กินข้าวมันไก่ Michelin🌟เชียงใหม่ แล้วไป..วัดพระธาตุศรีจอมทอง เดินเพลินๆ ที่น้ำตกแม่ยะ ดอยอินทนนท์ น้ำตกงามม่วนใจ🌄

ผมมาแวะกินข้าวมันไก่ ที่ร้านแดนข้าวมันไก่ รางวัล Michelin Guide 2022 เลยนะครับ จากนั้นผมก็ไปวัดพระธาตุศรีจอมทอง ไปสักการะหลวงพ่อเพชร พระประธานแห่งวัดพระธาตุศรีจอมทอง ซึ่งมีตำนานว่า เดิมมีหลวงพ่อเพชรถึง 2 องค์ ต่อมาคือ หลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง จ.พิจิตร และอีกวัดหนึ่ง ที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง คือ หลวงพ่อเพชร วัดบาง เมืองกำแพงเพชร เดียวไปถึงวัดแล้วผมค่อยเล่าให้ฟังครับ ก่อนออกจากวัด ที่สำคัญอีกเรื่อง คือ ไปกราบสรีระสังขารของ หลวงปู่ทอง พระพรหมมงคล วิ. (หลวงปู่ทอง สิริมังคโล) ได้ทำบุญบริจาคทรัพย์ปรับปรุง ก่อสร้างศาสนสถานและถวายผ้าไตร แบ่งบุญทุกท่านด้วยนะครับ 
             จากนั้นผมก็ขับรถมุ่งหน้าไปที่ น้ำตกแม่ยะ ระยะทางจากวัดพระธาตุศรีจอมทอง ก็ประมาณ 13 กม. นิดๆ ใช้เวลาสัก ซาวห้านาทีโดยประมาณ ก็จะถึงด่านตรวจ จากด่านตรวจไปอีก 6  กม. ก็จะถึงลานจอดรถของน้ำตก เดินไปอีกสักพักก็เจอน้ำตกแม่ยะ พอจะรำลึกได้ว่า มาน้ำตกแม่ยะนี้ ล่าสุดน่าจะ 25-26 ปีก่อน สวยงามครับ น้ำมาก       
 

ข้าวมันไก่ ร้านแดน  
           ผมมากินสาขาสันทราย แถวๆ สันทรายน้อย รางวัล Michelin Guide 2022 เลยนะครับ  (ร้านนี้อยู่มาทางกาดสามแยก ทางไปสันทรายน้อย เยื้องกับ ปั๊ม PTT) ความนุ่ม ฉ่ำของเนื้อไก่ ความหอม นุ่มเหนียว ความหอมของข้าวมัน มีความหอมนุ่ม หวานอ่อนๆ หอมแตะจมูก กลิ่นกระเทียมไม่แรง น้ำซุปมีกลิ่นหอม ร้อนดี มีรสหวานอ่อนๆ แต่เค็มไปนิดๆๆๆๆ ส่วนน้ำจิ้ม หอมเต้าเจี้ยวและขิง หวานๆ เค็มๆ เยี่ยมเลยครับ ร้านนี้มีเครื่องใน สั่งเพิ่มได้ครับ ภาพรวมผมให้คะแนนเต็ม 10 ได้เลยครับ 
            ส่วนตัวจากที่กินมาหลายร้านในเชียงใหม่ ผมว่า ให้เป็นลำดับต้นๆ ได้เลยครับ ที่เคยมีชื่อมาก่อนและพูดกันในสื่อโซเชียลหรือใน กระทู้ท่องเที่ยวว่า มาเชียงใหม่ต้องไปกินข้าวมันไก่ ร้านโน้นนี้อาจไม่ใช่แล้วนะครับ จานนี้ผมสั่งพิเศษ 55 บาท กินเสร็จก็ไปต่อเลยครับ วัดพระธาตุศรีจอมทอง 

 
 วัดพระธาตุศรีจอมทอง
          ผมมาวัดนี้อยู่บ่อยๆ มากราบหลวงพ่อเพชร พระประธานของวัด และมากราบสรีระสังขารของ หลวงปู่ทอง พระพรหมมงคล วิ. (หลวงปู่ทอง สิริมังคโล) ซึ่งท่านเป็นพระนักปฏิบัติ เป็นพระสุปฏิปันโน เป็นที่เคารพศรัทธาในวัตรปฏิบัติของศาสนิกชนจำนวนมาก 

         จะว่าไป เรื่องตำนานหลวงพ่อเพชร วัดพระธาตุศรีจอมทอง ปราชญ์ชาวบ้านจอมทอง บางท่านเชื่อว่าองค์พระปฏิมาด้านในของหลวงพ่อเพชรน่าจะเก่าถึงพุทธศตวรรษที่ 17-18  
            คุณเพ็ญสุภา สุขคตะ นักเขียนด้านโบราณคดี ได้ให้ความเห็นว่า เคยลงพื้นที่สำรวจวัดร้างหลายแห่งแถว “เมืองกลาง” ในเขตอำเภอจอมทอง ใกล้กับวัดพระพุทธบาทหัวเสือ เคยเป็นที่ตั้งของวัดย่าแต้มหรือวัดท่าแย้ม แต่ปัจจุบันน้ำแม่กลางเปลี่ยนเส้นทางเดินไปแล้ว พบว่าบริเวณนั้นมีร่องรอยหลักฐานอารยธรรมที่เก่าแก่ถึงยุคหริภุญไชยมากพอสมควร  และจากข้อความในช่วงการสร้างวัดพระธาตุศรีจอมทอง ความว่า “ได้ชวนชาวบ้านพากันไปรื้อเอาวิหารกับทั้งพระพุทธรูปองค์ใหญ่หล่อ (ก่อ-ปั้น) ด้วยปูนจากวัดย่าแต้ม (เชิงอรรถอธิบายเพิ่มว่า บางฉบับเขียนวัดท่าแย้ม) ซึ่งอยู่ข้างแม่น้ำกาละ (เชิงอรรถว่าหมายถึงน้ำแม่กลาง) มาไว้ในวัดศรีจอมทองใน พ.ศ.2022”
          แสดงว่า มีการย้ายพระประธานมาจากวัด ย่าแต้ม และที่สำคัญ มีการกล่าวถึง หลวงพ่อเพชร ถึง 2 องค์ เป็นองค์พี่กับ องค์น้อง (ที่กล่าวว่าองค์พี่ เพราะมีขนาดใหญ่กว่า) ในช่วงที่มีการปราบขบถจอมทอง  พระยาพิจิตรขอให้แม่ทัพอยุธยาที่จะไปตีจอมทอง ช่วยเอาพระพุทธปฏิมาจากเมืองเหนือมาฝากให้ด้วย ปรากฏว่าแม่ทัพนายนั้นได้ชะลอพระพุทธปฏิมาจากจอมทองลงมาถึง 2 องค์ นำมาไว้ที่เมืองกำแพงเพชร จากนั้นก็แจ้งให้เจ้าเมืองพิจิตรขึ้นมารับเอง 1 องค์ ปัจจุบันอยู่วัดท่าหลวง จ.พิจิตร ส่วนอีกองค์หนึ่ง (ช่วงอกกว้างกว่า จึงเรียกเป็นองค์พี่) ปัจจุบันอยู่ที่วัดบาง จ.กำแพงเพชร 

          แต่จากบทความของ คุณเพ็ญสุภา สุขคตะ นักเขียนด้านโบราณคดี ลงในนิตยสารมติชน ( https://www.matichonweekly.com/culture/article_427719 ) ได้ให้ข้อมูลว่า ศ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะระดับนานาชาติ ได้ประมาณการอายุของหลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง จ.พิจิตร ว่าน่าจะสร้างราวกลางพุทธศตวรรษที่ 22 ตรงกับสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของสยาม และพระเจ้ามังทรา (นรธาเมงสอ โอรสของพระเจ้าบุเรงนอง) ของพม่า โดยหลวงพ่อเพชร มีพุทธศิลป์แบบล้านนาตอนปลาย ส่วนตัวผมก็เห็นว่ามีบางส่วนของศิลป์แบบสุโขทัยผสมนิดๆ เมื่อเทียบจากข้อมูลและภาพของ หลวงพ่อเพชร วัดบาง จ.กำแพงเพชร 
           ส่วนที่ว่ากันว่า หลวงพ่อเพชร น่าจะเป็นศิลปะแบบ พระสิงห์ 1 ล้านนา หรือ “พระเชียงแสนสิงห์ 1” หรือจะใช้คำว่า “พระล้านนา สิงห์ 1” หรือ “พระสิงห์ 1 ล้านนา” ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่กูรูทางพุทธศิลป์สยามกันต่อไป อาจจะแพราะมีทั้ง “กูรู” และ “กูรู้“ 

           สิ่งที่น่าสนใจ มีอีก 2 เรื่อง คือ ประวัติเรื่องหลวงพ่อเพชรของเมืองกำแพงเพชรนี้ ในช่วงสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (2034-2072) โอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แม่ทัพฝ่ายสยามที่ถูกส่งขึ้นมาปราบจอมทองนั้นคือ “ขุนแผน” ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ พระพรหมมงคล (หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง (มรณภาพไปแล้ว) ได้สั่งให้ศิษย์ของหลวงปู่ ไปทำการจำลองหลวงพ่อเพชรองค์พี่จาก วัดบาง จ.กำแพงเพชร ขนาดเท่าองค์จริง มีพิธีแห่อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนวิหารวัดพระธาตุศรีจอมทอง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 
          หลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวงนี้ ผมไปอยู่หลายครั้งมาก ส่วนที่วัดบาง จ.กำแพงเพชร ยังไม่มีโอกาสไป คงต้องหาโอกาสไปแวะสักการะสักครั้ง
            เสร็จจากกราบสรีระสังขารของ หลวงปู่ทอง ผมก็ขับรถออกจากวัด มุ่งหน้าไปน้ำตกแม่ยะ ไม่ไกลจากวัดเท่าไหร่ 

ทางวัดเขามีดอกไม้ให้ฟรี ผมก็แสกนเงินทำบุญไป ง่ายดีครับ 

องค์นี้ คือ หลวงพ่อเพชรองค์พี่ ที่จำลองมาจากวัดบาง จ.กำแพงเพชร 


แบ่งบุญท่านผู้อ่านทุกท่านตวยเน้อ สาธุ  🙏🏻🙏🏻🙏🏻 😃😄


                  
น้ำตกแม่ยะ เขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 
               ผมขับรถออกจากวัดมุ่งหน้าไปที่ น้ำตกแม่ยะ ระยะทางจากวัดพระธาตุศรีจอมทอง ก็ประมาณ 13 กม. นิดๆ ใช้เวลาสัก ซาวห้านาทีโดยประมาณ ก็จะถึงด่านตรวจ จากด่านตรวจไปอีก 6  กม. ก็จะถึงลานจอดรถของน้ำตก เดินไปอีกสักพักก็เจอน้ำตกแม่ยะ  
                หากท่านใดไปเที่ยวที่และเสียค่าเข้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์แล้วก็เอามาแสดงที่นี่ได้ หรือหากจ่ายที่นี่แล้วก็เอาไปแสดงที่ด่านทางเข้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ได้เช่นกันครับ ไม่ต้องมาเสียเงินซ้ำซ้อน น้ำตกแม่ยะนี้ ก็สวยงามดี มีระยะการตกของน้ำลดลั่นเป็นช่วงๆ รื่นรมย์ อากาศเย็นสบาย น้ำมาก มาช่วงนี้ ไม่เจอยุงเลย ดีจังเลยครับ สดชื่นๆๆ 
 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

      ก่อนปิ๊กบ้าน ขับเลาะทางริมน้ำปิง มาแวะที่สะพานศรีวิชัยอนุสรณ์ เมืองลำพูน (สะพานนี้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิง คั้นระหว่าง เมืองลำพูน กับ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่) ที่คอสะพาน มีอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย บรรยากาศมองบนสะพาน สองฝั่งรอมแม่น้ำเป็นเขื่อนมีคนมาเดิน-วิ่ง ออกกำลังกาย ดีจังอยากย้ายมาอยู่แถวๆนี้จัง ........... วิวงามดีจังเลยครับ ไปหล่ะ ปิ๊กบ้านหล่ะครับ 


แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่