตำแหน่ง หากต้องการข้อมูลสอบถามไปทางสำนักงบประมาณเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ เพราะจะมีข้อมูลรายละเอียดต่างๆอยู่

“ขอย้ำว่า ไม่ได้เกี่ยวกับว่าสปส.เงินใกล้จะหมด ใกล้ถังแตกเลย เพราะเรามีเสถียรภาพในการบริหารจัดการดีพอ ไม่กระทบผู้ประกันตนอย่างแน่นอน อย่างปัจจุบันมีเงินในกองทุนอยู่ 1.7 ล้านล้านบาท  เอาไปลงทุนได้ผลตอบแทนปี 2559 อยู่ที่ 52,800 ล้านบาท ขณะที่ปี 2560 ก็ใกล้เคียงกัน แสดงว่าเสถียรภาพกองทุนมั่งคง” นพ.สุรเดช กล่าว และว่า ขณะนี้ สปส.มีแนวคิดที่จะปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์การจ่ายเงินสงเคราะห์บุตร ให้กับผู้ประกันตนที่มีบุตรจากเดือนละ 400 บาท เป็น เดือนละ 600 บาท ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการชุดสิทธิประโยชน์แล้วอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสำนักงานประกันสังคมในวันอังคารที่ 24 ต.ค.นี้ เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร เบื้องต้นตามข้อเสนอนั้นยังมีคณะกรรมการท่านอื่นๆ เห็นว่าการเพิ่มสิทธิประโยชน์นี้ทำได้ทั้งการเพิ่มเงินอุดหนุนจาก 400 บาท เป็น 600 บาท การขยายเพิ่มอายุบุตรที่จะได้รับเงิน หรืออาจะมีการข่ายแบบขั้นบันได 3 ขวบ 6 ขวบ เป็นต้น แต่โดยหลักการคือการเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรให้แน่นอน เพราะมีการศึกษาที่เป็นประจักษ์ว่าหากเด็กได้รับอาหารดี เพียงพอจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการและคุณภาพชีวิตของเด็กได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตราการคิดคำนวณเงินสมทบเพิ่มเฉพาะผู้ประกันตนเงินเดือน 16,000-20,000 บาท แบ่งเป็นผู้ประกันตนค่าจ้าง 16,000 บาทต่อเดือนจะต้องจ่ายเงินสมทบเป็น 800 บาท ค่าจ้าง 17,000 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบ 850 บาท ค่าจ้าง 18,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 900 บาท และค่าจ้าง 19,000 บาท จ่าย 950 บาท และเพดานสูงสุดค่าจ้าง 20,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 1,000 บาท ต่อเดือน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่