เล่าประสบการณ์ทำโคกหนองนา ผ่านมา 3 ปี ตอนที่ 1: ออกแบบและขุด

จุดเริ่มต้นมาจากผมได้ที่ดินรกร้างที่จันทบุรีมาผืนนึงขนาดประมาณ 5 ไร่ แต่เป็นที่ดินมีปัญหาคือเป็นแปลงนาเก่าแถมเป็นที่ต่ำมีน้ำขัง ทำประโยชน์อะไรไม่ได้เลย ถ้าจะมาปรับปรุงต้องลงทุนถมดินใหม่ทั้งแปลง เป็นโปรเจ็คที่ต้องใช้เงินเยอะก็เลยปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นมานานหลายปีจนมีแต่หญ้าขึ้นเต็ม จนมีการประกาศเก็บภาษีที่ดิน ซึ่งที่ดินรกร้างจะเสียภาษีมากที่สุด ผมจึงเริ่มมองหาทางออก ตอนนั้นคิดได้แค่สองอย่างคือ ถ้าไม่ลงทุนถมดินเพิ่มเพื่อทำประโยชน์ก็คงต้องขายทิ้ง 


จนกระทั่งไปเจอคำว่าโคกหนองนาเข้าโดยบังเอิญ ยิ่งพอรู้ว่าเป็นแนวคิดของในหลวง ร.9 ก็ยิ่งสนใจ เลยศึกษารายละเอียดให้ลึกลงไปอีกยิ่งตรงใจเหมือนพบหนทางแก้ปัญหา เพราะการทำโคกหนองนาคือให้ทำแบบคนจน ไม่ต้องลงทุนสูง ใช้ทรัพยากรเท่าที่มีอยู่ ไม่มีตรงไหนเลยที่บอกให้ซื้อดินมาถมที่เพิ่มแล้วลงทุนวางระบบน้ำแพงๆเพื่อเพาะปลูกพืช แม้แต่การขุดคลองขุดบ่อก็ให้ใช้แรงตัวเองและกลุ่มมาช่วยกันทำ (การลงแขกเอามื้อ) แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีจ้างรถแมคโครมาขุดเพราะมันเร็วกว่า
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

เมื่อศึกษาจนพอเข้าใจหลักการแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือวางแผนลงมือทำ คำถามก็คือแล้วจะทำแบบไหนยังไง ซึ่งสมัยนั้นโคกหนองนาเป็นเรื่องใหม่ คนที่รู้จริงและทำได้ยังมีน้อย แต่มีเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบโดยมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติตามพื้นที่ต่างๆ ผมก็เลยเข้าไปขอเรียนรู้ที่ศูนย์ใหญ่ที่มาบเอื้อง เข้าไปปรึกษาขอให้ผู้รู้ในศูนย์ให้ช่วยออกแบบแปลงให้ จนได้รูปแบบแปลงคร่าวๆมา จากนั้นก็มองหาคนรับขุดแปลงตามแบบ ซึ่งสมัยนั้นหายากมากเพราะเป็นเรื่องใหม่คนที่เข้าใจและทำเป็นมีน้อยแต่มีคนที่สนใจจะทำโคกหนองนาจำนวนมาก ติดต่อรถขุดไปแต่ละที่จะคิวยาวไม่ว่างเลยนานหลายเดือน จนไปได้คิวรถขุดมาเจ้านึงช่วงเข้าหน้าฝนเพราะงานเขาเริ่มน้อยลง แถมกว่ารถจะว่างมาจริงๆก็เข้าไปช่วงกลางหน้าฝนแล้ว ผมถามหลายครั้งว่าหน้าฝนขุดได้แน่หรือ เมื่อเขาคอนเฟิร์มว่าสามารถขุดได้แน่นอน ก็เลยตกลง (ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่พลาดไป)


เมื่อรถขุดมาถึงเขาจะมาปรับแบบจริงๆหน้างานอีกที ทำให้แบบโดนเปลี่ยนไปหลายอย่าง แต่ด้วยความเชื่อถือในทีมงานผมก็เลยปล่อยให้เขาทำไปเลย โดยที่ตัวผมเองก็ไม่ได้มาดูแลตลอดเวลา ระหว่างนั้นรถขุดก็เจอปัญหาหลายอย่างเช่นฝนตกหนัก น้ำท่วมบ่อ คันกั้นน้ำพัง ฯลฯ จนกระทั่งผ่านไปสองอาทิตย์ ทีมขุดจึงแจ้งว่างานเสร็จแล้วให้มาดู(และจ่ายเงิน) เมื่อผมมาตรวจดูแปลงพบว่างานเสร็จตรงตามแบบประมาณ 90% ที่เหลือทำไม่สำเร็จเพราะอุปสรรคในพื้นที่ คือเนื่องจากเป็นการขุดในหน้าฝน น้ำจึงท่วมพื้นที่ขุดเกือบตลอดเวลา และที่ดินเป็นพื้นที่ต่ำมีดินน้อย จึงปั้นพื้นที่เป็นโคกหรือที่สูงไม่ได้มากนัก คันนาก็ล้มเพราะน้ำเซาะพัง หลักๆที่ทำได้คือหนองหรือบ่อใหญ่ 3 บ่อ บวกกับบ่อเล็กอีก 2 บ่อ ที่ขุดคลองไส้ไก่เชื่อมทุกบ่อให้น้ำถ่ายเทถึงกัน เพราะหลักการคือน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่เราต้องเก็บไว้ให้ได้หมดแล้วให้ไหลลงไปรวมเก็บไว้ในบ่อใหญ่เพื่อให้มีน้ำพอใช้ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งก็ได้ผลจริงๆเพราะในตลอดทุกปีที่ผ่านมาน้ำในบ่อใหญ่ทั้งสามบ่อไม่เคยแห้งเลยแม้แต่ในฤดูแล้ง







สิ่งที่ผมคิดว่าตัดสินใจพลาดไปคือ  1. ไม่ควรขุดปรับที่ดินในหน้าฝนเพราะมันปรับแต่งพื้นที่ยากทำให้งานไม่สำเร็จ  2. ไม่ควรรีบเอาความรู้ที่ใช้จัดการพื้นที่อื่นมาใช้กับพื้นที่ตัวเอง เพราะพื้นที่ต่างกันใช้วิธีการจัดการไม่เหมือนกัน ในวิชาที่อบรมเขาก็บอกว่าต้องไปใช้เวลาสังเกตุภูมิประเทศสภาพแวดล้อมของที่ดินนั้นก่อน ด้วยหลักการดินน้ำลมไฟ ว่าลักษณะดินเป็นอย่างไร น้ำมาจากไหนไหลไปทางไหน ทิศทางลมพัดผ่านทิศไหน และพระอาทิตย์ขึ้นตกทางไหน ซึ่งการที่ผมยังไม่เข้าใจหลักการเหล่านั้นอย่างถ่องแท้ ทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีกหลายอย่าง จะได้เล่าต่อในกระทู้ถัดไป



ตอนที่ 2: ปัญหาอุปสรรคและหนทางแก้ไข
ตอนที่ 3: ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่