บรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์วิเคาระห์ข่าวลิขสิทธิ์บอลโลกผิดหลายจุดจนน่าเกลียด

ความวุ่นของการถ่ายทอดสดบอลโลก กับกฎ Must Carry ที่เจ้าอื่น carry ไม่ได้ ปัญหาไม่ใหม่ ฉายซ้ำ ‘อำนาจทุน’ ที่รัฐต้องเกรงใจ
หลังจากที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) รวบรวมเงิน 1,300 ล้านบาทไปซื้อสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด (Media Rights Licensees) ฟุตบอลโลก 2022 มาได้ ปัญหาที่เกี่ยวกับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกก็ยังไม่หมดไป

ในช่วงสัปดาห์แรกที่ฟุตบอลโลกเริ่มฟาดแข้ง ได้เห็นอย่างน้อยๆ สองประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายทอดสด ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนที่ต้องการดูฟุตบอลโลก 

ปัญหาแรกคือ การที่ทรูซึ่งร่วมลงเงิน 300 ล้านบาท ได้สิทธิ์ในการการถ่ายทอดสดไป 32 คู่ จากการแข่งขันทั้งหมด 64 คู่ นั้นเป็นสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งยังได้สิทธิ์ในการเลือกคู่ที่จะถ่ายทอดสดไปก่อนด้วย สะท้อนถึงความไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียมอย่างมาก

สำหรับปัญหาแรกนี้คลี่คลายไปแล้ว โดยการที่เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทรูยอมให้ช่องทีวีดิจิทัลถ่ายทอดสดคู่ขนานได้ 16 คู่จากทั้งหมด 32 คู่ที่ทรูได้ไป ซึ่งยังคงมี 16 คู่ที่ทรูได้ไปแบบ exclusive เพียงเจ้าเดียว 

อีกปัญหาที่ตีคู่กันมาคือ การที่กฎ Must Carry ไม่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งเราจะคุยกันต่อไปยาวๆ 

ก่อนจะคุยกันเรื่องนี้ เราต้องแยก ‘การทำงานของกฎ Must Carry’ กับ ‘ความเหมาะสมของการมีกฎ Must Carry’ ออกเป็นคนละประเด็นกัน 

เรื่องการมีอยู่ของกฎ Must Carry มีการพูดกันมาเยอะแล้วว่า ควรยกเลิกไป เพราะกฎนี้เป็นอุปสรรคที่ทำให้ภาคเอกชนไม่กล้าลงทุนทำธุรกิจซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเข้ามา เพราะการมีกฎนี้ทำให้ต้นทุนสูง และทำกำไรได้ยาก 

อย่างไรก็ตาม การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ของไทยตอนนี้ยังคงอยู่ภายใต้กฎ Must Carry ของ กสทช. อีกทั้งเงินที่ใช้ในการซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดสดจำนวน 600 ล้านบาท เป็นเงินจาก กสทช. ซึ่งเป็นเงินของรัฐ ไม่ใช่การซื้อสิทธิ์ที่เป็นสิทธิ์ขาดของเอกชน ดังนั้น การดำเนินการถ่ายทอดสดก็ควรจะเป็นไปตามกฎ อย่างเหมาะสม เท่าเทียม และเป็นธรรม 

สาระสำคัญของกฎ Must Carry คือ ผู้ให้บริการทีวีทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม หรือโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต (IPTV) ต้องนำสัญญาณของช่องทีวีดิจิทัลพื้นฐานซึ่งเป็นฟรีทีวีไปเผยแพร่ด้วย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงทีวีดิจิทัลที่เป็นฟรีทีวีได้ ไม่ว่าประชาชนจะดูทีวีผ่านช่องทางการแพร่ภาพแบบใดก็ตาม

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ บ้านไหนดูทีวีผ่านกล่อง AIS PLAYBOX ก็จะต้องสามารถดูช่องทีวีดิจิทัลพื้นฐานที่เป็นฟรีทีวีผ่านกล่องนั้นได้ด้วย บ้านไหนดูทีวีผ่านดาวเทียมก็ต้องสามารถดูช่องฟรีทีวีได้ด้วย

ปัญหาในครั้งนี้ก็คือ การถ่ายทอดสดจำนวน 32 คู่ที่ทรูได้ไปนั้น ทรูเลือกนำไปถ่ายทอดผ่าน IPTV และ OTT ของทรู ซึ่งไม่ใช่ช่องทีวีดิจิทัลภายใต้ กสทช. (และมีบางคู่ที่ถ่ายทอดผ่านช่อง ทรูโฟร์ยู ที่เป็นฟรีทีวี แบบความคมชัดระดับมาตรฐาน) แล้วเมื่อไม่ใช่ช่องทีวีดิจิทัลพื้นฐานตามที่ กสทช.บังคับใช้กฎ Must carry ดังนั้น จึงไม่ต้องให้ทีวีรูปแบบอื่นนำสัญญาณภาพไปเผยแพร่ต่อ 

มันจึงเกิดปัญหาขึ้นมาว่า การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 16 คู่ กลายเป็น exclusive content ของทรู ที่จะดูได้ผ่านช่องทางของทรู ซึ่งจะต้องจ่ายเงินดูเท่านั้น ประชาชนไม่สามารถดูฟรีได้ ขัดกับเจตนารมณ์ของกฎ Must Have และ Must Carry ที่กำหนดขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนได้ชมการแข่งขันฟุตบอลโลกแบบไม่ต้องจ่ายเงิน 

ประชาชนจำนวนมากจึงตั้งคำถามว่า แล้วทำไมรัฐยอมให้เอกชนอย่างนั้น 

และถ้าย้อนความจำกลับไปไม่หลายปีนัก หลายคนน่าจะจำได้ว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ต่างกันเพียงรายละเอียดเท่านั้น 

เมื่อ พ.ศ. 2561 การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ไม่มีเอกชนรายใดซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเข้ามา รัฐบาลจึงเจรจาให้เอกชน 9 รายลงขันกันจนได้เงินนำไปซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสดจากฟีฟ่า เพื่อให้ ‘มีการถ่ายทอดสด’ ใประเทศไทย ตามกฎ Must Have 

ตอนนั้นก็เป็นเรื่องเป็นราวว่า ทรูซึ่งเป็น 1 ใน 9 เอกชนที่ร่วมลงขันร้องต่อศาลไม่ให้ AIS นำสัญญาณการถ่ายทอดสดจากฟรีทีวีไปเผยแพร่ผ่าน AIS PLAYBOX ซึ่งก็จบลงด้วยการที่ช่องดิจิทัลทีวีบนบน AIS PLAYBOX กลายเป็นจอดำ 

หากเรามองจากฝั่งเอกชนที่นำเงินหลักร้อยล้านบาทมาร่วมทุนอย่างไม่ได้ยินดีเต็มใจตั้งแต่แรก ก็พอจะเข้าใจได้ว่า บริษัทก็ต้องหาทางทำธุรกิจให้คืนทุนหรือได้กำไรจากเงินที่ลงไป

แต่ทำไมรัฐยอมให้เอกชนกำหนดอะไรเองได้ขนาดนั้น?

คำตอบมันอาจจะเรียบง่ายมากๆ แค่ ‘ความเกรงใจ’ รัฐเกรงใจในทุนที่เขาให้มา เกรงใจในอำนาจของทุนที่มีอำนาจสูงในทุกยุคสมัย  

หรือมันอาจจะไม่เรียบง่ายอย่างนั้น… 

ถ้าหากเราไปดูรายละเอียดลงไปในกรณีปัจจุบันนี้ ทรูห้ามไม่ให้ผู้ให้บริการ IPTV และ OTT รายอื่นเผยแพร่ภาพการแข่งขัน โดยบอกว่า “ทรูในฐานะผู้ได้รับสิทธิในการเผยแพร่การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) ในระบบ IPTV และระบบ OTT ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ดำเนินการปกป้องสิทธิตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาโดยยื่นฟ้องผู้ให้บริการทีวีอินเทอร์เน็ตรายหนึ่งที่ให้บริการผ่านกล่อง AIS PLAYBOX ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการชั่วคราวด้วย” 

แล้วต่อมา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ก็มีคำสั่งห้ามบริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (SBN) ผู้ให้บริการ AIS PLAYBOX แพร่เสียงและแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก เป็นการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มทรูในฐานะผู้ได้รับสิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

จะเห็นว่า ทรูพูดในฐานะผู้ได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว แต่ในเอกสารอย่างเป็นทางการของฟีฟ่าระบุว่า ผู้ซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสดทุกช่องทางในประเทศไทยเป็นเจ้าเดียวกัน คือ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) 

จึงน่าจะตั้งคำถาม หรือตั้งสมมติฐานต่อไปได้ว่า…

สิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่ กกท. ซื้อมาครบทุกคู่การแข่งขันนั้น กกท.ตกลงยกสิทธิ์การถ่ายทอดสดจำนวนครึ่งหนึ่งให้ทรู และยังมีเงื่อนไขว่าทรูจะได้ถ่ายทอดสดผ่าน IPTV และระบบ OTT แต่เพียงผู้เดียว แลกกับเงิน 300 ล้านบาท ใช่หรือไม่ - ถ้าใช่ ก็คงย้อนกลับไปที่ว่า รัฐเกรงใจในการลงเงิน 300 ล้านบาทนั้น ซึ่งแม้ขัดกับกฎ Must Carry แต่แน่นอนว่ามันสามารถอธิบายได้ว่า มีกฎหมายที่อยู่สูงกว่ากฎ Must Carry ของ กสทช. อย่างที่ทรูบอก 

หรืออีกสมมติฐานหนึ่งคือ ในการดีลซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสดจากตัวแทนของฟีฟ่านั้น กกท.ระบุไว้แต่แรกว่า จะเผยแพร่ภาพและเสียงผ่านฟรีทีวีจำนวนกี่คู่ และเผยแพร่ผ่าน IPTV กับ OTT จำนวนกี่คู่ ซึ่งหมายความว่า ดีลนี้ไม่ได้ซื้อมาในแพ็กเกจเต็ม (แพ็กเกจถ่ายทอดสด 64 คู่ได้ทุกช่องทาง) ใช่หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นตามสมมติฐานนี้ การที่บอกว่าเจรจาได้ราคาต่ำลง ก็คงไม่จริง แต่เป็นการลดราคาลงตามเงื่อนไขการถ่ายทอดสดที่ไม่ได้ถ่ายทอดสดครบทุกคู่ผ่านทุกช่องทาง 

หรืออาจจะมีสมมติฐานหรือความเป็นไปได้อื่นนอกเหนือจากนี้ 

แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นตามสมมติฐานไหนก็ตาม กกท.น่าจะทราบดีตั้งแต่แรกว่า ประชาชนจะไม่มีทางได้ดูฟุตบอลโลกฟรีครบ 64 คู่อย่างที่ป่าวประกาศ แต่ก็ยังมาป่าวประกาศเอาความดีความชอบว่าสามารถซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสดมาให้ประชาชนได้ชมฟรีครบทุกคู่  

https://plus.thairath.co.th/topic/money/102464?utm_source=LINEOA&utm_medium=BC%20NEWSB
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่