ลูกเกือบแย่เพราะลำไส้กลืนกัน

“ลำไส้กลืนกัน (Intussusception)” เกิดมา 40 กว่าปีเพิ่งเคยได้ยินชื่อของโรคนี้ ถ้าลูกของเราไม่ได้เป็นเองก็คงอาจจะไม่รู้ ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับอาการของโรคนี้เลย ผมเลยอยากมาแชร์ประสบการณ์ตรงที่ต้องเผชิญหน้ากับ “ภาวะลำไส้กลืนกัน” ของภูผาให้ทราบเพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อท่านอื่น ๆ และเพื่อไว้เตือนสติตนเองให้ระลึกถึงเสม ๆ ในการใช้ชีวิตต่อ ๆ ไปไม่ให้ประมาท และอย่าคิดว่าอาการป่วยของลูก ๆ เป็นเรื่องที่ผัดวันประกันพรุ่งได้
          วันอังคารที่ 10 ม.ค.66 ช่วงเวลาอาหารเย็นของครอบครัว ภูผามีอาการปวดท้อง โดยเอามือจับที่ท้อง ตัวงอเล็กน้อย พร้อมกับร้องบอกว่าปวดท้องเหมือนมีอาการเกร็งเล็กน้อยด้วย แต่เป็นอยู่แค่ประมาณ 2 – 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 5 นาที ก็หายไป พวกเราเราเลยไม่ได้เอะใจอะไร คิดว่าเป็นการปวดท้องธรรมดาของเด็ก อาจจะเกิดจากอาหารไม่ย่อย หรือสาเหตุอื่นใดที่ไม่รุนแรง อีกอย่างคือปกติภูผาจะถ่ายทุกวัน แต่การสอบถามจากกิ๊ฟท์ได้ความว่าเค้าไม่ถ่ายมาสองวันล่ะ เลยคิดไปว่าอาจจะเป็นเพราะท้องผูก อึเลยแข็งเวลาปวดท้องอึอาจจะทำให้รู้สึกถ่ายยากไม่สบายท้องก็เป็นได้ วันนั้นเลยอาบน้ำขึ้นนอนกันปกติ ก่อนนอนก็สังเกตว่าเค้ามามือจับท้องบ่อยขึ้น แต่ก็พาลคิดไปว่าเค้าท้องผูก และก่อนหน้านี้เค้าก็เล่น ทานข้าวปกติทุกอย่าง ไม่มีอาการใด ๆ ผิดปกติ นอกจากการไม่ถ่ายมา 2 วัน
          วันพุธที่ 11 ม.ค.66 สิบโมงกว่า ๆ ภูผาเริ่มปวดท้องหนักขึ้น และถี่ขึ้น โดยมีอาการตัวงอ มือกุมท้องพร้อมร้องไห้และบอกชัดเจนว่าปวดท้อง เป็น ๆ หาย ๆ เป็นสัก 15-20 นาที ก็จะหายไป ทานอาหารกลางวันได้นิดหน่อยช่วงที่ไม่ปวด และนอนกลางวันได้นิดหน่อยเช่นกัน เมื่อปวดก็จะตื่นขึ้นมา จนเวลาล่วงเลยไปจนบ่ายสามโมงกิฟท์โทรมาปรึกษาผม ผทเลยบอกว่าให้พาไปคลินิกเด็กแถว ๆ บ้านให้หมอให้ยามาทานเลย (ใจก็คิดว่าคงปวดท้องธรรมดา เหมือนที่เคยกับลูกสาวคนโต ทานยาแล้วก็คงหาย) แต่ด้วยอะไรก็ตามกิฟท์พาภูผาไปที่คลีนิคศูนย์แพทย์พัฒนา พบหมอท่านแรกเป็นคุณหมอเด็กทั่วไป คุณหมอสอบถามอาการโดยละเอียด และแนะนำว่าควรปรึกษากับคุณหมอเฉพาะทางเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารของเด็กโดยตรงเผื่อวินิจฉัยจะดีกว่า ระหว่างที่กิฟท์และภูผารอคุณหมอท่านเฉพาะทาง ผมก็รีบบึ่งรถมาสบทบพร้อมชิสา พบคุณหมอเฉพาะทางเวลาประมาณสี่โมงกว่า ๆ คุณหมอพูดคุยสอบถามอาการต่าง ๆ (ระหว่างพบคุณหมอภูผมร้องไห้จับไปที่ท้องทุก ๆ 15-20 นาที เป็น ๆ หาย ๆ ตลอดเวลา) พร้อมกับเห็นอาการของภูผา เคยบอกว่าน่าจะเกิดจาก 1.ลำไส้อักเสบ หรือ 2.โรคลำไส้กลืนกัน ไอ้ลำไส้อักเสบนี่เราเคยพอได้ยิน แต่ไอ้ลำไส้กลืนกันนี่มันคืออะไรหว่า (อันนี้คิดในใจ) หมอบอกว่าต้องส่งไปอัลตร้าซาวด์ในช่องท้องดู เพื่อประกอบการวินิจฉัย เราพาภูผาไปอัลตร้าซาวด์ประมาณ 1730 กว่าจะเสร็จก็ใกล้หกโมงเย็น เพราะเจ้าลูกชายให้ความร่วมมืออย่างมาก โดยการแหกปากลั่น รพ. ว่าหนูไม่ชอบที่นี่พร้อมกับการดิ้น เมื่อผลอัลตร้าซาวด์ออก คุณหมออ่านผลว่าเจอก้อนเนื้อที่ผิดปกติบริเวณรอยต่อของลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ หมอเลยอธิบายรายละเอียดของโรคลำไส้กลืนกันให้ฟัง ว่าเป็นภาวะที่ส่วนปลายของลำไส้เล็กมุดเข้าไปในลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดเป็นแผล เลือดคลั่ง ฉีกขาด หรือถ้าหนักก็ติดเชื้อ ไม่มีสาเหตุของโรคที่แน่ชัด มักเกิดในเด็ก 0 – 24 เดือน ในรายที่รุนแรงอาจถึงชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี และทันท่วงที ถือว่าเป็นเคสที่ต้องรีบรักษาโดยด่วนที่สุด คุณหมอสอบถามว่าปกติรักษาที่ รพ.ไหน ผมเลยบอกว่า รพ.ภูมิพล คุณหมอและพยาบาลช่วยกันติดต่อสอบถามไปยัง รพ.ภูมิพล จนทราบว่าคุณหมอที่รับเคสผ่าตัด หรือรักษาอาการลำไส้กลืนกันนี้มีอยู่ 2 ท่านด้วยกัน คุณหมอทำใบส่งตัวไปยัง รพ.ภูมิพล เรารีบพาลูกไปห้องฉุกเฉินที่ รพ.ภูมิพล ถึงที่ รพ.ภูมิพลประมาณ สองทุ่ม เข้ากระบวนต่าง ๆ ตามลำดับ ประมาณสี่ทุ่มเลยให้กิ๊ฟท์พาชิสากลับบ้านไปก่อนเพราะพรุ่งนี้ชิสาต้องไปโรงเรียน ห้วงสี่ถึงห้าทุ่มคุณหมออัลตร้าซาวด์ และเอกซเรย์เพิ่มเติม แต่แปลกอย่างหนึ่งคือ ตั้งแต่มาถึง รพ.ภูมิพลอาการปวดท้องของภูผาคงเบาลง ไม่เห็นอาการร้องไห้ มือกุมท้องให้เห็นเลยจนเราก็เบาใจได้ส่วนหนึ่งว่าคงเพิ่งเริมเป็นยังไม่รุนแรง หลังจากนั้นพยาบาลเจาะเลือดและแทงเข็มให้น้ำเกลือ โดนไปรวมประมาณ 6 รูบนมือทั้งสองข้างกว่าจะได้เลือดและแทงน้ำเกลือได้ เราคนเป็นพ่อเห็นลูกเจ็บ “หนูเจ็บ หนูไม่ชอบที่นี่” แล้วดันต้องมากดมือกดเท้าลูก เพื่อแทงเข็มดูดเลือดและให้น้ำเกลือลูกเป็นความรู้สึกที่อยากจะไปเจ็บแทนเค้าเลย ทีมคุณหมอศัลยกรรมมาวินิจฉัย ก็เวลาประมาณตีหนึ่ง ทีมคุณหมอมาสอบถาม และแนะนำการรักษาว่าถ้ารอที่ รพ.ภูมิพล กว่าจะได้รับการรักษาโดยคุณหมอเฉพาะทางน่าจะสาย ๆ เป็นอย่างต่ำแนะนำให้ไปที่ รพ.เด็กจะดีกว่าน่าจะได้รับการรักษาภายในคืนนี้เลย ใจหนึ่งก็อยากอยู่ที่นี่ด้วยที่เราเป็นทหารอากาศ แต่ใจหนึ่งก็อยากรักษาลูกโดยเร็วที่สุด สุดท้ายตัดสินใจะไปที่ รพ.เด็ก ขับรถออกจาก รพ.ภูมิพล พร้อมเอกสารส่งตัว พร้อมผลการเอกซเรย์ อัลตร้าซาวด์ ผลเลือด และอื่น ๆ มาถึง รพ.เด็ก ห้อง ER ประมาณตีสองครึ่ง เข้ากระบวนการต่าง ๆ ทีมคุณหมอส่งเอกซเรย์ อัลตร้าซาวด์อีกครั้ง และแนะนำการรักษาว่า เคสของภูผาน่าจะเพิ่งเริ่มเป็นจะใช้การรักษาโดยเอาลมเข้าทางทวานหนักไปดันลำไส้เล็กที่มันม้วนพับเข้ามาในลำไส้ใหญ่ให้กลับออกไปเป็นปกติ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาเบื้องต้นที่กระทำกันในปัจจุบันนี้ ภูผาได้รับการรักษาเมื่อเวลาประมาณหกโมงเช้าของวันที่ 12 ม.ค.66 พักรักษาตัวดูอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด 24 ชม. วันที่ 13 ม.ค66 อาการต่าง ๆ ดีขึ้นตามลำดับ ถอดสายสวนฉี่ออก ถอดสายดูดขี้มูกออก ย้ายมาพักรักษาตัวห้องแยกได้ ให้ทานอาหารเหลวได้ และถอดสายน้ำเกลือออกในค่ำวันที่ 13 นี้ คุณหมอเข้ามาบอกว่าวันพรุ่งนี้ (14 ม.ค.) ก็ออกจาก รพ.ได้แล้ว และแนะนำว่าโรคนี้ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด เด็กที่เข้ารับการรักษามีตั้งแต่ใช้การดันลมอย่างภูผา จนถึงผ่าตัดเปิดหน้าท้องตัดลำไส้กันเลยทีเดียว โรคลำไส้กลือนกันถือเป็นเคสที่ต้องรีบทำการรักษาอย่างเร่งด่วนเพราะเป็นเคสที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ถ้าได้รับการรักษาที่ช้า เคสเราถือว่าโชคดีที่ตรวจเจอแต่เนิ่น ๆ ลำไส้ยังไม่เป็นแผล ติดเชื้อ หรือเลือดออก และได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างรวดเร็วทันอาการทำให้ไม่ต้องถึงผ่าตัด คุณหมอยังเพิ่มเติมว่าออกจาก รพ.แล้วไม่จำเป็นต้องจำกัดอาหารการกินใด ๆ ทั้งสิ้น ทานเหมือนปกติได้เลย
          ท้ายสุดอยากจะแชร์ประสบการณ์นี้ให้พ่อ แม่ ผู้ปกครองทั้งหลายว่าอาการผิดปกติต่าง ๆ ของลูกเราต้องหมั่นสังเกตุและอย่าวางใจเป็นเด็ดขาด ถ้าลูกเกิดการเจ็บป่วยที่เราไม่สมารถรู้ได้จริง ๆ ว่าสาเหตุมันมาจากอะไรแล้ว พาไปสถานที่ทางการแพทย์ที่เหมาะสมเถอะครับ ตามความสะดวกและกำลังทรัพย์ของแต่ละท่าน พาไปให้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านแต่ละสาขาท่านวินิจฉัยตามหลักการที่ท่านร่ำเรียนมา อย่าคิดว่าไม่เป็นไรซื้อยามาทานเองก็หาย และอย่ายื้อเวลาโดยเด็ดขาดเพราะเวลาที่ท่านยื้อนั้นมันอาจหมายถึงชีวิตของลูกท่านทั้งชีวิตครับ

วันที่ 11 ม.ค.66 เริ่มปวดท้อง มือกุมท้อง ร้องไห้

นักรบถูกแทงไป 6 รู พ่อน้ำตาไหลอยากเจ็บแทนลูก

หลังจากดันลมในเช้าวันที่ 12 ม.ค.66

อาการดีขึ้นแต่บ่น "หนูไม่ชอบที่นี่ หนูอยากกลับบ้าน"

ย้ายมาห้องพิเศษถทยอยถอดสายฉี่ สายดูดขี้มูก สายน้ำเกลือ ออกในวันที่ 13 ม.ค.66
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่