ย้อนรอยประวัติศาสตร์ไปกับ “พระนคร ๒๔๑๐”

นอกจากความสนุก ความตลกเฮฮา และความดราม่าจนน้ำตาต้องไหลตาม ของละคร “พระนคร ๒๔๑๐”  แล้ว เรื่องราวยังสอดแทรกเนื้อหาสาระของประวัติศาสตร์ไทยเอาไว้ในบทละครด้วย แต่จะมีในฉากไหนบ้าง ช่องวัน 31 ขอรวบรวมเกล็ดเล็กๆ น้อยๆ มาฝากกัน

กองโปลิศคอนสเตเบิล
ในหลวงรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกองโปลิศตอนสเตเบิลหรือกองตำรวจรักษาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่ในการรักษาความสงบในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน และขึ้นอยู่กับการดูแลของกรมพระนครบาล ซึ่งคุณพระโปลิศ (ฌอห์ณ จินดาโชติ) พระเอกของเราเองก็ทำงานอยู่ในกองนี้เช่นเดียวกัน
 

บางกอกรีคอร์เดอร์ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของประเทศไทย
บางกอกรีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) เป็นหนังสือจดหมายเหตุ หรือ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของประเทศไทย ที่ตีพิมพ์เรื่องราวต่าง ๆ ของบ้านเมืองในช่วงนั้น ซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับนี้จัดพิมพ์โดย หมอบรัดเลย์ (Dr.Dan Beach Bradley,M.D.) มิชชันนารีชาวอเมริกา
 
แม่สื่อแม่ชัก
อาชีพแม่สื่อก็มีในบันทึกในจดหมายเหตุหมอบลัดเลย์ (The Bangkok Recorder) โดยอาชีพแม่สื่อ เป็นอาชีพที่นิยมเป็นอย่างมากของบรรดาคนแก่คนเฒ่าในสมัยก่อน มีหน้าที่ตอบสนองความต้องการของคนที่อยากมีคู่และคนที่อยากเห็นลูกหลานเป็นฝั่งเป็นฝา ได้ออกเรือน โดยแม่สื่อจะคอยทำหน้าที่จับคู่ที่เหมาะสมให้แก่ผู้ที่ว่าจ้าง ในการจับคู่ จะไม่จับคู่โดยสุ่มสี่สุ่มห้า แต่จะต้องมีการดูความเหมาะสมทั้งเรื่องความดี ความสามารถ และดูฐานะ การทำงานของแม่สื่อนั้นจะราบรื่นและสำเร็จก็ต้องอาศัยผู้ใหญ่จากทั้งสองฝ่ายให้รับรู้และ ให้การสนับสนุนอีกด้วย
 
ฟรานซิส จิตร ช่างชักรูป หรือช่างถ่ายภาพอาชีพคนแรกของไทย
หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร) หรือ นายจิตร หรือ ฟรานซิส จิตร  เป็นช่างภาพอาชีพคนแรกชาวไทย เป็นผู้เปิดร้านถ่ายรูปขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศด้วย โดยเปิดขึ้นในปี พ.ศ. 2406  โดยมีชื่อร้านว่า ห้องภาพฟรานซิศจิตรแอนด์ซัน (Francis Chit and Son) ซึ่งผลงานรูปถ่ายล้วนแล้วแต่เป็น ผลงานอันล้ำค่า ทั้งภาพบุคคล ภาพเหตุการณ์สำคัญ และสถานที่ต่างๆ ซึ่งยังสามารถหาชมผลงานได้ในปัจจุบัน ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
 
 
การค้าฝิ่น
การค้าฝิ่นและการเสพฝิ่นเกิดระบาดหนักในประเทศไทย เนื่องจากอังกฤษได้มีการนำฝิ่นมาบังคับขายให้กับชาวจีน ทำให้คนจีนเกิดการติดฝิ่นและในช่วงเวลานั้น  จึงได้มีการลักลอบนำฝิ่นเข้ามาฝ่ายเรือสินค้า เพื่อนำมาจำหน่ายให้แก่คนไทย จนคนไทยในสมัยนั้นเกิดการเสพและติดฝิ่นอย่างหนัก จนมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการห้ามคนไทยเสพและค้าฝิ่น แต่อนุญาตให้ชาวจีนค้าฝิ่นได้โดยที่ต้องมีการเสียภาษีให้แก่รัฐ ทำให้ช่วงเวลานั้นมีเงินภาษีจำนวนมากเข้าสู่รัฐ
 
โรงรับชำเราบุรุษ
สถานที่ประกอบการของโสเภณีในสมัยนั้น ส่วนใหญ่นำโดยคนจีน หลังจากนั้นก็มีการนำเอาวัฒนธรรมฝรั่งมาใช้ด้วย คือการเปิดโคมไฟสีเขียวหน้าร้านเพื่อบอกว่าร้านเปิดบริการเหล่านี้อยู่ในเวลากลางคืน แล้วก็เกิดเป็นคำพูดติดปาก นั่นคือ "ร้านโคมเขียว"
 
แฟชั่นฟันดำ
เนื่องจากคนไทยในสมัยก่อนนั้นนิยมเคี้ยวหมากเป็นชีวิตจิตใจ เรียกได้ว่ายามว่างเป็นต้องเคี้ยว และด้วยผลจากน้ำหมากและปูนแดงในหมากที่เคี้ยว ส่งผลให้ฟันของคนในสมันนั้นด่าง ไม่สวยงาม จึงมีการนิยมย้อมฟันดำเกิดขึ้น อีกทั้งยังมีความเชื่อว่า หญิงใดที่พร้อมออกเรือน ก็จะไปย้อมฟันให้ดำเพื่อปกปิดฟันด่างที่เกิดจากการเคี้ยวหมากด้วย
 
กุลาเผือก
กุลาเผือกหรือกุลาขาว เป็นคำที่คนไทยในสมัยก่อนใช้เรียกชาวต่างชาติที่มาจากโซนยุโรป เนื่องจาก ชาวฝรั่งนั้น มีผิวที่ขาว ผมสีบรอนด์ ที่แตกต่างออกไปจากชาวสยาม อย่างโนรี (ชาร์เลท) นางเอกของเรื่องที่มักโดนเรียกว่ากุลาเผือก  เธอจึงต้องออกตามหาครอบครัวที่แท้จริง  และนอกจากกุลาขาวแล้ว ก็ยังมีกุลาดำ ที่ชาวไทยในสมัยก่อนเรียกเรียกชาวต่างชาติที่มาจากอินเดียอีกด้วย
 
นี่เป็นเพียงสาระบางส่วนจากในละคร ซึ่งจะมีสาระคอยสอดแทรกอยู่อีกเพียบ  แล้วมาบันเทิงเริงใจ กับเรื่องราวของโปลิศหนุ่มใหญ่แห่งพระนคร ที่ต้องมาเจอกับ “โนรี” แม่สื่อตัวแสบ
🌸 ติดตามชม ละคร พระนคร ๒๔๑๐ ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี เวลา 20:30 น. ทางช่องวัน 31 และดูออนไลน์ทาง oneD 🌸
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่