กองสลากจริง กับ กองสลากพลัส คู่แข่ง คู่ค้า หรือคู่แฝดมหัศจรรย์ ?

ในโลกยุคที่การซื้อหวยผ่านมือถือทำได้สะดวก ง่ายดาย ทำให้ มหาอำนาจสลากกินแบ่งรัฐบาล เปลี่ยนโฉมหน้าไป

และเป็นที่ควรตรวจสอบว่า เอกชนบางราย อาทิ “กองสลากพลัส” ที่สามารถได้สลากกินแบ่งรัฐบาลมาค้าขายต่อ โดยทำยอดขายต่องวดกว่า 18,000 ล้านบาท, ขายสลากวันเดียวมากกว่า 4 ล้านฉบับ, อ้างว่าสามารถจ่ายเงินปันผล 1.25% ต่อเดือน หรือ 15% ต่อปี ปันผลได้ทุกเดือน ฯลฯ นั้น
 
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดำเนินนโยบายจัดสรรสลากอย่างไร จึงเปิดช่องให้เอกชนได้ทำมาหากินมั่งคั่งถึงขนาดนั้น?

โดยที่สลากดิจิทัล ขายผ่านแอปเป๋าตัง 80 บาท มีไม่พอขาย “กองสลากจริง” จัดสรรไม่เพียงพอคนจำนวนมากก็ต้องไปซื้อผ่านแพลตฟอร์มเอกชนรายใหญ่สุดคือ “กองสลากพลัส” ในราคาบวกค่าบริการเพิ่มอีกประมาณ 22 บาทต่อฉบับ และบวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก ทำผู้ซื้อต้องจ่ายเฉลี่ยประมาณ 103 บาทต่อฉบับ

1. เมื่อวันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม 2564 (ปีที่แล้ว) ผมเขียนบทความเรื่อง “ล้างไพ่ตัวแทนขายลอตเตอรี่”ในคอลัมน์ “อ่านระหว่างบรรทัด” แห่งนี้
เคยบอกไว้ว่า “...ผมแน่ใจว่า การแก้ ลอตเตอรี่ขายแพงเกินราคา ไม่มีทางทำได้จริง ตราบใดที่ใช้ระบบตัวแทนจำหน่าย เพราะลอตเตอรี่เป็นสินค้าไม่เหมือนสินค้าทั่วไป เล่นกับความหวังของผู้ซื้อ ตราบใดที่ผู้ซื้อมีความคาดหวังว่าลอตเตอรี่ที่ตนซื้อจะถูกรางวัล ไม่ว่าจะด้วยมีเลขเด็ดมาจากไหนก็ตามแต่ ก็จะมีคนพร้อมจ่ายราคาแพงกว่าหน้าสลากไปเรื่อยๆ เพราะคาดหวังลึกๆ ว่าจะมีผลตอบแทนสูงกว่า 80 บาท แต่ขอสนับสนุนมาตรการ 3 เรื่องที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลประกาศออกมาล่าสุด (โดยเฉพาะขายสลากผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ต่อมาคือสลากดิจิทัลผ่านแอปเป๋าตัง) เนื่องจากเป็นการ “เพิ่มทางเลือกให้ผู้ซื้อ” และเปิดโอกาสให้มีตัวแทนจำหน่ายที่พร้อมขายในราคา 80 บาท เพิ่มมากขึ้น ซึ่งดีกว่าไม่ทำอะไรเลยแน่นอน”

2. ปัจจุบัน สลากกินแบ่งรัฐบาลราคา 80 บาทมีแล้วจริงๆ ซื้อผ่านทางมือถือ แอปเป๋าตัง คือ สลากดิจิทัล งวดละ 16 ล้านฉบับ ขณะเดียวกัน ก็ปรากฏว่า มีแพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์ของเอกชน อย่าง “กองสลากพลัส” เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว กระทั่งงวดล่าสุดเปิดขายเพียงวันเดียวได้ถึง 4 ล้านใบ “กองสลากพลัส” กำลังจะฉลองครบรอบ 2 ปี ผู้บริหารกองสลากพลัส เปิดเผยเองว่า ตนไม่ได้โควตาจากกองสลากฯ แม้แต่ใบเดียว ยอดขายสลากงวดล่าสุด วันเดียวมากกว่า4 ล้านฉบับ ยอดขายปีนี้ประมาณ 18,000 ล้านบาท มีลูกค้าที่ Register ในระบบของตน 4.9 ล้านคน และในแต่ละวัน มีลูกค้าสมัครใหม่วันละ 10,000 - 30,000 คน และยังอ้างว่าสามารถจ่ายเงินปันผล 1.25%ต่อเดือน หรือ 15% ต่อปี ปันผลได้ทุกเดือน สำหรับหุ้นส่วน ฯลฯ จากข้อมูลข้างต้น นับว่า “กองสลากพลัส”เติบใหญ่ในทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว (ภายใน 2 ปี) เริ่มแรก ก็ด้วยความสามารถที่มองเห็นและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากช่องว่างทางการตลาด แต่ในเมื่อปัจจุบัน “กองสลากจริง” สามารถจัดการให้มีสลากดิจิทัลขายผ่านแอปเป๋าตัง 80 บาท ทำไมจึงยังปล่อยให้มี “ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ” หรือeconomic rent ผลประโยชน์ส่วนเกิน เปิดช่องให้เอกชนบางรายได้เข้ามาแสวงหาความมั่งคั่งต่อไปได้อีก บนพื้นฐานการที่ผู้บริโภคต้องจ่าย (รวมค่าบริการ) แพงกว่า 80 บาท ลองคิดดู มูลค่าที่ประชาชนจ่ายในการซื้อสลากสูงขึ้นกว่า 28% แต่ส่วนแบ่งรายได้เข้าแผ่นดินของรัฐยังคงเท่าเดิมตามกฎหมาย เพราะได้รับแบ่งจากยอดราคาหน้าสลาก 80 บาทเท่าเดิม รัฐเสียประโยชน์ ประชาชนจ่ายแพงกว่าที่ควรจ่าย ทั้งๆ ที่ รัฐมีช่องทางสลากดิจิทัลผ่านแอปเป๋าตังแล้ว

3. จะดีแค่ไหน แฟร์แค่ไหน ถ้าผู้บริโภคสามารถซื้อสลากผ่านแอปเป๋าตังในราคา 80 บาท ไม่มีค่าบริการเพิ่ม ไม่ใช่ว่าจะไปซื้อแล้วก็หมด หรือต้องแย่งกันซื้อแล้วก็หมด แพลตฟอร์มเอกชนที่ไม่ได้ซื้อสลากไปจาก “กองสลากจริง” เลยแม้แต่ใบเดียว กลับมีสลากมาขายมากมาย ในราคาบวกค่าบริการเฉลี่ย 100 กว่าบาทต่อฉบับ ทำกำไรอู้ฟู่ เงินสะพัด

ดังนั้น การที่ “กองสลากจริง” บริหารจัดการมีสลากขายผ่านแอปเป๋าตัง 80 บาท ไว้แค่ 16 ล้านใบต่องวด ซึ่งไม่พอขาย ขายไม่กี่วันก็หมดเกลี้ยง แต่ปล่อยให้ “กองสลากพลัส” จัดหาสลากมาขายในแพลตฟอร์มของตนเองในราคาบวกค่าบริการ 100 กว่าบาท งวดละหลายล้านฉบับ จนเติบโตเป็นยักษ์ใหญ่มหาอำนาจเอกชนในตลาดสลากดิจิทัลวันนี้ เข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้เอกชน หรือไม่?

ในเมื่อการบริหารจัดการให้มีสลากดิจิทัลขาย80 บาท ผ่านแอปเป๋าตัง ไม่ได้มีต้นทุนอะไรเพิ่มขึ้นมากมาย เพราะระบบวางไว้แล้ว ประชาชนที่เข้าถึงแอปเป๋าตังก็มีมหาศาลมากกว่า 30 ล้านคน ซึ่งมากกว่าลูกค้าที่ลงทะเบียนไว้กับ“กองสลากพลัส” และที่สำคัญ ลูกค้า “กองสลากพลัส” เกือบทั้งหมด ก็สามารถเข้าถึงแอปเป๋าตังค์ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้า “กองสลากจริง” เติมสินค้าเข้าระบบสลากดิจิทัลมากขึ้น ผู้บริโภคย่อมสามารถซื้อในราคา 80 บาทมากขึ้น โดยไม่ต้องไปจ่ายแพงกว่าในระบบเอกชน แต่ทำไมไม่ทำ ปล่อยให้เอกชนได้รับ economic rent ต่อไปเรื่อยๆ นโยบายเช่นนี้ ย่อมถูกสงสัยว่า เป็นการปล่อยให้ “กองสลากพลัส” เติบโตขึ้นมาเป็น “คู่แฝด” ของ “กองสลากจริง” ในตลาดสลากดิจิทัล ซึ่งนับวันจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

4. ประเด็นเรื่องค่าบริการ สำหรับพ่อค้าสลากรายย่อยที่เดินขาย ยังน่าเห็นใจ และเข้าใจได้ว่ามีค่าบริการ เพราะเดินบริการขายตามสี่แยก ตามตลาด ตามถนนในหมู่บ้าน นอกจากต้นทุนสลากที่รับมาแล้ว ยังมีค่าเหนื่อย ค่าตากแดด ค่าครีมกันแดด ค่าสูดมลพิษ ค่าความเสี่ยงขาดทุน ฯลฯ ส่วนสลากดิจิทัล ที่ขายผ่านแอปเป๋าตัง ผู้ซื้อสามารถซื้อในราคาไม่เกิน 80 บาทได้แน่นอน สะดวกมาก เพราะสลากที่ขายนั้น คือ สลากที่พ่อค้ารายย่อยได้ทำสัญญาซื้อจากกองสลากโดยตรง แล้วฝากขายเพราะฉะนั้น ผู้ค้าเจ้าของสลากจึงไม่ต้องเหนื่อยไปเร่ขายไม่ต้องเสียเวลาทำมาหากินอย่างอื่น แต่สลากที่ขายผ่านแพลตฟอร์มเอกชน นำมาจากไหน ในเมื่อยอมรับว่าไม่ได้มีโควตาซื้อจากกองสลากจริงเลยแม้แต่ใบเดียว?

แสดงว่า ใช้วิธีไปรวบรวมซื้อต่อมาจากพ่อค้ารายอื่นๆ แล้วนำมาขายต่อผ่านแพลตฟอร์มของตนเอง คำถาม คือ
๑ รวบรวมสลากมาจากไหน มากมายมหาศาลขนาดนั้น?
๒ ซื้อมาในราคาเท่าไหร่?
๓ ถ้าซื้อมาแพงกว่า 80 บาท ก็ตอกย้ำชัดเจนถึง “เจตนา” หรือไม่? 

ว่าวางแผนไปรวบรวมสลากมาในราคาแพงกว่าหน้าสลาก โดยรู้ว่าต้องนำมาขายเกินกว่าราคาหน้าสลาก แม้จะอ้างว่าราคาสลาก คือ 80 บาท (ที่เหลือเป็นค่าบริการ บวกภาษี) แต่ วิญญูชนย่อมพิจารณาว่าการค้าขายทำธุรกิจปกติทั่วไป ต้นทุนสินค้ารับมา 94 บาท (เพราะไปซื้อต่อมาอีกทอด) จะมาขายในราคา 80 บาท ได้อย่างไร เว้นแต่จะอ้างว่าราคา 80 บาท ส่วนที่เกินไปคือค่าบริการอื่นๆ เพื่อหลบเลี่ยงข้อครหาขายราคาแพงกว่าหน้าสลาก หรือไม่? (ไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพ์)

โดยเรื่องราคาต้นทุนนี้ “กองสลากพลัส” ก็เคยเปิดเผยไว้เองหลายครั้ง อาทิ “ราคาสลากงวด 16 ต.ค. 2564 [❗] กองสลากพลัส เปิดขายแล้ว พร้อมให้บริการลูกค้าอย่างเต็มที่ :- ) เราจะขายในราคา 99 บาท (ราคาทุน 94 บาท + ค่าบริการ 5 บาท)” เป็นต้น เรื่องแบบนี้ “กองสลากพลัส” ชี้แจงว่า สามารถทำได้ และชนะคดีแล้วด้วยจ่าย VAT กว่า 190 ล้านบาทแล้วด้วย น่าสนใจว่า ถ้า “กองสลากจริง” เห็นว่าทำได้ตามนี้จริงๆ ต่อไปนี้ ก็ต้องเลิกไปจับพ่อค้าแม่ค้าขายสลากที่ขายในราคาเกินกว่า 80 บาท เพราะเขาก็มีต้นทุนค่าบริการเหมือนกัน เพียงแค่เขาไม่ได้ขายผ่านแพลตฟอร์มสวยหรู พ่อค้าสลากที่เขารวบรวมสลากมาจากรายย่อยแล้วนำมาวางขายในราคาแพงกว่า 80 บาท ก็เหมือนกัน ถ้าเขาเปิดขายผ่านเว็บไซต์ด้วย ก็ถือว่ารอดได้มั้ย เพราะเขามีสลากต้นฉบับจริงเก็บไว้ด้วย วางหน้าแผงเลยด้วยซ้ำ เขาก็ย่อมขายบวกค่าบริการได้เกิน 80 บาทด้วย อย่างนั้นหรือไม่? กลายเป็นว่า สลากแพงกว่า 80 บาท ถ้าใส่สูทลงแพลตฟอร์ม ก็ทำได้โดยอ้างค่าบริการ อย่างนั้นหรือ?

เดือนที่แล้ว พันโทหนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพิ่งบอกว่า

“จะยังเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบการจำหน่ายสลากของตัวแทนจำหน่ายและผู้ซื้อจองฯ ล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำสลากไปจำหน่ายต่อให้กับแพลตฟอร์มเอกชนต่างๆ หรือไม่ได้จำหน่ายด้วยตนเอง ซึ่งจะมีการตรวจสอบสลากที่ถูกรางวัลจากการที่นำสลากนั้นมาขึ้นเงินรางวัล หากพบว่าเป็นสลากของตัวแทนจำหน่าย หรือผู้ซื้อจองรายใด จะใช้มาตรการเด็ดขาดในการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบการจำหน่ายสลาก รวมถึงการเบิกสลากที่ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจำหน่ายสลากของสมาคม องค์กร ให้เป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด”

แต่จนบัดนี้ ยังปรากฏว่า

“กองสลากพลัส” ประกาศชัดว่า ไม่ได้โควตาจากกองสลากสักใบ แต่มีสลากมาขายงวดละหลายล้านฉบับ ยอดขายปีนี้ 18,000 ล้านบาท แถมกำลังจะขยายกิจการใหญ่โตออกไปอีกไม่ไว้หน้า “กองสลากจริง” เลย!!!!

อ่านระหว่างบรรทัด สันติสุข มะโรงศรี https://www.naewna.com/politic/columnist/53608
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่