จิตรกรรมล้านนาในเชียงใหม่


         ผมเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่จริงจังเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว เป็นการเที่ยวเพื่อเขียนสารคดีส่วนตัว ตอนนั้นผมตั้งโจทย์ไว้ว่าผมจะเดินทางท่องเที่ยวเพื่อหาบ้านหลังที่ ๓ โดยผมแบ่งประเด็นเพื่อศึกษา ๓ เรื่องของแต่ละจังหวัดที่ผมสนใจคือ ๑ ประวัติศาสตร์ของจังหวัดนั้น ๒ อาชีพที่น่าสนใจในจังหวัดนั้น ๓ อสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดนั้น จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกที่ผมเลือกในการเขียนสารคดีครั้งนี้ นับจากนั้นมาผมก็ไปเชียงใหม่เกือบทุกปี อาจเป็นเพราะจังหวัดเชียงใหม่มีเรื่องราวน่าสนใจให้ผมเรียนรู้ ให้เที่ยว ให้รักได้ไม่รู้เบื่อ 

          ผมพยายามทบทวนทุกปีว่าทำไมผมถึงไม่เบื่อจังหวัดนี้ซักที คำตอบที่ได้คงหนีไม่พ้นศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติ สภาพสังคม อาหาร ดนตรี ผู้คน และรอยยิ้ม เสน่ห์ของเชียงใหม่เริ่มต้นตั้งแต่ยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ที่รวมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆเข้ามาไว้ในเมืองเชียงใหม่ การมาเชียงใหม่จังหวัดเดียวก็เหมือนได้เที่ยวทั้งล้านนา โดยเฉพาะวัดวาอารามในเมืองเชียงใหม่ที่มีทุกรูปแบบสถาปัตยกรรมของล้านนา ทุกคติความเชื่อ ทุกสกุลช่างในภาคเหนือที่สำคัญวัดต่างๆเหล่านี้รวมอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่

           

         
           ในส่วนธรรมชาติจังหวัดเชียงใหม่มีฉากหลังคือดอยสุเทพ มีแม่น้ำปิงไหลผ่าน แค่ผมนั่งมองทิวเขา แม่น้ำ ผมก็นั่งได้เกือบทั้งวัน และนั่งมาแล้วที่เชียงใหม่ ในขณะที่อาหารเหนือผมก็ชอบ ผมชอบรสชาติ กลิ่นของอาหารเหนือ ผมกินได้ทุกอย่างที่ไม่ใช่ของดิบ แต่ที่รักที่สุดน่าจะเป็นผู้คนของที่นี่ ผมรักตั้งแต่สำเนียงภาษา คำเมือง ภาษาเหนือยิ่งพูดช้าๆในความรู้สึกผมมันไพเราะด้วยเสียงสูงต่ำของวรรณยุกต์ ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงพูดผมว่ามันน่ารักเลยทีเดียว เมื่อผมไม่สามารถมูฟออน และไม่รู้เบื่อจังหวัดเชียงใหม่ได้ การมาเชียงใหม่ในแต่ละปี ผมก็ตั้งโจทย์ว่าผมจะไปค้นหาอะไรในเชียงใหม่อีก โจทก์ของปี ๒๕๖๕ เลยเกิดขึ้น

            

          ปีนี้ผมได้หนังสือจิตรกรรมล้านนาของอาจารย์ ชาญคณิต อาวรณ์ มาหนึ่งเล่ม ผมลองอ่านแล้ว หนังสือเล่มนี้เปิดมุมมองใหม่ในเรื่องจิตรกรรมของผม ผมไม่เคยรู้เลยว่าภาพจิตรกรรมตามวัดมีความคิด คติความเชื่อ มีรูปแบบที่น่าสนใจซ่อนอยู่ การไปเที่ยวศึกษาจิตรกรรมล้านนาจึงเป็นโจทย์ของปีนี้ โดยผมกำหนดขอบเขตของการเที่ยวชมจิตรกรรมล้านนาไว้เฉพาะจิตรกรรมฝาฝนัง หรือภายในอาคารหลังคาคลุมของโบสถ์ วิหารวัดในตัวเมืองเชียงใหม่ โดยปกติแล้วจิตรกรรมฝาผนังในวัดของเชียงใหม่จะถูกสร้างสรรค์หลังทศวรรษที่ ๒๔๗๐ ในช่วงที่โบสถ์วิหารในล้านนาเริ่มนิยมก่อสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก และมีผนังปูนล้อมทุกด้าน ในยุคนี้วัดในล้านนาจึงมีพื้นที่ในการเขียนจิตรกรรมฝาผนังมากขึ้นกว่าแต่ก่อนที่โบสถ์ วิหารที่เป็นอาคารโถง ไม่มีผนัง มีแต่แผงไม้เชื่อมระหว่างเสาด้านนอกเรียกว่า “ฝาหยาบ” ซึ่งปัจจุบันแทบไม่ค่อยได้เห็นแล้ว

        เรื่องราวต่างๆในจิตรกรรมล้านนาส่วนใหญ่จะเป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาทั้งเรื่องพุทธประวัติ ทศชาติชาดก เวสสันดรชาดก ชาดกนอกนิบาต ซึ่งผมไม่ได้สนใจวรรณกรรมพวกนี้เท่าไร ผมเพียงแต่รู้ไว้คร่าวๆว่าจิตรกรต้องการทำเสนอคือเรื่องอะไรเท่านั้น เพราะสิ่งที่ผมสนใจคือ ความงาม ลูกเล่น กลวิธีในการนำเสนอ ความคิดเบื้องหลังภาพจิตรกรรมเหล่านั้นมากกว่า ผมจึงเริ่มต้นเที่ยวชมจิตรกรรมไปตามรูปแบบศิลปะหลักในล้านนา ซึ่งความเห็นส่วนตัวผมขอแบ่งเป็น ๓ กลุ่มคือ ๑ กลุ่มศิลปะพม่า-ไทใหญ่ ๒ กลุ่มศิลปะรัตนโกสินทร์ ๓ กลุ่มศิลปะแนวสมจริงตามปรัมปราคติ

       
  

         กลุ่มศิลปะพม่า-ไทใหญ่ 

ในกลุ่มศิลปะพม่า-ไทใหญ่ วัดที่โดดเด่นในกลุ่มนี้ผมเลือกเที่ยวชมวัดบวกครกหลวง ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยจิตรกรรมหลักจะถูกเขียนที่วิหารพระ จัดแสดงเรื่องราว ทศชาติชาดก พุทธประวัติ พระอุปคุต ประวัติวัด และอบายภูมิ วางผังการนำเสนอแบ่งเป็น ๑๔ ห้อง ห้องละ ๑ เรื่อง อิทธิพลที่โดดเด่นที่แสดงถึงสกุลช่างพม่า-ไทใหญ่คือ กรอบล้อมรอบภาพเหมือนกับผ้าปักแบบพม่า ใช้สีดำ หรือแดงเป็นพื้นหลัง มีเส้นสินเทาขนาดใหญ่ตัดแบ่งภาพเล่าเรื่อง เน้นภาพเหตุการณ์สำคัญของภาพเป็นหลักในการนำเสนอ

        

 ///////////////

       
วางผังการนำเสนอแบ่งเป็น ๑๔ ห้อง ห้องละ ๑ เรื่อง

/////////////////


    
          กรอบล้อมรอบภาพเหมือนกับผ้าปักแบบพม่าที่วัดบวกครกหลวง

////////////////

           การแต่งกาย และเครื่องศิราภรณ์ของกษัตริย์จะแต่งตามแบบศิลปะพม่าทั้งมงกุฎ การสวมเสื้อแขนยาว นุ่งโสร่งลายลุนตยา มีผ้าคาดเอว นิยมเขียนคิ้วสูงแบบจิตรกรรมสมัยอังวะ  กิริยาท่าทางของบุคคลจะมีนาฏลักษณ์แบบพม่า กษัตริย์จะนั่งอยู่บนแท่น หรือผ้าปูไม่สูงเด่นกว่าบุคคลอื่นในภาพ ส่วนการเขียนปราสาท วังจะเป็นการจำลองภาพจากปราสาท และวังในสมัยราชวงศ์คองบอง



            ในขณะที่ภาพของชาวบ้านจะเป็นรูปแบบจิตรกรรมล้านนาคือ ชายไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้านุ่งสั้น แสดงรอยสักหมึกดำที่ต้นขา ส่วนผู้หญิงจะเปลือยอก บ้างมีผ้ารัดอก ผ้าคลุมไหล่ นุ่งซิ่นลายขวาง เกล้ามวยผมไว้ด้านหลัง

         

           ภาพที่น่าสนใจสำหรับผมของวัดบวกครกหลวงคือภาพชายนั่งกอดคอหญิงพูดคุยที่ข้างหู ภาพนี้อาจไม่ได้กระซิบรักบรรลือโลกเหมือนปู่ม่านย่าม่านที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน แต่ผมว่าภาพนี้น่ารักไม่แพ้กัน และผมว่าตาผู้ชายที่มองผู้หญิงภาพนี้ตาหวานกว่าปู่ม่าน วัดภูมินทร์

            

/////////////////

   

 ภาพปราสาท และวังจะเป็นการจำลองภาพจากปราสาท และวังในสมัยราชวงศ์คองบอง สังเกตจากยอดปราสาทจะเป็นฐานเหลี่ยมขึ้นไปเป็นชั้นๆ  
        
/////////////////

            กลุ่มศิลปะรัตนโกสินทร์ 

ในกลุ่มศิลปะรัตนโกสินทร์ วัดที่โดดเด่นในกลุ่มนี้ผมเลือกเที่ยวชมวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วัดสำคัญอันดับต้นๆของเชียงใหม่ ซึ่งภาพจิตรกรรมที่สำคัญอยู่ภายในวิหารลายคำ วิหารที่ประดิษฐานพระสิงห์พระคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ภายในวิหารลายคำจะมีจิตรกรรมอยู่ ๒ เรื่อง เมื่อหันหน้ากราบพระสิงห์ทางซ้ายจะเป็นเรื่องสุวรรณหงส์ ทางขวาจะเป็นเรื่องสังข์ทอง ทั้งสองเรื่องเป็นวรรณคดีที่ได้รับความนิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าทั้งสองเรื่องถูกเขียนในช่วงการบูรณปฏิสังขรณ์วิหารราว พ.ศ.๒๔๐๗ ในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์

          
            

           โดยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เคยเรียนรู้ข้อราชการในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระองค์เป็นผู้อุปถัมภ์การบูรณะวิหารลายคำจึงได้รับอิทธิพลทางราชสำนักสยามเข้ามาทั้งเรื่องวรรณคดี คติความเชื่อ และงานจิตรกรรม เมื่อพิจารณางานจิตรกรรมในวิหารลายคำที่มีขนบสกุลช่างรัตนโกสินทร์จะเห็นได้จากการแต่งกายของกษัตริย์จะจำลองภาพมาจากราชสำนักสยาม ทั้งมงกุฎ ชฎา ผ้านุ่ง เข็มขัดทอง เสื้อผ้าจะมีลายกนกแบบไทย มีโครงสร้างสีสดใส ตำแหน่งการนั่งของกษัตริย์จะสูงกว่าคนทั่วไป

         

            ส่วนขุนนางก็จำลองภาพมาจากราชสำนักสยามเช่นกัน ไม่ว่าขุนนางทั้งหญิงชายจะมีเสื้อผ้าปิดร่างกายมิดชิดสีสันสดใส ขุนนางชายจะใส่เสื้อแขนยาว มีผ้าคาดเอว ไว้ทรงผมทรงมหาดไทย ส่วนคุณท้าวนางในจะมีผ้าสไบปิดของสงวน ไว้ผมทรงปีก นาฏลักษณ์ของตัวละครในภาพจะเป็นการเคลื่อนไหวตามแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ ส่วนรูปแบบปราสาทและวังจะมีทั้งรูปแบบของไทย และพม่า

            

           ในขณะที่ชาวบ้านจะมีรูปแบบจิตรกรรม ๒ แบบ ทั้งแบบรัตนโกสินทร์ และแบบล้านนา ชาวบ้านในจิตรกรรมรัตนโกสินทร์ ถ้าเป็นผู้ชายจะไม่ใส่เสื้อ มีผ้าคาดเอว นุ่งโจงกระเบนสีสด ไว้ผมทรงมหาดไทย ส่วนผู้หญิงจะห่มสไบเฉียงไหล่ซ้าย นุ่งโจงกระเบนลายดอก ไว้ผมทรงปีก

            [img]https://f.p
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่