อะเมซอน (AWS) ตั้ง Region แห่งใหม่ในไทย (แห่งที่ 3 ในอาเซียนต่อจาก SGP และ IDN) กับโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย

การลงทุนระบบคลาวด์ของ AWS จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยอย่างไรบ้าง?

ข่าวจากกรุงเทพธูรกิจ บอกว่า อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services: AWS) บริษัทในเครือ Amazon.com, Inc. ประกาศแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ ด้วยการเปิดตัว Region ในประเทศไทย ที่จะมีชื่อว่า AWS Asia Pacific (Bangkok) โดย AWS ได้ประกาศแผนที่จะสร้าง AWS  Region อีก 8 แห่งในออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย อิสราเอล นิวซีแลนด์ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงประเทศไทย

เลขา BOI ให้สัมภาษณ์ว่า
“บริการคลาวด์เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนที่สําคัญที่สุดของเศรษฐกิจดิจิทัล เรายินดีกับแผนของ AWS ในการสร้าง region ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยพัฒนาจุดยืนของเราในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในเอเชีย และเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนําสําหรับการลงทุน"

เนื้อข่าวค่อนข้างยาวเพราะมีคำให้สัมภาษณ์ของทาง AWS, รัฐมนตรีและเลขาของ BOI
ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1032946

ตามข่าวด้านบนของกรุงเทพธุรกิจ (ข่าว ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2565) ทาง AWS ได้ประกาศแผนที่จะสร้าง AWS  Region อีก 8 แห่งทั่วโลก ผ่านไปแล้ว 1 เดือน ปรากฏว่า AWS เปิด Region ไปแล้ว 2 แห่งคือที่เมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์และที่สเปน ตอนนี้เหลืออีก 6 แห่ง รวมไทยด้วย

ข่าวจาก marketthink บอกว่า AWS Region ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วในประเทศไทยด้วยงบการลงทุนกว่า 1.9 แสนล้านบาทในอีก 15 ปีต่อจากนี้ แถมยังเผยอีกว่า พร้อมปั้นไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตอีกด้วย
ที่มา: https://www.marketthink.co/32001

ข่าวจากอมรินทร์ทีวี บอกว่า การลงทุนของ AWS ด้วยงบลงทุนกว่า 1.9 แสนล้านบาท ในช่วง 15 ปีข้างหน้า จะผลักดันไทยขึ้นเป็นแถวหน้าในเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีรายงานก่อนหน้านี้ว่า AWS ได้ซื้อที่ดินร่วมสามแปลงเพื่อพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ขึ้นเองในเขตพื้นที่ทางตอนใต้ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ได้เปรียบทางกลยุทธ์ เพราะใกล้กับสถานีเคเบิล ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
ที่มา: https://www.amarintv.com/spotlight/technology/detail/34838

ลองไปนั่งหาข้อมูลของ AWS แล้ว พอจะสรุปตามที่เข้าใจได้ดังนี้

Region 3 แห่งในอาเซียน
1. สิงคโปร์ เปิดใช้งานในปี 2010
2. จาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย เปิดใช้งานในปี 2021
3. กรุงเทพฯ ประเทศไทย (กำลังดำเนินการจัดตั้ง)

ภาพจากเว็บของ AWS ซึ่งในส่วนของกรุงเทพฯ ยังเป็นจุดสีแดงอยู่เพราะกำลังดำเนินการ (จุดสีแดงหมายถึง Coming Soon ตามที่ระบุในวงรีสีแดงด้านล่างซ้าย)
ที่มา: https://aws.amazon.com/about-aws/global-infrastructure/regions_az/?p=ngi&loc=2
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

1 Region ประกอบด้วยอย่างต่ำ 3 Availability Zones
1 Availability Zone (เรียกย่อๆว่า AZ) ประกอบด้วยกลุ่มของศูนย์ข้อมูล (หรือคลัสเตอร์ของดาต้าเซ็นเตอร์)

Region ในสิงคโปร์และจาการ์ตามีแห่งละ 3 Availability Zones ซึ่งที่กรุงเทพฯ ก็จะมี 3 AZs เช่นเดียวกัน โดยทั้ง 3 AZs ต่อเชื่อมถึงกันด้วยเครือข่ายความเร็วสูงและทำงานแทนกันได้ในกรณีเกิดปัญหาและใช้งานไม่ได้ แต่ละ AZ จะมีระยะทางห่างกันไม่เกิน 100 กิโลเมตร

จากข่าวของอมรินทร์ทีวี (ตามด้านบน) บอกว่า AWS ซื้อที่ดินใน EEC ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีเคเบิล ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อทำดาต้าเซ็นเตอร์ ถ้าเป็นเรื่องจริงก็แสดงว่าต้องมี AZ ในชลบุรี 1 แห่ง ส่วน AZ อีก 2 แห่ง เดาว่าคงอยู่ในกรุงเทพฯ

ภาพจำลองของ Region และ AZ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

Edge Location เปรียบเหมือนศูนย์ย่อยๆที่ตั้งตามจุดต่างๆเพื่อให้บริการข้อมูลแก่ผู้ใช้งาน
ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ เช่น รูปภาพความละเอียดสูงเก็บอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ใน AZ ในลอนดอน คุณสามารถ cache รูปภาพเหล่านี้ไปยัง Edge Location ตามจุดต่างๆในเอเชีย เมื่อผู้ใช้งานในประเทศไทยอยากได้รูปภาพพวกนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องไปดาวน์โหลดภาพจากเซิร์ฟเวอร์ในลอนดอนซึ่งจะทำให้เกิดความล่าช้า สามารถดาวน์โหลดรูปภาพจาก Edge Location ในประเทศไทยได้เลย

จำนวน Edge Location ในชาติอาเซียน
กรุงเทพฯ ประเทศไทย 10 จุด
สิงคโปร์ 6 จุด
จาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย 2 จุด
กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย 2 จุด
มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ 1 จุด
ฮานอย ประเทศเวียดนาม 1 จุด
โฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม 1 จุด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่