ก่อนจะเป็น ‘ลายกินรี’ และความท้าทายกว่า ๒๐ ปี บนถนนนักเขียนของ นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ

ก่อนจะเป็น ‘ลายกินรี’ และความท้าทายกว่า ๒๐ ปี บนถนนนักเขียนของ นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ
โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

ละครเรื่อง ‘ลายกินรี’ ที่กำลังโลดแล่นอยู่ทางช่อง ๓ ในเวลานี้ เป็นหนึ่งในผลงานนวนิยายเรื่องเยี่ยมจากปลายปากกาของ ‘พงศกร’ หรือ ที่แฟนๆ นักอ่านเรียกติดปากว่า คุณหมอโอ๊ต-น.พ.พงศกร จินดาวัฒนะ ผู้ชายบุคลิกอบอุ่น ใจดี ที่มีฝีไม้ลายมือในการเล่าเรื่องได้ฉกาจฉกรรจ์ ทุกตัวอักษรบนหน้ากระดาษล้วนผ่านกระบวนความคิดมาอย่างถี่ถ้วน จึงทำให้เรื่องราวทุกเรื่องที่ถ่ายทอดสนุกสนาน มีมิติ เต็มไปด้วยความสมจริง และยังมีแนวคิดดีๆ ให้กับผู้อ่านได้นำไปปรับใช้กับชีวิตอีกด้วย
“ในมุมมองของผม เราต้องทำงานทุกชิ้นอย่างเต็มที่ที่สุด สิ่งที่นำเสนอกับผู้อ่าน ต้องให้อะไรที่มีคุณค่ามากพอที่เขาอ่านแล้วจะรู้สึกซาบซึ้ง ประทับใจ ให้ข้อคิดบางอย่างที่จะไม่จบลงแค่หน้าสุดท้าย ผมคิดว่าตรงนี้ทำให้เรากับนักอ่านผูกพันกันครับ”

จากความชื่นชอบแนวสืบสวนสอบสวน สู่ นวนิยายเรื่องเยี่ยม
‘ลายกินรี’ เคยตีพิมพ์ลงในนิตยสารพลอยแกมเพชร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ แต่เมื่อเขียนไปได้ ๘ ตอน ทางนิตยสารก็มีอันต้องปิดตัวลง คุณหมอจึงตัดสินใจเขียนต่อจนจบและรวมเล่มวางจำหน่ายที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในปี ๒๕๖๐ “ผมชอบอ่าน อกาธา คริสตี หรือผลงานของนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นแนวนี้ พอมาทำงานเอง นอกจากเขียนเรื่องแนวเหนือจริงก็เริ่มเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนด้วย เริ่มจากเรื่อง ‘ปริศนามาเลศ’ แมวนักสืบที่เป็นเรื่องลึกลับแบบเบาๆ จากนั้นก็คิดว่าอยากเขียนเรื่องสืบสวนสอบสวนที่เป็นพีเรียดบ้าง ซึ่งถ้าอ่านงานของฝรั่งก็จะมีเรื่องสืบสวนสอบสวนที่เกิดขึ้นในยุควิกตอเรียน เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 หรือแม้แต่ยุคอียิปต์ก็มีนักเขียนฝรั่งที่เขียนแนวนี้นำมาใช้เป็นฉากหลังในการเล่าเรื่องเช่นกัน
“พอคิดว่าจะทำเรื่องแนวนี้ก็เลยเลือกยุคสมัยที่จะเล่า ซึ่งพีเรียดที่ผมสนใจมากคือสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ช่วงนั้นเป็นช่วงที่คนต่างชาติเข้ามาเยอะ มีบาทหลวง มีโรงพยาบาลที่เป็นการแพทย์ตะวันตกมาตั้งอยู่ด้วย ถ้าพูดถึงกระบวนการสืบสวนสอบสวน แน่นอนว่าต้องมีเรื่องการชันสูตร การแพทย์ นิติเวช เข้ามา และโดยพื้นฐานองค์ความรู้เรื่องการแพทย์ของคนไทย เราไม่ค่อยได้ไปแตะเรื่องนิติเวช การชันสูตรเพื่อหาเหตุผลของการตายสักเท่าไหร่ แต่ถ้ามีฝรั่งเข้ามาร่วมด้วยคิดว่าน่าจะนำข้อมูลทางการแพทย์บางอย่างมาใช้อธิบายเหตุฆาตรกรรมได้ เลยคิดว่าตรงนี้แหละเป็นพีเรียดที่เหมาะกับเรื่องที่อยากเล่าที่สุด”
 
ผ้าลายกินรี เบาะแสชิ้นสำคัญที่จะพาไปหาฆาตกร
พอเริ่มลงรายละเอียดมากขึ้น คุณหมอก็เริ่มวางตัวตัวละครสำคัญๆ และเบาะแสสำคัญของเรื่อง “ผมวางตัวคนที่เสียชีวิตเป็นชาวฝรั่งเศสในเมืองไทย โดยให้คนๆ นี้มีคนเกลียดเยอะมาก ทำให้หลายคนมีโอกาสเป็นฆาตรกร ซึ่งความสนุกในการสืบสวนสอบสวนอยู่ตรงนี้ นอกจากนี้ยังบังเอิญอีกด้วยว่าชายชาวฝรั่งเศสคนนี้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง มีความสำคัญ อีกทั้งการเมืองสมัยนั้นก็กำลังง่อนแง่น ฝรั่งเศสก็ไม่รู้จะเอายังไง จะมายึดอยุธยาหรือเปล่า ด้านฝรั่งเศสก็สงสัยว่าใครฆ่า จึงจำเป็นที่ต้องหาคำตอบให้ได้ เพราะอาจเป็นชนวนที่นำไปสู่เรื่องที่ใหญ่กว่า ฉะนั้น ออกหลวงอินทราชภักดี แม่พุดซ้อนและเมอซีเออร์โรแบรต์ ตัวละครหลักในเรื่องจึงต้องร่วมมือกันเพื่อที่จะไขคดีว่าใครฆ่ากปิตันฌองแข่งกับเวลา อีกสิ่งที่สำคัญคือพอเป็นเรื่องสืบสวนสอบสวนก็จะต้องมีวัตถุอะไรบางอย่างที่นำไปสู่ตัวคนร้าย ซึ่งผมเองทำซีรีส์ผ้ามาหลายเรื่อง เลยอยากนำเรื่องผ้ามาใช้ และที่ผ่านมาเคยได้ไปดูนิทรรศการผ้าลายอย่างที่สยามสมาคม ได้เห็นความงดงามของผ้าลายกินรีก้านขด ความงดงามของผ้าทำให้ต้องเป็นคนในรั้วในวังเท่านั้นถึงจะใส่ได้ จึงนำเรื่องนี้มาประกอบและคิดต่อไปจนผูกกันมาเป็นเรื่องลายกินรีในที่สุดครับ”

การบ้านสุดท้าทายใน ‘ลายกินรี’
แน่นอนว่าการเลือกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นฉากหลัง แถมยังเป็นเรื่องสืบสวนสอบสวน ทำให้คุณหมอต้องทำการบ้านเพื่อเตรียมเขียนผลงานชิ้นนี้เป็นอย่างหนัก “พอเลือกใช้พีเรียด ข้อมูลที่ต้องเตรียมก็มีทั้งยากและง่ายครับ เรื่องที่ยากคือเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก เราไม่รู้หรอกว่าสมัยนั้นเป็นยังไง ต้องหาข้อมูลให้มากที่สุด จนเราสามารถเห็นภาพคร่าวๆ ในหัวว่า เขาอยู่ยังไง กินยังไง ทำยังไง ชีวิตในแต่ละวันเขาเป็นยังไง ถึงจะเริ่มเขียนได้ แต่เรื่องที่ง่ายขึ้นมาหน่อยคือ พอเป็นยุคที่มีฝรั่งเข้ามาเยอะก็มีเอกสารเยอะ มีบันทึกจากหลายท่านให้เราได้ศึกษา หลักๆ ที่ผมอ่านเลยก็คือ จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม ของ ซิมอน เดอ ลาลูแบร์, จดหมายเหตุการณ์เดินทางครั้งที่ ๒ ของบาทหลวงตาชาร์ด ค.ศ. ๑๖๘๗-๑๖๘๘ ของ กีย์ ตาชาร์ด, จดหมายเหตุฟอร์แบง ของ เชอร์วาเลีย เดอ ฟอร์แบง ฯลฯ แต่ละท่านก็จะเล่าถึงภาระกิจที่มาทำ แล้วก็เล่าถึงสภาพบ้านเมือง เราเลยพลอยได้ข้อมูลมาจากตรงนั้น แต่ก็ต้องกรองอีกที เนื่องจากเป็นแว่นสายตาฝรั่งที่เขาอาจมองไม่เหมือนเรา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เมื่อนำมาเป็นส่วนประกอบในนิยายก็จะมีความสมจริงมากขึ้น นั่นคือความยากชั้นที่หนึ่ง
“ส่วนความยากชั้นที่ 2 คือพอเป็นเรื่องฆาตกรรม มีการตาย ต้องมีการหาสาเหตุของการตาย แม้ในสมัยนั้นเราไม่ค่อยมีการพูดถึง แต่วิชานิติเวชต่างๆ นั้นเกิดขึ้นแล้วทางยุโรป ผมเลยคาดเดาว่าคณะราชทูตที่เดินทางมาบ้านเรา ต้องมีทุกฝ่าย ทุกตำแหน่งเดินทางมา และต้องมีแพทย์มาด้วยแน่ๆ ฉะนั้นแพทย์ที่มากับทีมฝรั่งก็ต้องมีองค์ความรู้เหล่านี้เป็นพื้นฐาน ดังนั้นการชันสูตรศพจึงจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ที่เป็นตะวันตกเข้ามา ผมจึงหาข้อมูลต่อไปว่าสมัยนั้นการชันสูตรทำได้มากน้อยแค่ไหน มีอุปกรณ์อะไรแล้ว มีแว่นขยาย มีเข็มฉีดยา มีมีดอะไรหรือยัง แล้วก็พบว่าหลายอย่างก็มีตั้งแต่ยุคนั้น เช่น เรื่องของการเจาะเลือด แต่อาจยังไม่เข้าใจถึงกลไกการทำงานหรือองค์ประกอบในเลือดมากเหมือนในสมัยปัจจุบัน แต่เรื่องหนึ่งที่ผมเขียนไปแล้วมีนักอ่านบางท่านท้วงมาคือเรื่องน้ำแข็ง คือในเรื่องถึงกปิตันฌองจะเสียชีวิตแล้ว แต่ยังผ่าศพทันทีไม่ได้เพราะต้องรอให้ตัวละครตัวหนึ่งกลับมาแล้วทำการขออนุญาตก่อนจึงจะสามารถวางแผนในการชันสูตร ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ก็คือการถนอมศพ ซึ่งปัจจุบันเรามีห้องเย็น แต่สมัยนั้นไม่มี จึงนำศพไปไว้ในห้องที่มีน้ำแข็ง
“พอเรื่องเล่ามาถึงตรงนี้ นักอ่านบางท่านจึงท้วงกลับมาว่าน้ำแข็งมีในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ก็มีเอกสารยืนยันเยอะมากว่ามีการใช้น้ำแข็งในยุโรปมานานแล้ว หรืออย่างกองเรือของเจิ้งเหอจากจีนก็มีห้องกรุแผ่นทองแดงใต้ท้องเรือ ซึ่งในห้องนั้นจะมีน้ำแข็งที่ได้มาจากการไปตัดจากแม่น้ำในช่วงหน้าหนาวมาใส่ไว้เป็นท่อนๆ เพื่อถนอมอาหารสดสำหรับเตรียมไว้เป็นเสบียง หรือโคลัมบัสก็มีการใช้น้ำแข็งอยู่ในห้องใต้เรือเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเอกสารบางฉบับเล่าว่า เวลาลูกเรือเสียชีวิตในระหว่างการเดินทางก็จะโยนศพทิ้งทะเล แต่ถ้าศพที่เป็นเจ้านายผู้ใหญ่ก็จะเก็บศพเอาไว้ในห้องนั้น ฉะนั้นผมจึงเขียนข้อมูลตรงนี้เล่าไว้ในเรื่องด้วย เพราะรู้ว่าจะต้องมีคนสงสัย เพียงแต่ไม่ได้อธิบายละเอียดขนาดนี้ครับ”

เทคคอร์ส ปรึกษาผู้รู้ เพื่อหาข้อมูลเพิ่ม
การหาข้อมูลของคุณหมอเหมือนการตามหาขุมทรัพย์ที่ฝังไว้อยู่หลายที่ ทั้งในห้องสมุดส่วนตัว หอสมุดแห่งชาติ รวมถึงขอคำปรึกษาจากอาจารย์ เพื่อนๆ ที่นับถือกันในแวดวงประวัติศาสตร์ “บางท่านก็เมตตาช่วยหา ช่วยส่งเอกสารส่งมาให้ อย่างเช่น อาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม ซึ่งท่านมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับแวดวงประวัติศาสตร์อยุธยาค่อนข้างมาก ท่านก็ช่วยหาเอกสารหลายฉบับที่ผมหาไม่ได้ หรืออย่างเรื่องของผ้าก็จะมีอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ รวมถึงผู้รู้ท่านอื่นๆ ที่ให้ข้อมูล ผมก็เก็บเล็กผสมน้อย มีเข้าไปลงทะเบียนนั่งฟังเล็กเชอร์ประวัติศาสตร์การแพทย์ยุโรปเพื่อหาข้อมูลอื่นๆ รวมถึงเรื่องน้ำแข็งด้วยครับ”



ใจคนยากแท้หยั่งถึง
อย่างที่เล่าไปตั้งแต่ต้นว่า นอกจากความสนุกที่ได้รับจากการเล่าเรื่องผ่านปลายปากกาของคุณหมอ สิ่งหนึ่งที่ตามมาด้วยเสมอคือข้อชวนขบคิดที่เรานำไปใช้ต่อได้ในชีวิตประจำวัน “สำหรับลายกินรี เรื่องที่ผมอยากบอกก็คือใจคนยากแท้หยั่งถึง คนบางคนที่เราเห็นหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสดูเป็นคนดี จริงๆ ก้นบึ้งของจิตใจเขาเป็นอย่างไร บางทีเราเดาไม่ได้ อย่างกปิตันฌองถึงจะมีคนเกลียดชังมากมาย แต่คนที่เกลียดชังเขาบางคนก็ยังยิ้มแย้มให้เขา นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นการตีแผ่ด้านมืดของจิตใจคนออกมาให้เราเห็นครับ”


นิยายซีรีส์ ชุด ‘นักสืบสตรีศรีอยุธยา’
นอกจากลายกินรี คุณหมอยังเล่าเรื่องสนุกๆ อย่างนี้ไว้ในลายราชสีห์ และลายเหมราช อีกด้วย “ผมแพลนไว้ตั้งแต่ต้นเลยว่าจะทำเป็นไตรภาค เพราะแผ่นดินสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเพทราชา เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจ มีทั้งเรื่องการเมือง เรื่องคนหลายประเทศที่เดินทางเข้ามา อย่างลายกินรีจะเล่าถึงช่วงปลายๆ แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และส่งต่อไปถึงแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่ามีตัวละครรองคือขุนแสนพินิตกับแม่ลูกจันซึ่งเป็นญาติผู้น้องของพุดซ้อนที่ออกมาตั้งแต่ลายกินรี แล้ว ๒ คนนี้ก็คือพระเอก นางเอกในลายเหมราช และจะเล่าเรื่องเหตุการณ์ทางการเมืองในแผ่นดินของสมเด็จพระเพทราชาต่อครับ ส่วนลายราชสีห์จะเล่าย้อนกลับไปถึงช่วงต้นของเรื่องราวทั้งหมด เป็นเรื่องของคุณหญิงแสร์ เจ้าจอมสารภี และหมอโหมดซึ่งเป็นพ่อของพุดซ้อน ทั้ง 3 คนนี้เป็นตัวละครที่มีสีสัน มีพลังเยอะ มีความเป็นมาที่น่าสนใจ ผมจึงเล่าเรื่องของทั้งสามตัวละครนี้ไว้ในลายราชสีห์ และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนลายกินรี ๒๐ ปี ตรงกับสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จริงๆ ทั้งสามเรื่องจบในตัวเองทั้งหมด แต่ถ้าอ่านต่อกันจะรู้สึกอิ่มเพราะว่าได้เจอตัวละครที่เคยรู้จัก เคยเห็น และถ้าจะเรียงลำดับเหตุการณ์คือลายราชสีห์ ลายกินรี และลายเหมราช แต่ถ้าจะอ่านตามที่นักเขียนเขียน จะเป็นลายกินรี ตามด้วยลายเหมราช ปิดท้ายด้วยลายราชสีห์ครับ”

ความรักชนะทุกสิ่ง
นับไปนับมา คุณหมอเขียนนิยายให้พวกเราได้อ่านกันมากว่า ๒๐ ปี ถึงวันนี้มีนิยายภายใต้นามปากกา ‘พงศกร’ แล้ว ๕๒ เรื่อง คิดโดยเฉลี่ย คุณหมอสร้างผลงานออกมาปีละ ๑-๒ เล่ม ในขณะที่อาชีพหลักก็ยังเป็นคุณหมอ อดสงสัยไม่ได้จริงๆ ว่าคุณหมอมีวิธีการแบ่งเวลาได้อย่างไร “อย่างแรกเลยคือสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่เรารัก ทั้งเรื่องการแพทย์หรือการเขียนหนังสือ ถ้าได้ทำในสิ่งที่รัก เราจะทำได้ จะอดทนกับมันแม้ว่าจะเหนื่อย หนัก อย่างที่สองคือการเรียนแพทย์ช่วยสอนให้มีการคิดอย่างเป็นระบบ มีวินัย พอถึงเวลาทำงานเขียน ก็จะต้องเซ็ตวินัยให้ตัวเองเช่นกัน หลังจากกินข้าว และพาน้องหมาวิ่งเสร็จแล้ว ผมก็จะมาเขียนหนังสือ คุณกฤษณา อโศกสิน เคยบอกว่านักเขียนก็เหมือนนักกีฬา ต้องฝึกทุกวันถึงจะแข็งแรง ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ผมประทับใจมาก เพราะฉะนั้นผมจึงเขียนทุกวัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เขียนนิยายที่กำลังเขียนอยู่ แต่ก็มักจะจดนู่นนี่ เพื่อที่ให้หัวเราได้คิด มีความเชื่อมโยงเรื่องนั้น เรื่องนี้ในหัว แต่การทำงานของผมตรงนี้ก็ไม่ถึงกับหน้าดำคร่ำเครียด บางวันเกเร ไม่เขียนบ้างก็มี หรืออย่างช่วงงานมหกรรมหนังสือระดับชาติที่ผ่านมา ผมก็ตั้งเป้าว่าจะพยายามเขียนเรื่อง ‘ธำมรงค์เลือด’ ออกให้ทันงานให้ได้ เราก็ต้องมาวางแผนว่า นิยายเรื่องนี้วางไว้กี่ตอน และตอนนี้มีเวลาทำกี่วัน ต้องเขียนวันละเท่าไหร่จึงจะทันเวลา นอกจากนี้นักอ่านก็เป็นกำลังใจสำคัญของผมด้วย รู้สึกโชคดีมากที่ได้เจอนักอ่านที่น่ารัก เขามักคอยถามไถ่ เป็นกำลังใจให้กันมาตลอด ทำให้มีแรงขับเคลื่อนว่าหลังจากจบธำมรงค์เลือดแล้วก็ยังหยุดไม่ได้ ต้องเขียนเรื่องอื่นต่อทันที”
 
คอมเมนท์แรงๆ คือธรรมดาโลก
ในขณะที่มีคนชื่นชอบผลงานมากมาย ก็ใช่ว่าจะไม่มีอีกด้านหนึ่ง ซึ่งคุณหมอบอกว่าเรื่องนี้เป็นธรรมดาโลก มีคนรักก็ต้องมีคนเกลียด นิยายที่นำเสนอออกไปก็ต้องมีคนที่ถูกใจและไม่ถูกใจ “คนที่ช
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่