[CR] No.10 The Florida Project : แดนสวรรค์ ฝันสลาย สะเทือนยาใจคนจร


จากที่ดูแค่ภาพโปสเตอร์เพียงอย่างเดียว ในความคิดของผมคงนึกว่าเหมือนกับมันเป็นภาพของโครงการหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งที่รายล้อมด้วยท่งหญ้าสวันนาอันแสนกว้างใหญ่ แถมมีโปรโมชั่นนำเสนอชักชวนยวนใจขายฝันให้แก่คนรากหญ้าที่ต้องการจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่าเทียมกับคนรวย จากที่ปรากฎตามสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายริมทาง , โทรทัศน์ , อินเตอร์เน็ต , ใบปลิว หรือปากต่อปาก แล้วให้เราจินตนาการนึกตามราวกับว่าเรามีบ้านหลังใหญ่กลางทุ่งดอกลาเวนเดอร์ สมาชิกในครอบครัวพร้อมหน้าร่วมใจกันวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนานด้วยรอยยิ้มที่สดใส แต่หลังจากที่ดูเรื่องนี้จบแล้วภาพความคิดอันสวยหรูที่ได้มโนไปก่อนหน้านี้ กลับหายไปทันที สมกับชื่อเรื่องว่า แดน (ไม่) เนรมิต ซะจริง ๆ

เรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับควบทั้งตำแหน่งเขียนบทไปด้วยของ Sean Baker ที่ยังคงนำเสนอประเด็นเรื่องราวปัญหาทางสังคมได้ลึกซึ้งอีกเช่นเคย โดยเฉพาะการหยิบจับปัญหาที่สังคมไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่ เช่น Tangerine (2015) เล่าถึงชีวิตของสาวประเภทสอง 2 คนที่มีอาชีพขายบริการ หรือเรื่องล่าสุดอย่าง Red Rocket (2021) ก็เล่าถึงอดีตนักแสดงหนังโป๊ตกอับที่พยายามหาทางจะกลับเข้าสู่วงการหนังโป๊อีกครั้ง ซึ่ง The Florida Project ก็ยังนำเสนอชีวิตของคนชนชั้นล่างผ่านตัวแม่ลูกคู่หนึ่งที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์อีกเช่นกัน แถมสิ่งที่เหมือนกันอีกก็คือตัวละครเอกต่างเป็นคนชนชั้นล่างที่คลุกคลีอยู่กับวงจรอบายมุขแถมมีฉากหลังเป็นเมืองใหญ่ ๆ ที่รายล้อมด้วยตึกราบ้านช่องสมลัมโจรอีกเช่นกัน  ขณะเดียวกันสาระที่สื่อออกมาแต่ละเรื่องสามารถทำให้เราจับใจความ Details ที่ซ่อนอยุ่เหล่านั้นที่จับต้องได้จริง ไม่เสแสร้ง ดัดจริต แถมจิกกัด เสียดสีความไม่เท่าเทียมกันในสังคมปัจจุบันด้วยมุกตลก หรือ การทำตัวขวางโลกของตัวละครแบบบ้าน ๆ ได้อย่างเจ็บแสบจนหน้าชาไปข้างนึง ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังสามารถทำหน้าที่นำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นได้แสบสันต์และจริงจังเป็นอย่างดีเช่นเคย ถ้าให้คำนิยามแก่เรื่องนี้ก็คือ Alice in Wonderland ใน เวอร์ชั่นยาจกที่ไม่ได้สวยหรูตามชื่อไปด้วยนั่นเอง

ถึงเนื้อในเรื่องจะขยันหาขยี้วิพากษ์วิจารณ์สังคมกันต่อเนื่อง แต่ระยะทางก็ได้ใส่เพลงดนตรีประกอบฉากแทรกลงไปเป็นบางช่วงเพื่อลดทอนความตึงเครียดจากประเด็นเหล่านี้ออกไปได้สักพัก ซึ่งช่วยให้บรรยากาศมีความทันสมัย อินเทรนด์ตามกระแส Social อยู่ไม่น้อย บางเพลงฟังแล้วคุ้น ๆ หูอยู่แต่นึกชื่อเพลงไม่ออกจึงไปค้นหาใน Youtube กันต่อหลังจากดูจบ องค์ประกอบของการดำเนินเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น จังหวะมุมกล้องในการโฟกัสบางช่วงเหมือนมุมของสารคดี Documentary อยู่หน่อย ๆ บางช่วงก็ผสมกับเทคนิคมุมกล้องของโทรศัพท์มือถือ I-Phone ที่ผู้กำกับแกเคยใช้มาแล้วตอนเรื่อง Tangerine ซึ่งแอบคิดถึงกลิ่นอายของเรื่องนั้นเล็ก ๆ อยู่เหมือนกัน ด้วยทว่าในหนังมันมีเด็กเล็กลูกแดงเป็นตัวละครนำ ทำให้โทนเรื่องถูก Fight บังคับให้อ่อนโยนลง ทั้งที่สภาพความเป็นจริงมันโคตรโหดร้ายเลืดเย็นเกินกว่าจะเสแสร้งเป็นคนโลกสวยต่อไปได้


นักแสดงในเรื่องเล่นดีเป็นธรรมชาติมาก ทั้ง คุณลุง Willem dafoe จาก The Lighthouse (2019) รับบทเป็นเจ้าของอพาร์ทเมนต์แฟนซี ถึงลุงจะหน้าดุ แต่ใจดีนะจะบอกให้ แถมคอยตักเตือนดูแล 2 แม่ลูกอยู่บ่อย ๆ เหมือนเป็นพ่อคนนึง , คุณแม่ Bria Vinaite จาก The OA Series (2019) รับบทเป็น คุณแม่วัยรุ่น หัวดื้อ ไม่แคร์ใคร ถึงนิสัยจะแรงตัวแม่แต่ก็รักลูกมาก ซึ่งเป็นการ Debut เรื่องแรกของเธอที่แสดงได้ดีเข้ากับบทแบบนี้มาก ส่วนคุณลูก Brooklynn Prince จาก The Lego Movie 2 : The second act (2019) แสดงได้น่ารัก มีความไร้เดียงสา ขณะเดียวกันก็แอบซ่อนความเปรี้ยวอมกวนเหมือนแม่ไม่มีผิด แถมเคมีประกบฉากคู่ทั้งคุณลุง Willem และคุณแม่ Bria ได้อย่างไม่เคอะเขิน  บทสนทนายังทันสมัยโดนใจวัยรุ่นยุค Social สุด ๆโดยเฉพาะฉากปะทะคารมนี้ยอมรับว่าสนุกมาก เถียงกันมันส์จัดจนแอบคิดว่าเล่นนอกบทหรือด้นสดกันหรือเปล่าอินขนาดนี้ 55 ถึงแม้ว่าโลเคชั่นจะใช้อยู่ที่เดียวคือ อพาร์ทเมนต์โดด ๆ ที่เป็นตัวหลักในการดำเนินเรื่อง แต่ใช้งานได้คุ้มค่ามาก มีแวะดูข้างทางด้วยสภาพแวดล้อม เช่น ร้านอาหาร , ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือ สวนสนุก ก็ตาม แต่ช่วงท้ายยอมรับว่าบทสรุปทำได้ค่อนข้างสะเทือนใจอยู่เล็กน้อย แต่อยากให้ขยี้ในส่วนนี้ให้มากกว่านี้ เข้าใจว่าคงเกรงใจผู้ปกครองที่พาเด็กมาดู แต่ก็อยากให้ชี้แนะเป็นกรณีศึกษามากกว่าว่าเรื่องเหล่านี้มันเกิดขึ้นจริง ๆ อาจจะกระทบต่อภาพลักษณ์ใส ๆ ที่เคยหลอกตามาตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่ยังไงก็ไม่สามารถปกปิดความจริงต่อไปได้อยู่ดี ขณะเดียวกันก็เห็นใจในชะตากรรมของตัวละครคู่แม่ลูกที่ผ่านอะไรมาก็เยอะ ถึงแม้ว่าจะก่อเรื่องเรียกตีนไว้มากมาย ก็เกลียดไม่ลงจริง ๆ ทำไงได้หลงรักในความซ่าส์ ความแสบของคู่นี้ไปแล้ว

สรุป ชอบมาก จากที่ดูมาแล้วทั้ง 3 เรื่องของผู้กำกับคนนี้ ผมชื่นชอบเรื่องนี้ที่สุด รองลงมาคือ The Tangerine (2015) และ Red Rocket (2021) เป็นลำดับสุดท้าย คงเป็นเพราะการเล่าเรื่องที่เรียบง่าย เข้าใจง่าย เดินเป็นเส้นตรง แถมมีเด็กเป็นตัวเดินเรื่องยิ่งรู้สึกเอาใจช่วยเป็นพิเศษ มีแวะข้างทางประปรายบ้างเพื่อเพิ่มสีสันไม่ให้เครียดจนเกินไป ภายนอกจะดูสดใสในมุมไร้เดียงสาของเด็ก ๆ แต่กลางทางมีจังหวะตลกร้ายผสมการเสียดสีทุนนิยมของพวกผู้ใหญ่อยู่เป็นระยะตัดสลับไปมา ไม่มีการเล่าย้อนอดีตของตัวละครคู่แม่ลูกใด ๆ เข้าไปเพิ่มเติม ข้อเสียตรงนี้ก็คือเราจะไม่ค่อยอินกับการกระทำของแม่นางให้รู้สึกสงสารอะไรมีแต่กลับเวทนา สมน้ำหน้ามากกว่า เพราะเปิดเรื่องมาเราจะเห็นภาพ 2 แม่ลูกยืนอยู่หน้าซุปเปอร์มาร์เก็ตทันที ซึ่งผมว่าถ้าใส่เป็น Background เพิ่มไปด้วยก็น่าจะเห็นข้อมูลอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับ 2 แม่ลูกให้มีมิติขึ้น อินไปด้วยมากกว่าเดิม
ส่วนประเด็นในเรื่องนี้ขยี้ได้น่าพอใจสำหรับผมแล้ว นักแสดงนำหลัก ๆ นี้หายห่วงเลยเพราะได้ลุง Willem Dafoe ช่วยสนับสนุนประคองเรื่องให้น่าติดตามไปตั้งแต่ต้นจนจบ แถมยังได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมปี 2018 อีกด้วย รวมถึงบทสรุปที่นอกจากสร้างความสะเทือนในใจแล้วยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันที่ล้อมรอบด้วยระบบทุนนิยม การแสวงหาคือหนทางที่จะไขว่คว้าโอกาสในเมืองหลวงฟ้าอมรที่เพรียบพร้อมด้วยสิ่งทันสมัยล่อตาล่อใจให้คนต้องการทำงานหาเงินแลกกับเงินทอง และ ชื่อเสียงทั้งสิ้น แต่เมื่อสวัสดิการไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนเพราะการขาดความเอาใจใส่ของภาครัฐ แอบยักยอกบางส่วนไปอุ้มชูให้อีกกลุ่มนึงแทนที่จะบริการให้ประชาชนได้รับสิทธิ์ทุกคน แถมยังดูถูกจากมนุษย์ด้วยกันเอง เพียงเพราะสถานะที่ต่างกัน จึงกลายเป็นช่องว่างของปัญหาในสังคมที่ผลักดันคนกลุ่มหนึ่งไปเป็นคนชายขอบโดยทันที ดูจบแล้วก็นำเก็บไปคิดทบทวนกันต่อเองครับ
ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านครับ เมื่อได้อ่านรับชมแล้ว สามารถกด Like กด Share ได้ที่เพจ True id Intrend ของผมชื่อ EMCONCEPT เพื่อเป็นกำลังใจในการรีวิวครั้งต่อไป ขอบคุณครับ
ชื่อสินค้า:   Review By EMCONCEPT
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่