อวัยวะเพศกับการตั้งครรภ์



รู้จักและเข้าใจ อวัยวะ(เพศ)

นอกจากความรู้ในห้องเรียน วิวัฒนาการด้านสิ่งพิมพ์ การผลิตของเล่น และวีดิทัศน์จึงให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ อย่างไรก็ตามทำได้เพียงสัมผัสแค่อวัยวะเพศภายนอก (External Genital Organs) ที่เป็นโครงสร้าง (Structures) การเรียนรู้ที่ถูกจำกัดทำให้ไม่สามารถเติมเต็มความเข้าใจได้ทั้งหมด

ความเข้าใจในกลไกการทำงาน (Functions) ของอวัยวะ และกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) อื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่ภายในนั้น หากทำความรู้จักและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับมันก็จะทำให้เราจัดการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ความเปลี่ยนแปลงของทุกสิ่งย่อมเป็นไปตามอายุที่มากขึ้น ความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น การอักเสบติดเชื้อ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โรคที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศ การตั้งครรภ์ การแท้งบุตร ท้องนอกมดลูก และอื่น ๆ ล้วนเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกายและใจ  

อวัยวะ (เพศ)

อวัยวะ (Organs) ที่ได้รับการปกปิดมากที่สุดแม้ในยามปกติไม่เจ็บไม่ไข้ ปกปิดด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์กันมาตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ ตราบจนแม้กระทั่งเวลาสุดท้ายของชีวิต จะเปิดเผยก็เพียงเวลาชำระร่างกาย เวลาต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรค นั่นคืออวัยวะเพศ (Genital Organs) ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะอวัยวะเพศสตรีส่วนล่าง ใต้ระดับสะดือลงไป และเป็นอวัยวะในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ตั้งแต่เริ่มมีรอบระดูอายุ 12 ปี จนเข้าสู่วัยหมดระดู ซึ่งอายุประมาณ 50 ปี ในที่นี้ไม่รวมถึง เต้านม ซึ่งบางคนนับเป็นอวัยวะเพศ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงตามฮอร์โมนเพศ

หน้าที่ (Functions) ของอวัยวะ (เพศหญิง)

อวัยวะเพศ ของสตรีที่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก หน้าที่หลัก ๆ เป็นไปเพื่อการปกป้องอสุจิให้หลบอยู่ด้านใน เพื่อรอคอยการเจริญพันธุ์ โครงสร้างหลัก ๆ ได้แก่ 

แคมใหญ่ (Labia Majora) คอยปกปิด และ ปกป้องอวัยวะเพศอื่น ๆ ที่อยู่ข้างใน เมื่อเข้าวัยสาว เริ่มมี ขนเพศ ขนเพชร และมีต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน อยู่บริเวณนี้ เมื่อมีอารมณ์ทางเพศจะโหนกนูนขึ้นมา

แคมเล็ก (Labia Minora) อยู่ติดกัน โดยถัดเข้าไป คอยปกปิดช่องคลอดและท่อปัสสาวะ เยื่อบุแคมเล็กมีลักษณะอ่อนไหว ระคายเคืองและบวมได้ง่าย 

ต่อมเมือกบาร์โธลิน (Bartholin’s Gland) อยู่ลึกลงไป ใต้ต่อแคมเล็ก รูเปิดอยู่ที่สองข้าง ระบายน้ำเมือกซึ่งมีหน้าที่หล่อลื่นและสร้างความชุ่มชื้น ต่อมนี้มีหน้าที่สร้างและหลั่งน้ำเมือกออกมาเวลามีอารมณ์ทางเพศ ปกติคลำไม่เจอ ยกเว้นมีการอุดตันท่อระบายทำให้เกิดเป็นถุงน้ำ หรือ ซีสต์ (Bartholin’s Cyst) หากมีเชื้อโรคเข้าไปในถุงน้ำก็จะเกิดการอักเสบติดเชื้อ กลายเป็นฝีหนองได้ อาการของการอักเสบ (Abscess) สังเกตไม่ยาก คลำพบเม็ดหรือก้อน ขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ปวดมากขึ้น บวมแดง และอาจจะมีหนองไหลออกมา

คลิตอริส (Clitoris) อยู่จุดบรรจบกันด้านบนของแคมเล็ก ยื่นออกมาเป็นปุ่มนูน มีความบอบบางและอ่อนไหวต่อสัมผัส เมื่อถูกกระตุ้นแล้วแข็งตัว ตั้งชันขึ้นมาได้ อวัยวะนี้สามารถเทียบได้กับองคชาติของเพศชาย 

พรีพิวส์ (Prepuces) ด้านเหนือคลิตอริส มีผิวหนังคลุมอยู่ ลักษณะเหมือนฮู้ด (Hood) เสื้อกันหนาว เรียกอวัยวะนี้ว่าว่า พรีพิวส์ (Prepuces) ทำหน้าที่ปกป้องคลิสตอริส นอกจากนี้ยังมีบทบาทรับรู้การสัมผัส กระตุ้นความต้องการทางเพศ นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน เพศชายก็มีพรีพิวส์คอยปกคลุมปลายองคชาติอยู่เช่นเดียวกัน 

ช่องคลอด (Vagina) ซึ่งอยู่ถัดเข้าไป เชื่อมกับปากมดลูก ผนังช่องคลอดปกติแนบติดกัน แต่ขณะมีเพศสัมพันธ์หรือคลอดบุตรธรรมชาติ ช่องคลอดสามารถยืดหยุ่นและขยายได้มาก อวัยวะนี้ไม่มีต่อมเมือก ไม่มีปลายประสาทรับความรู้สึกใด ๆ สารคัดหลั่ง (Secretion) ที่ออกมาจากผนังช่องคลอดเกิดจากการคั่งของเส้นเลือดฝอยรอบ ๆ สารน้ำในระบบไหลเวียนเลือด จึงซึมผ่านช่องว่างระหว่างเซลล์เยื่อบุออกมาได้

มดลูก (Uterus) เป็นตำแหน่งที่ตั้งครรภ์ ซึ่งมาจากการที่ตัวอ่อนฝังตัวลงไปในเยื่อโพรงมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกนี้เองหากมีการตกไข่สม่ำเสมอและยังไม่ตั้งครรภ์ก็จะมีรอบระดูมา 

ปากมดลูก (Cervix) เป็นด่านคัดอสุจิ เป็นทางผ่านอสุจิ เข้าไปในโพรงมดลูด ในขณะเดียวกันก็เป็นทางผ่านไหลออกของเลือดระดู  

รังไข่ (Ovary) โยงออกมาจากสองข้างของมดลูก โครงสร้างเป็นลักษณะเกือบแบน สร้างฮอร์โมน และ ตกไข่ (Ovulation) ซึ่งหมายถึงการปลดปล่อยเซลล์ไข่จากรังไข่

ท่อนำไข่ หรือ หลอดมดลูก (Uterine tube) มีลักษณะหลอด ช่องภายในแคบ ๆ เชื่อมมาจากสองฝั่งของโพรงมดลูกเพื่อยื่นออกไปยังรังไข่ทั้งสอง เป็นทางลำเลียงเซลล์ไข่เข้าสู่โพรงมดลูก และ อสุจิจากโพรงมดลูกไปหาเซลล์ไข่ เป็นตำแหน่งที่เกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติ เมื่อปฏิสนธิแล้ว จึงขนส่งตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อฝังตัวในเยื่อบุ และตั้งครรภ์ต่อไป

คอปัส ลูเตียม (Corpus luteum) หลังตกไข่ไปแล้ว ฟองไข่ก็จะผลิตโปรเจสเตอโรนซึ่งจะไปมีผลดีต่อมดลูก เปลี่ยนสภาพเยื่อบุโพรงมดลูกให้เหมาะสมกับการฝังตัวอ่อน ถ้ารอบระดูนั้นเกิดปฏิสนธิและตั้งครรภ์ขึ้น ฮอร์โมนของการตั้งครรภ์จะส่งสัญญาณไปบอก Corpus luteum ให้คงสภาพอยู่ ทำให้ยืดอายุของคอปัส ลูเตียม และเพิ่มการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตอโรนเพื่อพยุงการตัวอ่อนในครรภ์ให้เติบโตต่อไป 
เมื่อไม่มีการปฏิสนธิวงจรนี้ก็สิ้นสุดลง โดยเยื่อบุโพรงมดลูกจะหยุดการเจริญเติบโตและหลุดลอกออกมาเป็นเลือด ซึ่งเรียกว่า ระดู ประจำเดือน หรือ เมนส์ (Menstrual Blood)

ทางการแพทย์ยังมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องและลงลึกไปกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็น วงจรการตอบสนองทางเพศ ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นกระบวนการหนึ่งของการเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีหัวเรื่องที่สำคัญ ๆ อีก เช่น การคุมกำเนิด การวางแผนครอบครัว การเตรียมความพร้อมก่อนการมีบุตร การรักษาผู้มีบุตรยาก การเข้าสู่วัยหมดระดู จะได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป

ผู้เรียบเรียง : การนำเสนอบทความนี้เป็นไปเพื่อให้ความรู้กับบุคคลทั่วไป
ที่มา iBaby Fertility and Genetic Center
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่