The Seven Husbands of Evelyn Hugo สามีทั้งเจ็ดของอีฟลีน --- นิยายรสจัดจ้านที่ฉายภาพถึงความสัมพันธ์อันหลากหลาย

อันนี้ แท็กเต็มคาราเบลค่ะ
ทั้งหนังสือแปล รีวิวหนังสือ ความหลากหลายทางเพศ ความรักวัยทำงาน และ อืม... ครอบครัวก็คงจะได้อยู่นะ
 
 
ปีใหม่ที่ผ่านมานี้
ดิฉันไม่รู้จะให้อะไรลูกเป็นของขวัญดี เลยได้ไอเดียว่า เอาบัตรเครดิตแม่ไปก็แล้วกัน
แล้วก็เลือกของกันคนละชิ้นที่อยากได้

นางพญาเม่า
 
ลูกสาวคนโตสองคนดูกระดี๊กระด๊าดีใจ ที่ได้รับความไว้วางใจที่ได้หยิบจับและบริหารบัตรเครดิตแม่
เธอถามอย่างลังเลเพียงชั่วแว่บว่า “แล้วงบอยู่ที่เท่าไร”
ดิฉันอมยิ้มน้อย ๆ แล้วตอบกลับไปว่า “ดูตามความเหมาะสมก็แล้วกัน บัตรใบนี้ วงเงินนิดเดียว ถ้าหนักมือไป รูดไม่ผ่าน ลูกก็รับมือเอาเองนะ” 

 
อันนี้อารมณ์คล้าย ๆ poker นิด ๆ นะคะ แต่มันเป็นการเกทับแบบกลับข้าง 

 
ท้ายสุด เธอก็เลือกได้ของคนละชิ้น ชิ้นละพันนิด ๆ 
แล้วเธอก็เลือกของขวัญปีใหม่ให้ดิฉันโดยใช้บัตรเครดิตดิฉันเองนี่แหละรูดไป
เป็นหนังสือเล่มนี้ค่ะ
The Seven Husbands of Evelyn Hugo
ส่วนลูกคนรองก็เลือกชุดไพ่ tarot รูปแมวมาให้ดิฉัน 1 ชุด (โดยบัตรของดิฉันเองอีกเช่นกัน)
เฮ้อออออ...แล้วพวกเธอก็เรียกมันว่าเป็นของขวัญปีใหม่

 
อย่างไรก็ตาม
หนังสือมาถึงมือแล้ว   ดิฉันก็ต้องอ่าน เพราะลูกสาวที่เลือกเล่มนี้ให้บอกว่า
“ลูกอ่านแล้ว ทาง ebook สนุกนะหม่ามี้ มันเป็น best seller ด้วย”

 
จ้ะ... สนุกก็สนุก แม่จะลองดู





 
เล่มนี้ มันเป็นนิยายที่พูดถึง ดาราสาวดาวค้างฟ้าฮอลลีวู้ดอยู่คนหนึ่งชื่อว่า Evelyn Hugo ที่ตลอดชีวิตของการเป็นดาราของเธอ เธอแต่งงานมาแล้วเจ็ดครั้ง หรือจะพูดให้มันปากแบบนิตยสารแทบบลอยด์ ก็เห็นทีจะต้องเรียกเธอว่า “หญิงเจ็ดผัว” ล่ะค่ะ
 

 
อ่านไปได้ไม่เท่าไร ดิฉันก็บอกลูกว่า 
“หม่ามี้ว่า เล่มนี้น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของ Elizabeth Taylor ดาวค้างฟ้าวงการฮอลลีวูด ที่ในชีวิตจริงแต่งงานถึง 8 ครั้ง” 
แต่รายละเอียดกับเส้นเรื่องไม่ได้เป็นของเอลิซาเบธ เทย์เลอร์นะคะ เพียงแต่เอาบางส่วนบางตอน มาเขียนแบบได้แรงบันดาลใจจาก...ทำนองนี้
 
 
แม้ใครต่อใคร จะพากันเย้ยไพเรื่องคุณยายเอลิซาเบธ หรือ ขอเรียกสั้น ๆ ว่า ลิซ เทย์เลอร์ มีสามีมากมายราวกับปลากรายที่ตกเอาได้ง่าย ๆ ตามริมตลิ่ง
แต่ quote สุดเก๋ที่เป็นอมตะของคุณยายลิซในการตอบโต้เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ
 
“I've only slept with the men I've been married to. How many women can make that claim?”
“ชั้นนอนกับผู้ชายที่ชั้นแต่งงานด้วยเท่านั้น  ไหน ผู้หญิงสักกี่คนที่กล้าจะพูดอย่างนี้ออกมาได้บ้าง ?”

เพี้ยนชนแก้วเพี้ยนดีออก 
 
ธีมของเรื่องเดาไม่ยากค่ะ (หมายถึง  ทีแรกดิฉันก็คิดแบบนี้นะคะ แต่มันมี plot twist ตอนท้ายเรื่องที่อ่านแล้วสะอึกนึกไม่ถึงอยู่เหมือนกัน)

 
คือ เป็นเรื่องดาวค้างฟ้า เซ็กส์ซิมโบลชื่อดังคนหนึ่งของฮอลลีวูด ชื่อ อีฟลิน ฮูโก หรือนามสกุลเก่าคือ แฮเรร่า  ด้วยความที่เธอเป็นลูกของผู้อพยพชาวคิวบาที่พ่อแม่กระเฉือกกระสน (จงใจสะกดผิดเพื่อให้ผ่าน function สกรีนคำหยาบของพันทิปนะคะ) มานิวยอร์ค ตอนเด็ก ๆ อยู่แถว Hell’s Kitchen (ในวิกิ อธิบายว่า อยู่บล็อค 39 ระหว่างถนนสายที่ 10 และ 11 ทางตะวันตกของนิวยอร์ค ย่านที่เคยเป็นสลัมและเต็มไปด้วยความรุนแรง)
เธอใช้เต้าไต่ เพื่อไต่เต้าที่จะหลุดจากย่านนั้น มาสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เริ่มต้นจากอ่อยช่างไฟในกองแล้วจับผู้ชายขอตามเค้ามาในเมือง
จากนั้น ก็เริ่มพาตัวเองไปนั่งในร้านเก๋ ๆ จนมาเป็นสาวเสิร์ฟ หาทางเขยิบขึ้นไปเป็นตัวประกอบอดทน ตะเกียกตะกายหาโอกาสไปเรื่อย ๆ จนได้เล่นหนัง
 อีฟลิน พยายามสลัดกำพืดความเป็นละตินซึ่งอาจมีนัยถึงความเป็นพลเมืองชั้นสอง ความจนของตัวเอง ย้อมผมเป็นสีบลอนด์ เปลี่ยนนามสกุลจาก แฮเรร่า ที่สแปนิชสุด ๆ ให้มาเป็น ฮูโก ซึ่งฟังดูหรูเฟ่แบบฝรั่งเศส
 

 จากนั้น การผจญภัยในฮอลลีวูดของเธอก็เริ่มขึ้น และเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ 

เม่าหาบเร่เม่ากิจกรรมเม่าชอปปิ้งเม่าบัลเล่ต์
 

 หนังสือเล่มนี้ดีตรงไหน ?

 ปกติ เวลาอ่านหนังสือ ถ้ามันไม่ได้มีอะไรมาก ดิฉันมักอ่านเอาเรื่อง หรือ เอารส
บางเล่ม อ่านเอาเรื่อง ก็สนุก และได้ความรู้ 
แต่ถ้านักเขียนฝีมือแพรวพราวนิดนึง  มันจะได้รสวรรณศิลป์ และสนุกไปกับศิลปะการผูกเรื่องด้วย
แต่เล่มนี้ นอกจากอ่านเอาเรื่อง เอารส แล้ว ยังได้ “รหัส”ของความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่นิยายเรื่องนี้ผสมเข้ามาในเรื่องได้อย่างกลมกลืน และไม่ชวนให้รู้สึกว่า กำลังอ่านบทวิจารณ์หรือประวัติการวิวัฒนการทางสังคมอยู่

 
 ผ่านทางตัวละครหลักคือ อีฟลิน ฮูโก ...
 นิยาย มีการพูดถึง ประเด็นต่าง ๆ ที่สังคมสมัยนี้ให้ความสนใจอย่างเข้มข้น ทั้งเรื่อง 
- บทบาทระหว่างเพศ  
- พลวัตของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม   
- ความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) 
- ความไหลลื่นของเพศสภาพ (Gender Fluidity) 
- การไต่เต้าเพื่อเปลี่ยนชนชั้นทางสังคม (Social Mobility) 
- การบิดเบือนการรับรู้ข้อเท็จจริงของมวลชนผ่านกระบวนการให้ข่าวสารออกสื่อ
- คนดังที่เราเห็นตามบทสัมภาษณ์และภาพข่าว ชีวิตจริงของเค้า อาจจะคนละเรื่องกับที่เค้าออกมาพูด
อันนี้ ถ้าคุณผ่านชีวิตมามากพอ และพบเจอคนมากพอ คุณจะขำด้วยความสะใจว่า “เออ... ที่ไหน ๆ ในโลกมันก็เหมือนกันเนอะ”

 เพี้ยนขำหนักมาก
 
 
หัวข้อพวกนี้ เราอาจได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟัง ผ่านหนังสือ คอลัมน์ การสัมมนาที่ง่วงชวนเบื่อ  แต่พอเอามาตีแผ่ในรูปแบบนิยาย รวมถึง การเขียนบทสนทนาโต้ตอบได้เฉียบคม ยอกย้อนได้เจ็บ และตีแผ่ความเป็นมนุษย์ในหลายแง่มุม 
บางที คุณจะบอกว่า ตัวละครนี้มันช่างเห็นแก่ตัว สกปรก พร้อมหักหลังคนอื่นตลอดเวลา แต่ในตัวละครตัวเดียวกันนี้แหละ ที่คุณเห็นความเป็นมนุษย์ ความน่ารัก ความพร้อมจะแหกคนอื่น ฟาดฟัน ปัดสวะเพื่อปกป้องคนที่ตัวเองรัก
ทำให้คุณไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า พฤติกรรมบางอย่างของตัวละครที่ฉายออกมาในนิยายนี้ แม้มันจะดูเลวร้าย  แต่คุณจะอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า
“ถ้าคุณเป็นเค้าหรือเธอคนนั้น คุณจะทำอย่างเดียวกัน หรือเลวร้ายยิ่งกว่า ?”
 
 
ในเรื่องเดียวกันนี้ คุณจะเห็นมิติอันหลากหลายของความรัก ทั้งความรักเข้มข้น หลงใหลเนื้อหนังกันของชายหญิง  ความรักที่เกิดขึ้นท่ามกลางความหลากหลายทางเพศ  
- ผู้หญิงรักผู้ชาย รักอย่างไร  และถ้าจะใช้ผู้ชายเพียงเพื่อผลประโยชน์  ใช้อย่างไร   
- เลสเบี้ยนรักเกย์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ (จะเรียกว่าบริสุทธิ์ได้ไหม ? ในเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างใช้กันและกันบังฉากหลังของตัวเอง ?)  รักอย่างไร  
- ไบเซ็กช่วลรักทั้งเลสเบี้ยน รักทั้งชายแท้ได้อย่างไร ?
- ชาย (ซึ่งครั้งหนึ่งเคยคิดว่าตนเอง) แท้ มารู้ภายหลังว่า ตัวเองชอบเกย์ ? เค้าจะทำอย่างไร ?
ถ้าทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ามานี้ เป็นพ่อ เป็นแม่คุณ แล้วคุณเกิดไปรู้ความลับเข้า ? คุณจะทำอย่างไร ?
 
 

สนุกจริง ๆ ค่ะ ตอนท้ายมีทวิสต์ที่นึกไม่ถึงจริง ๆ อยู่ด้วย ถือว่าเป็นการหักมุม แต่ไม่หลงประเด็นของคนเขียนได้อย่างน่าทึ่ง
เล่มนี้ เป็นไม่กี่เล่มที่อ่านแล้ว ดิฉันจะแปลในใจตามไปด้วยตลอด คิดไปตลอดว่านี่ ถ้าเป็นภาษาไทย ชั้นจะแปล อย่างงี้ อย่างงี้ ถึงจะแซ่บ
แต่ช้าก่อน ... เช็คดูแล้ว  เล่มนี้สำนักพิมพ์อมรินทร์น่าจะออกฉบับแปลปีนี้ค่ะ
ใครขี้เกียจอ่านภาษาอังกฤษ ก็รอเล่มภาษาไทยจากนักแปลมืออาชีพนะคะ
 
 
 
 
ภาษาในเล่ม ไม่ยาก ไม่ง่าย เกินไป
มีการเว้นวรรคตอน แบบที่คุณอาจจะรู้สึกได้ว่า เป็นภาษาพูดแบบมีใครบางคนมานั่งเล่าเรื่องอยู่ข้าง ๆ คุณให้คุณฟัง
 
โดยรวม นิยายอาจไม่ได้เล่นคำ เล่นสำนวน อะไรจน non-native ที่ใช้ภาษาอังกฤษ
ปวดหัว แต่มีการใช้คำพรรณาแบบ figurative บางอย่างที่ดิฉันคิดว่าน่าสนใจเช่น ขอยกตัวอย่างหนึ่งในวรรคโปรด
The tears that come out of me feel as if they were decades in the making. It feels as if some old version of me is leaking out, letting go, saying good-bye in the effort of making room for a new me.
น้ำตาของฉันที่ไหลออกมา ให้ความรู้สึกราวกับว่ามันอัดอั้นสะสมมาหลายสิบปี มันรู้สึกเหมือน “ฉัน” ในเวอร์ชั่นเดิมกำลังรั่วไหลสลายจากร่าง  ปลดปล่อย และบอกลาเพื่อเว้นที่ว่างให้กับ “ฉัน”คนใหม่
 
 คำบรรยายฉากนี้ ทำให้ใจดิฉันกระหวัดนึกถึง คำที่เค้ามักจะบอกกันว่า เราในวันนี้ กับในอดีต และในวันพรุ่ง ไม่ใช่คนเดียวกัน
 เวอร์ชั่นเดิม ๆ ของความเป็นตัวเรา บางทีก็เปลี่ยนได้ หายได้ ราวกับเรามีอวตารนับร้อยนับพันสำรองในตัวเรา
 
 
 
 
 สรุปสั้น ๆ ก่อนต้องไปเปลี่ยนยางรถล้อหน้า  และไปรับลูกต่อ
เล่มนี้สนุกค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่