รีวิวหนัง 'Blue Again'



ถ้าไม่นับเรื่องที่หนังยาวมาก (3 ชม.)  Blue Again จัดเป็นหนังไทยที่ถ่ายทอดเรื่องความสัมพันธ์ได้ดีที่สุดเรื่องนึงเลย

หนังมีพล็อตหลักคือ “เอ” เด็กสาวลูกครึ่งจากสกลนคร ที่บ้า่นมีกิจการย้อมผ้าครามขนาดย่อม และเข้ามาเรียนแฟชั่นดีไซน์ในกรุงเทพ ได้พบกับเพื่อนใหม่ “แพร” เธอต้องดิ้นรนเพื่ออยู่รอดทั้งในแง่การเรียน การเข้าสังคม หรือการทำธุรกิจแบรนด์ผ้าครามของตัวเอง และเต็มไปด้วยพล็อตรอง เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัว การล่มสลายของสังคมชนบท BFF หนุ่ม “สุเมธ” ที่กำลังเผชิญวิกฤตศรัทธา

– หนังเรื่องนี้มันเต็มไปด้วย “คนนอก” ในรั้วมหา’ลัย คาแร็กเตอร์เอ (นางเอก) หรือหนุ่มคอสเพลย์ “กันต์” เป็นคนประเภทเพื่อนไม่คบ (อย่างกันต์นี่ตามเรื่องถือว่าเกิดเร็วไป 5 ปี ถ้าเป็นตอนนี้เขาจะคูลมาก) หรือแม่ของนางเอกที่เคยมีสามีเป็นฝรั่งแล้วถูกทิ้ง ก็มีปมในใจ ถูกคนในหมู่บ้านมองไม่ดี และใช้ชีวิตอย่างหมดหวัง (ชาวชมรมโยกย้ายรุ่นพี่ 555) สุเมธเติบโตในครอบครัวคริสต์ พ่อแม่เคร่งศาสนา แต่ดั๊นอยากไปบวชพุทธให้ยาย

– จริง ๆ รั้วมหา’ลัยนี่ก็คงเป็นซีนาริโอที่จำลองภาพสังคมไทยได้ดี หลายฉากถ่ายทอดได้โดนใจดี ก่อนจะเข้าสู่ยุค 2020 ที่ชาวเน็ตเริ่มถกเถียงกันถึงบุคลิกต่าง ๆ เช่น Introvert หรือบุคลิก 16 แบบของ MBTI สังคมไทยนี่มี low tolerance หรือการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายต่ำมาก โคตรที่สุดแห่งความยัดเยียด และโคตรแห่งการ Bully ไอ้ฉากรับน้องที่ดูในหนังช่วงแรกนี่เห็นแล้วขึ้นเลย 

แล้วยุคนั้นพวกคนที่ก้มหัวให้ทำตามระบบ(ที่ไม่มีเหตุผล)มันมักจะได้ดีกันจริง ๆ ส่วนคนที่แข็งขืนต่อต้าน(แม้จะด้วยเหตุผล) ก็จะถูกกีดกันออกไป ไม่รับเข้ารุ่นบ้าง ไม่คบค้าสมาคมบ้าง อะไรบ้าง ถามว่าแล้วพอเรียนจบมันมีผลมั้ย? ก็อาจไม่มากแต่ก็มีแหละ ทุกวันนี้มันก็ยังมีไอ้ระบบ Seniority มีการโปรสถาบัน ประเทศนี้เป็นที่ที่ต่อให้เก่งแค่ไหนแต่ถ้าคุณไม่มี connection เลย คุณจะรุ่งโคตรยาก (ในหนังก็สะท้อนผ่านตัวละคร “แพร” ที่อยู่เป็น ก็จะค่อย ๆ ถูกระบบกลืนเข้าไป)

อิงชีวิตจริง คือ ตอนเข้ามหา’ลัยใหม่ ๆ จะไม่ค่อยรู้สึกอะไรหรอก แต่พออยู่ไปสักพักเราจะค่อย ๆ เห็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมมันถ่างขึ้นเรื่อย ๆ เด็กที่มาจากชนบท หรือฐานะทางบ้านยากจน คุณก็จะค่อย ๆ ถูกกีดกันออกไป หรือไม่ก็ can’t afford เข้าสังคมกับเพื่อนที่มีฐานะไม่ได้อยู่ดี

– ในฐานะคนคาทอลิก เคยได้ยินเกี่ยวกับจังหวัดสกลนครมานาน แล้วหนังเรื่องนี้ครึ่งเรื่องใช้สกลนครเป็นแบ็คกราวด์ พิธีแห่ดาวคือสวยมาก เห็นแล้วอยากไปเที่ยวเลย (ฟีลชุมชนคริสต์ในหนังเรื่องนี้เห็นแล้วแอบนึกถึงหนัง “ร่างทรง” ที่ฉายเมื่อปีก่อน)

– สิ่งที่ชอบอีกอย่างในหนังเรื่องนี้ คือ การถ่ายทอดธุรกิจท้องถิ่น “ผ้าคราม” ซึ่งก็ฟีลเดียวกับที่คนกรุงหรืออินฟูลเอนเซอร์ชนชั้นกลางชอบพูดถึงการปลูกข้าวหรือชีวิตชนบทแบบ Romanticize แต่ในหนังเรื่องนี้ถ่ายทอดแบบ #ช็อตฟีล คือค่อนข้าง Realistic มันพูดถึงคน 3 เจนที่อยู่ในวัฎจักรนั้น เจนแรก (รุ่นปู่ยาตายาย) แก่จนทำไม่ไหวแล้ว ส่วนเจนที่สอง (รุ่นพ่อแม่) กายยังไหว แต่หมดใจ เพราะกัดก้อนเกลือกินมานาน ส่วนเจนสาม (รุ่นลูก) มีไฟ ใจสู้ ความรู้มี แต่มันไม่มีทรัพยากรหรือการสนับสนุน (ถ้าใช้ศัพท์หรูสมัยนี้ก็คือไม่มี Ecosystem รองรับ) ตัวละครอย่างเอ หรือสุเมธ คือเป็นคนมีความฝัน แต่ที่บ้านเกิดมันไม่มีอาชีพหรือสภาพแวดล้อมที่จะช่วยให้เขาสานฝันได้

[[ #SPOIL ]] [[ #SPOIL ]] [[ #SPOIL ]]
– สิ่งที่จะเพื่อนหรืออาจารย์ตัดสินเอเรื่องการทำผ้าคราม ซึ่งหนังก็ได้อธิบายให้คนดูอย่างเราเข้าใจ (แต่ถ้าดูในหนังจะเหมือนว่าคนรอบข้างแทบไม่อิน ไม่เก็ทกันเลย) จะว่าไปมันก็สามารถนำมาเป็น Metaphor ถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้นะ อย่างในหนังเอพยายามจะอธิบายว่าที่เร่งไม่ได้ เพราะการทำผ้าครามมันต้องใช้ความพิถีพิถัน ไหนจะเรื่องผลกระทบของฤดูกาลต่อการเพาะปลูก (ซึ่งประเด็นนี้นี่โคตรร่วมสมัยเลยนะ Climate Change) ไปจนถึงการล่มสลายของสังคมชนบท ในเรื่องเราจะเห็นว่าแม่เอถอดใจแล้ว นางก็จะทำแบบแกน ๆ ที่ทางก็เหมือนจะทยอยขายไปทีละแปลงสองแปลง #ฉันใดก็ฉันนั้น เหมือนที่เราเห็นวิวาทะตามเน็ต ที่มีคนวิจารณ์ชาวนา เกษตรกรว่าขี้เกียจบ้าง ไม่ปรับตัวบ้าง บลา ๆ ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ไปสนใจใยดีว่าพวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาอะไร หรือผ่านอะไรมาบ้าง ก็ตัดสินกันไป (เคสล่าสุดนึกถึงที่พ่อค้าแม่ค้าโดนหลอกขายฝันในงานเทศกาลดนตรีเขา ๆ ใหญ่ ๆ นั่นอ่ะ พวกคนวิจารณ์นี่เก่งกันจริ๊ง know how = ศูนย์ แต่ educate = เกินร้อย 555)

– แต่หนังมันก็แฟร์ ๆ ดีนะ คือหนังมันก็ไม่ได้ชูให้นางเอกเป็นแม่พระ หรือถูกกระทำฝ่ายเดียว ตัวนางเอก (เอ) เองก็มีนิสัยเสีย #สาวทรงแบด 555 คือนางเป็นคนแรง ๆ เอาแต่ใจตัวเอง มีปัญหาด้านการสื่อสาร ซึ่งก็ทำให้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทอย่างแพร ชอบมากที่มีคนอุปมาถึงนางเอกว่า “เอเป็นคนที่เข้าใจครามเป็นอย่างดี แต่กลับไม่เข้าใจผู้คนรอบข้าง”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่