👒มาลาริน👒หมอ ยง”เตือนจับตาโควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.5 ระบาดในไทย/ วีซ่าสำหรับดิจิทัลโนแมด: แนวโน้มของโลกยุคหลังโควิด-19

น่าห่วง!! “หมอ ยง” เตือนจับตาโควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.5 ระบาดในไทย


เมื่อวันที่ 21 ม.ค.66 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสเฟซบุ๊ก กล่าวถึง โควิด -19 สายพันธุ์ XBB.1.5 ว่า สายพันธุ์ ไวรัสโควิด-19 XBB.1.5 เป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่ายมาก ขณะนี้เป็นสายพันธุ์หลักในอเมริกา สายพันธุ์นี้ติดต่อได้ง่าย มีอำนาจในการแพร่กระจายสูง และหลบหลีกภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนได้มากที่สุด

หรือกล่าวได้ว่าไม่ว่าจะฉีดวัคซีนแล้วหรือเคยเป็นโควิดมาแล้ว โอกาสที่จะเป็นซ้ำด้วยสายพันธุ์นี้จึงมีสูงกว่าสายพันธุ์อื่นทำให้แพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ความรุนแรงของโรคไม่ได้เพิ่มขึ้น

ประเทศไทยสายพันธุ์หลักยังเป็น BA.2.75 ณ วันนี้ ดังแสดงในรูป ผลงานที่ศูนย์

เรามีการเปิดประเทศเดินทางไปมา จึงเป็นการยากที่จะป้องกันสายพันธุ์ XBB.1.5 ไม่ให้มาระบาดในประเทศไทย และจะทำให้การติดเชื้อเพิ่มขึ้น

ทางศูนย์แยกสายพันธุ์ XBB.1.5 ได้จากหญิงไทยที่เดินทางกลับจากอเมริกาเมื่อหลังปีใหม่ เมื่อมาถึงก็ป่วยทางเดินหายใจอักเสบ ไอ เจ็บคอ ตรวจ ATK เองได้ผลลบ จึงมาโรงพยาบาล ผลการตรวจ real time RT-PCR ตรวจพบไวรัสมีปริมาณค่อนข้างสูง Ct = 14 จึงได้ทำการถอดรหัสสายพันธุ์พบเป็น XBB.1.15 ดังแสดงในรูป

เราเดินทางไปมาข้ามประเทศเป็นจำนวนมาก คงจะหนีไม่พ้นในการระบาดของสายพันธุ์ต่อไปที่เป็น XBB.1.5

ผู้ที่เดินทางมาจาก อเมริกาและยุโรป ถ้าป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ จะต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติตน เพื่อลดการแพร่กระจายของสายพันธุ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะจะทำให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้น

https://siamrath.co.th/n/416694

วีซ่าสำหรับดิจิทัลโนแมด: แนวโน้มของโลกยุคหลังโควิด-19

 
 
ดิจิทัลโนแมด (Digital Nomad) เป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1997 และแพร่หลายขึ้นอย่างรวดเร็วนับจากนั้น เพื่อเรียกผู้ย้ายถิ่นที่มีวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัล และไม่ยึดติดกับสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง (Location-independent) โดยการทำงานของกลุ่มบุคคลดังกล่าวต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เทคโนโลยีการประชุมทางไกล และใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อส่งมอบบริการผ่านเครือข่ายการประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) ในระบบออนไลน์ไปยังผู้ว่าจ้าง โดยทั่วไปดิจิทัลโนแมดจะแตกต่างจากแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers) เนื่องจากไม่ได้ทำงานหารายได้ในสถานที่ที่ตนอาศัยอยู่ในช่วงเวลานั้น ๆ แต่มีรายได้จากนายจ้างในต่างประเทศ โดยมีรูปแบบการทำงานทางไกล (Remote Work) เช่น การทำงานที่บ้าน (Work from home) หรือการทำงานในต่างประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เป็นต้น โดยอาจเป็นพนักงานขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) ซึ่งรับงานจากผู้ว่าจ้างหลายรายก็ได้ นอกจากนี้ ดิจิทัลโนแมดยังอาจเป็นผู้ประกอบการในลักษณะธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) ก็ได้ โดยดิจิทัลโนแมดมักเป็นคนหนุ่มสาวที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศควบคู่ไปกับการทำงานทางไกล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กลุ่มดิจิทัลโนแมดได้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เทคโนโลยีดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) เข้ามาทดแทนการผลิตในรูปแบบเก่า ทำให้ธุรกิจในโลกยุคใหม่สามารถขับเคลื่อนได้บนโลกออนไลน์ โดยเชื่อมโยงผู้ที่ทำงานทางไกล (remote workers) จากทั่วทุกมุมโลกเข้าด้วยกัน

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 เป็นต้นมา ส่งผลให้องค์กรต่างๆ ทั่วโลก ต้องปรับรูปแบบการทำงานแบบยืดหยุ่น โดยอนุญาตให้มีการทำงานที่บ้าน (work from home) และการทำงานทางไกล (remote work) โดยผู้ที่ทำงานในลักษณะดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.9 ของผู้ที่มีงานทำทั่วโลกในช่วงก่อนโควิด-19 เป็นร้อยละ 17.4 ในช่วงไตรมาสสองของปี 25631 ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มที่ทำงานทางไกลมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมดในช่วงที่มีการระบาดรุนแรง แม้ว่าภายหลังสถานการณ์ของโควิด-19 จะคลี่คลายลง และแรงงานส่วนใหญ่จะกลับไปทำงานตามปกติ แต่คนจำนวนมากก็ยังเลือกที่จะทำงานทางไกลต่อไป โดยองค์กรเอกชนจำนวนมากอนุญาตให้พนักงานของตนทำงานแบบยืดหยุ่น โดยทำงานทางไกลได้ หรือทำงานในลักษณะผสม (Hybrid) ที่ต้องเข้าออฟฟิศในบางเวลา ด้วยเหตุนี้ แรงงานที่มีทักษะจำนวนมากได้ผันตนเองมาเป็นดิจิทัลโนแมดที่เดินทางไปพักอาศัยและทำงานในประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นระยะ ๆ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ เพิ่มเติมว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของดิจิทัลโนแมดซึ่งเป็นแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี อีกทั้งนิยมพักอาศัยในแต่ละประเทศเป็นเวลานานหลายเดือน ทำให้เป็นกลุ่มผู้ย้ายถิ่นที่ได้รับความสนใจจากหลายประเทศ ทั้งในฐานะนักท่องเที่ยวระยะยาว (long-stay tourist) และแรงงานที่มีทักษะต่างชาติ (foreign talent) ที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและอาจเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างเครือข่ายกับกลุ่มธุรกิจท้องถิ่น ทำให้บางประเทศออกวีซ่าพิเศษสำหรับกลุ่มดิจิทัลโนแมด (specific visas for digital nomads: DNVs) เพื่อดึงดูดกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยเอสโตเนียริเริ่มวีซ่าดังกล่าวในเดือนสิงหาคม 2563 ตามด้วยคอสตาริกา และกรีกในปี 2564 ฮังการีในปี 2565 จากนั้น หลายประเทศก็ได้แข่งกันออก DNVs จนถึงเดือนมิถุนายน 2565 ราว 25 ประเทศได้ริเริ่ม DNVs ของตนเอง และเพิ่มขึ้นเป็น 49 ประเทศ/ดินแดน ในเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งรวมถึงประเทศในอาเซียน เช่น ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย นอกจากนโยบายเรื่องวีซ่าแล้ว บางประเทศยังมีนโยบายสร้างชุมชนดิจิทัลโนแมดในประเทศตน ด้วยแรงจูงใจต่าง ๆ เช่น ที่พักอาศัยในราคาที่เหมาะสม, Coworking office ผู้จัดการชุมชนมืออาชีพ กิจกรรมและการสัมมนาต่าง ๆ ส่วนลดสำหรับสินค้าและบริการจากธุรกิจท้องถิ่น และโครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยม ดังเช่น Zadar Valley ในประเทศโครเอเชีย จนได้รับฉายาว่าเป็นหมู่บ้านดิจิทัลโนแมดแห่งแรกของโลก

อย่างไรก็ตาม DNVs ข้างต้น มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันในเรื่อง คุณสมบัติของดิจิทัลโนแมด ระยะเวลาของวีซ่า และภาษีเงินได้ เป็นต้น เช่น ประเทศจอร์เจีย อนุญาตให้ประชาชนจาก 95 ประเทศ สามารถทำงานทางไกลในจอร์เจียได้ครั้งละ 1 ปี โดยต้องมีรายได้ขั้นต่ำเดือนละ 2,000 ดอลลาร์ ส่วนประเทศกรีก อนุญาตให้ทำงานทางไกลในกรีกได้ 1 ปีและขอต่ออายุได้เต็มที่ 3 ปี โดยมีรายได้ขั้นต่ำ.เดือนละ 3,500 ยูโร

แต่สำหรับประเทศไทยได้ออกวีซ่าระยะยาว 10 ปี (LTR Visa) สำหรับคน 4 กลุ่ม ได้แก่...👇

กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (หรือ remote workers นั่นเอง) และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ แต่ได้กำหนดเงื่อนไขเรื่องคุณสมบัติ remote workers ไว้สูงลิ่วกว่าประเทศอื่น เช่น ต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 80,000 เหรียญสหรัฐต่อปีในช่วงสองปีที่ผ่านมา นายจ้างต้องเป็นบริษัทที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ดิจิทัลโนแมดส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวที่เงินเดือนยังไม่สูงมากไม่สามารถสมัครได้ อีกทั้งไทยไม่อนุญาตให้กลุ่มผู้ที่ทำงานอิสระขอวีซ่าดังกล่าว LTR Visa ของไทยจึงยังไม่สอดคล้องกับคุณลักษณะของดิจิทัลโนแมดโดยทั่วไป

ดิจิทัลโนแมด เป็นแรงงานทักษะที่ย้ายถิ่นบ่อยครั้ง เพื่อหาประสบการณ์ชีวิตและทำงานควบคู่กันไป กลุ่มคนดังกล่าวเป็นผลพวงจากการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัล และถูกเร่งให้เติบโตอย่างรวดเร็วภายหลังการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การทำงานทางไกลเป็นวิถีชีวิตของคนใน
ปัจจุบัน หลายประเทศได้หันมาให้ความสนใจกับคนกลุ่มนี้ด้วยการออกวีซ่าเฉพาะ เพื่อดึงดูดกลุ่มแรงงานทักษะดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นโยบายวีซ่าดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศต่าง ๆ ต้องเรียนรู้และปรับปรุง เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการดึงดูดกลุ่มคนที่ตนต้องการ และจัดการความเสี่ยงจากปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น ปัญหาอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (cybercrime) จากการเข้ามาของกลุ่มมาเฟียข้ามชาติ

อ้างอิง
1.Kate Hooper and Meghan Benton (2022). The Future of Remote Work. Washington, D.C.: Migration Policy Institute
2.สืบค้นจาก https://www.total-croatia-news.com/digital-nomads-in-croatia/56442-croatian-digital-nomad-village-zadar วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565
3.Kate Hooper and Meghan Benton (2022) (อ้างแล้ว)
4.สืบค้นจาก https://asq.in.th/th/thailand-ltr-long-term-resident-visa วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565

https://mgronline.com/qol/detail/9660000006299

ติดตามข่าวโควิดกันต่อค่ะ...
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 9

ฉลองตรุษจีนมิติใหม่
5 ขั้นตอน เลี่ยงโควิด
● เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร
● ล้างมือบ่อยๆ จนเป็นนิสัย
● สวมหน้ากากอนามัย
● หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
● ตรวจ ATK เมื่อมีอาการผิดปกติ

ที่มา : กรุงเทพมหานคร
https://www.facebook.com/informationcovid19/posts/pfbid027MtVht4qGiuVoYgJCZJpKoGZS9K12EKmUMqTPhegRndM1tisDikFA5LaA4FwCe63l


สธ.เตรียมของบกลาง 7.1 พันล้านบาท จ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดค้างจ่าย
และค่ารักษากลุ่มไร้สิทธิ

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมกรณีขอรับการสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ส่วนค้างจ่ายปี 2565) ว่าที่ประชุมได้รับทราบสรุป (ร่าง) รายละเอียดการทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งเป็นการยืนยันยอดสุดท้าย รวมทั้งสิ้น 7,181,616,699.04 บาท แบ่งเป็น ค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วย (คนต่างด้าว/ไร้รัฐ) กรณีไม่มีสิทธิสวัสดิการภาครัฐ ในช่วงมกราคม - กันยายน 2565 รวม 230,872,030 บาท และค่าตอบแทนค้างจ่าย จำนวน 6,950,744,669.04 บาท

ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข
https://www.facebook.com/informationcovid19/posts/pfbid0pQn9hTwe652Am78gr2v6ayVdjXHY56WdmH2K2r66tA2g54V94aTiYW9VQhTFuFEhl


อนุทิน ติดตาม!! นโยบายจีนนำร่องอนุญาตกรุ๊ปทัวร์ “ออกเที่ยว 20 ประเทศรวมถึงไทย” ใกล้ชิด กำชับหน่วยงานในกำกับสาธารณสุข คมนาคม ท่องเที่ยว พร้อมรับ

[ 21 ม.ค.2566 ] น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ทางการประเทศจีนจะดำเนินการนำร่องให้ชาวจีนเดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศแบบหมู่คณะ หรือ กรุ๊ปทัวร์ ได้ใน 20 ประเทศซึ่งรวมถึงประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 66 เป็นต้นไป นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามรายละเอียดทางนโยบายของทางการจีนอย่างใกล้ชิด และมีความมั่นใจว่าข้อกำหนดต่างๆ ที่มีการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปนี้ จะส่งผลดีต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทย และสามารถควบคุมสถาการณ์โควิด-19 ให้อยู่ในขอบเขตที่จำกัดได้

“รองนายกฯ อนุทิน ได้รับทราบแนวนโยบายและขอบเขตการดำเนินการนำร่องตามที่สถานเอกอัครราชทูตจีนเปิดเผยล่าสุด ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่าประเทศจีนได้ดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างรัดกุม มีการแนะนำประชาชนของตนเองที่จะเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศ ปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศปลายทาง บริษัทท่องเที่ยวมีการดูแลคัดกรองกรุ๊ปทัวร์และมีระบบการรายงานที่ชัดเจน พร้อมกำชับกระทรวงในกำกับที่เกี่ยวข้อง ได้แก่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ติดตามรายละเอียดของข้อกำหนด และเตรียมการในทุกด้านให้พร้อมสำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น”

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 66 สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้เผยแพร่ประกาศสำนักงานประจำกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ระบุถึงการนำร่องที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 66 เป็นต้นไป โดยการให้บริษัทนำเที่ยวและบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ทั่วประเทศจีนในการดำเนินกิจการจัดการท่องเที่ยวแบบหมู่คณะรวมถึงธุรกิจ ตั๋วเครื่องบิน + โรงแรม สำหรับชาวจีนไปยัง 20 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา มัลดีฟส์ ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ เคนยา แอฟริกาใต้ รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ ฮังการี นิวซีแลนด์ ฟิจิ คิวบา และอาร์เจนตินา

ทั้งนี้ ตามประกาศได้มีข้อกำหนดต่างๆ ที่รัฐบาลท้องถิ่นในจีน บริษัทนำเที่ยว ตลอดจนชาวจีนที่จะเดินทางออกไปท่องเที่ยวต้องดำเนินการและปฏิบัติ อาทิ บริษัทนำเที่ยวดำเนินการตามหลักการของประเทศที่จะไป รัฐบาลท้องถิ่นมีการจัดระเบียบและดำเนินการเพื่อปกป้องความปลอดภัย สิทธิประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมายของนักท่องเที่ยว แนะนำบริษัทนำเที่ยวให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดการป้องกันการแพร่ระบาดทั้งของประเทศจีน และประเทศปลายทางอย่างเคร่งครัด และแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวให้เฝ้าระวังตรวจหาเชื้อก่อนการเดินทาง ใส่ใจกับความปลอดภัยและการป้องกันตนเองในระหว่างการเดินทาง ปฏิบัติตามกฎระเบียบการป้องกันการแพร่ระบาด และปฏิบัติตามข้อกำหนดการป้องกันการแพร่ระบาดต่างๆ

นอกจากนี้ ข้อกำหนดยังให้รัฐบาลท้องถิ่นในจีนมีการกำหนดมาตรฐานกิจกรรมท่องเที่ยวและให้บริษัทนำเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ดำเนินตามอย่างเคร่งครัด จัดทำสัญญาการท่องเที่ยวที่ถูกกฎหมาย มีระบบการจัดการข้อพิพาทที่เหมาะสมและทันท่วงที ปรับขนาดของกลุ่มคณะให้เหมาะสม เตือนนักท่องเที่ยวให้เพิ่มความตระหนักด้านความปลอดภัย ซื้อประกันสำหรับอุบัติเหตุส่วนบุคคล รวมถึงให้บริษัทนำเที่ยวใช้ระบบ “#หนึ่งคณะหนึ่งรายงาน” มีการรายงานข้อมูลการเดินทางขาเข้าและออกของหมู่คณะบนแพลตฟอร์มที่รวดเร็ว มีการตรวจสอบธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น ทัวร์ราคาถูกที่ไม่สมเหตุสมผล การจัดนักท่องเที่ยวให้เยี่ยมชมหรือมีส่วนร่วมในโครงการหรือกิจกรรมที่ละเมิดกฎหมาย ข้อบังคับ และคุณธรรมทางสังคมของประเทศจีน
https://web.facebook.com/NBT2HDTV/posts/pfbid02ZqmRagzkmUZZLH42kvKn7CtsT4joMuAih974mYasoJers4ujfv8r9RXqN888JNBl
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่