อัพเดทราคาหุ้น TFEX และทองคำ 31/03/2023

สวัสดีครับ เพื่อนๆ ผู้สนใจการลงทุน TFEX CLUB ทุกๆท่าน วันนี้มีข่าวอะไรน่าสนใจบ้างไปติดตามกันเลยครับ

ดาวโจนส์พุ่งกว่า 100 จุด ดีดตัวต่อจากวานนี้ หลังคลายกังวลวิกฤตภาคธนาคาร
InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 100 จุด โดยตลาดหุ้นวอลล์สตรีทดีดตัวขึ้นต่อเนื่องจากวานนี้ ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลต่อวิกฤตในภาคธนาคารสหรัฐ
ณ เวลา 20.37 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 32,874.88 จุด บวก 157.28 จุด หรือ 0.48%
หุ้นกลุ่มธนาคารต่างดีดตัวขึ้นในวันนี้
ราคาหุ้นอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวเป็นวันที่ 3 ขานรับการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่
ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 18.96 ในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตในภาคธนาคารของสหรัฐ
ดัชนี VIX พุ่งแตะระดับ 30 ในช่วงกลางเดือนมี.ค. ใกล้ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2565 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการล่มสลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB โดยหากดัชนีดีดตัวเหนือระดับ 30 จะบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นมีความเสี่ยง และมีความผันผวนสูง
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2565 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.6% ในไตรมาสดังกล่าว ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งระบุว่ามีการขยายตัว 2.9% และ 2.7% ตามลำดับ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1/2565 และ 0.6% ในไตรมาส 2 ซึ่งทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ก่อนที่จะมีการขยายตัว 3.2% ในไตรมาส 3
นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.1% ในปี 2565 หลังจากพุ่งแตะระดับ 5.9% ในปี 2564
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 7,000 ราย สู่ระดับ 198,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 195,000 ราย
อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวยังคงต่ำกว่าระดับ 200,000 ราย
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 4,000 ราย สู่ระดับ 1.689 ล้านราย
นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
กดอ่านข่าวต้นฉบับจาก InfoQuest

ภาวะตลาดหุ้นไทย: ปิดลบ 5.10 จุด รับแรงกดดันโอกาสหั่นคาดการณ์ GDP-หมดแรงหนุน Window Dressing
InfoQuest - SET ปิดวันนี้ที่ 1,605.42 จุด ลดลง 5.10 จุด (-0.32%) มูลค่าการซื้อขาย 50,910.02 ล้านบาท
การซื้อขายหุ้นวันนี้ ดัชนีเคลื่อนไหวในแดนลบตลอดทั้งวัน ดัชนีทำจุดสูงสุด 1,613.16 จุด และแตะจุดต่ำสุด
1,601.03 จุดส่วนหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวันนี้เพิ่มขึ้น 428 หลักทรัพย์ ลดลง 1,088 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 479 หลักทรัพย์
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวลงรับมีแรงกดดันจากทิศทางเศรษฐกิจไทยอาจถูกปรับประมาณการณ์ลง หลังวานนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดคาดการณ์ GDP ไทยลงเล็กน้อย และวันนี้ตัวเลขส่งออกยังออกมาหดตัวต่อเนื่อง แม้จะมีแรงซื้อหุ้น DELTA บวกทำนิวไฮเข้ามาแต่ยังไม่สามารถพยุงดัชนีไว้ได้มากนัก
ขณะเดียวกัน หลังจากหมดแรงหนุนจาก Window Dressing ทำให้เริ่มเห็นวอลุ่มเบาบางลง และมีแรงทยอยขายหุ้นขนาดใหญ่ออกมา เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันดัชนี ส่วนตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียวันนี้ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในแดนบวก
แนวโน้มพรุ่งนี้คาดว่าแกว่งไซด์เวย์ ตลาดยังรอรายงานตัวเลข PCE ของสหรัฐในคืนพรุ่งนี้ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งจะส่งผลไปถึงการมองแนวโน้มการพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ให้แนวรับ 1,600 จุด และแนวต้าน 1,620 จุด
ส่วนหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์
DELTA มูลค่าการซื้อขาย 5,861.02 ล้านบาท ปิดที่ 1,100 บาท เพิ่มขึ้น 94.00 บาท
SCB มูลค่าการซื้อขาย 1,574.99 ล้านบาท ปิดที่ 102.50 บาท ลดลง 1.00 บาท
KBANK (BK:KBANK) มูลค่าการซื้อขาย 1,449.56 ล้านบาท ปิดที่ 133.50 บาท ลดลง 1.00 บาท
CPALL (BK:CPALL) มูลค่าการซื้อขาย 1,431.91 ล้านบาท ปิดที่ 62.25 บาท ลดลง 0.75 บาท
AS มูลค่าการซื้อขาย 1,396.24 ล้านบาท ปิดที่ 14.80 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง
กดอ่านข่าวต้นฉบับจาก InfoQuest





หุ้นเอเชียดิ่งลงท่ามกลางความไม่แน่นอนของจีน หุ้นออสเตรเลียทำผลงานดีกว่า
Investing.com -- หุ้นเอเชียส่วนใหญ่ร่วงลงในวันพฤหัสบดี โดยดัชนีจีนได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่เลวร้ายลง ขณะที่หุ้นออสเตรเลียพุ่งขึ้นจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ
ดัชนี CSI 300 และ เซี่ยงไฮ้คอมโพสิต ของจีนร่วงลงประมาณ 0.2% ต่อดัชนี ซึ่งฉุดรั้งตลาดหุ้นประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคในสัปดาห์นี้ เนื่องจากตลาดกลัวว่าความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกจะถดถอยลงอีก จีนขู่ว่าจะมีการตอบโต้หากไช่ อิงเหวินประธานาธิบดี ของไต้หวันจะพบกับเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเยือนอเมริกาในสัปดาห์นี้
จีนได้ทำการซ้อมรบหลายครั้งใกล้กับไต้หวันในเดือนสิงหาคม หลังจาก แนนซี่ เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เยือนไทเป แต่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งและวอชิงตันก็ดูแย่ลงท่ามกลางความขัดแย้งเรื่องบอลลูนสอดแนม เช่นเดียวกับการบังคับใช้ข้อจำกัดทางการค้าของสหรัฐฯ ต่ออุตสาหกรรมการผลิตชิปของจีน
ถึงกระนั้น คำสัญญาว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นช่วยจำกัดการขาดทุนในหุ้นจีน หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีกล่าวที่งานฟอรั่ม Boao โดยย้ำว่าประเทศจะยังคงกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศและผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป
สัปดาห์นี้จุดสนใจพุ่งไปที่ข้อมูลกิจกรรม ภาคการผลิต และ ภาคบริการ ของจีนในเดือนมีนาคมเป็นส่วนใหญ่ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะค่อย ๆ ดีขึ้น รายงานของสื่อเมื่อเร็ว ๆ นี้ชี้ให้เห็นว่าการฟื้นตัวที่คาดหวังในจีนอาจไม่เด่นชัดอย่างที่ตลาดคาดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ประเทศกำลังต่อสู้กับอุปสงค์การส่งออกทั่วโลกที่ซบเซา
ดัชนี ฮั่งเส็ง ของฮ่องกงลดลง 0.5% แต่หุ้นของ Alibaba Group (HK:9988) (NYSE:BABA) เพิ่มขึ้น 0.6% เนื่องจากบริษัทได้สรุปรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการแยกออกเป็น 6 ทาง
หุ้นออสเตรเลียเป็นหุ้นที่มีผลประกอบการดีที่สุดในวันนี้ โดยดัชนี ASX 200 เพิ่มขึ้น 0.9% จากการคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นว่าธนาคารกลางจะหยุดรอบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราวภายในเดือนเมษายน
นักวิเคราะห์ลดความคาดหวังลงสำหรับอัตราสุดท้ายในออสเตรเลีย เนื่องจากมีสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อถึงจุดสูงสุดและการเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลง ขณะนี้ RBA คาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งก่อนที่จะประกาศหยุดชั่วคราว
หุ้นเอเชียอื่น ๆ ถอยกลับ โดย ดัชนีนิคเคอิ 225 ของญี่ปุ่น ร่วง 0.8% เนื่องจากนักลงทุนขายเพื่อทำกำไรต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ หุ้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความเสี่ยงสูงก็ร่วงลงเช่นกัน โดยตลาดหุ้น มาเลเซีย และตลาดหุ้น ไทย ร่วงลงอย่างละ 0.2%
ดัชนีภาคเทคโนโลยีได้รับแรงหนุนจากการแรลลี่ข้ามคืนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ซึ่งได้รับแรงกระตุ้นจากความกลัวเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ธนาคารที่ผ่อนคลายลง ดัชนี KOSPI ของเกาหลีใต้และ Taiwan Weighted เพิ่มขึ้นประมาณ 0.5% และ 0.3% ตามลำดับ





ดาวโจนส์ปิดบวก 141.43 จุด หุ้นเทคโนฯพุ่งหนุนตลาด
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดที่ 32,859.03 จุด เพิ่มขึ้น 141.43 จุด หรือ +0.43%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,050.83 จุด เพิ่มขึ้น 23.02 จุด หรือ +0.57% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,013.47 จุด เพิ่มขึ้น 87.24 จุด หรือ +0.73%
หุ้น 10 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้น 1.14% ทั้งนี้ หุ้นไมโครซอฟท์ พุ่งขึ้น 1.26% หุ้นเมตา แพลตฟอร์มส์ ดีดขึ้น 1.21% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ พุ่งขึ้น 1.93% หุ้นแอปเปิ้ล บวก 0.99%
หุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิปปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหุ้นอินวิเดีย พุ่งขึ้น 1.48% หุ้นเอเอ็มดี ดีดขึ้น 1.86% หุ้นอินเทล พุ่งขึ้น 1.8%
 
ทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอเมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 7,000 ราย สู่ระดับ 198,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 195,000 ราย ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐเริ่มคลายความร้อนแรง
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2565 โดยระบุว่า GDP ขยายตัว 2.6% ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งมีการขยายตัว 2.9% และ 2.7% ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลง หลังจากสื่อรายงานว่าคณะบริหารของปธน.ไบเดนได้เสนอมาตรการกำกับดูแลธนาคารขนาดกลางให้มีความเข้มงวดมากขึ้นโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ซึ่งรวมถึงการออกกฎระเบียบให้ธนาคารกลุ่มนี้ต้องเพิ่มสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและเพิ่มฐานเงินทุน รวมทั้งต้องเข้ารับการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) เพื่อลดความเสี่ยงในระบบธนาคาร

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส เตือนว่า แม้ขณะนี้ความเสี่ยงที่อันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในภาคธนาคาร จะอยู่ในกรอบจำกัด แต่หากวิกฤตการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อยาวนาน ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจและสถานะการคลังของสหรัฐอ่อนแอลง และจะส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐในที่สุด
 
ทั้งนี้ ดัชนี S&P500 banking index ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารที่คำนวณใน S&P500 และดัชนี KBW regional banking index ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารระดับภูมิภาค ปรับตัวลง 0.3% และ 2% ตามลำดับ
นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนก.พ.ในวันนี้ เวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพราะสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)











แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่