JJNY : เผ่าภูมิยกเขตธุรกิจใหม่พท.เหนืออีอีซี│ชาวนาชุมพวงทุกข์หนัก ท่วมนา│หนี้เสียแตะ 4 แสนล.│สงครามนิวเคลียร์ ใครจะจะชนะ

เผ่าภูมิ เปิด 10 จุดต่างยกเขตธุรกิจใหม่ของเพื่อไทย เหนือชั้นกว่าอีอีซี
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7315585
  
  
เผ่าภูมิ เปิด 10 จุดต่างยกเขตธุรกิจใหม่ของเพื่อไทย เหนือชั้นกว่าอีอีซี ชี้ขาดกลไกนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ในการดึงเงินต่างชาติ
 
เมื่อวันที่ 14 ต.ค.65 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) และผอ.ศูนย์นโยบายพรรคพท.เปิดเผยถึงข้อแตกต่างที่ทำให้นโยบาย “เขตธุรกิจใหม่ 4 ภาค” ของพรรคพท.เหนือกว่าอีอีซี (EEC) 10 ข้อ ดังนี้ 
 
1. อีอีซีแก้ปัญหาด้วยปลายเหตุด้วยสิทธิประโยชน์มาล่อใจ เขตธุรกิจใหม่เข้าไปแก้ไขต้นตอ ทั้งด้านกฎหมายที่เป็นอุปสรรค โดยการสร้างกฎหมายธุรกิจชุดใหม่ สร้างสิทธิประโยชน์ชุดใหม่ และสร้างระบบนิเวศน์ใหม่ทั้งระบบ
 
2. กฎหมายพิเศษในอีอีซี คือกฎหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิประโยชน์ แต่ในเขตธุรกิจใหม่จะมีแพคเกจกฎหมายธุรกิจชุดใหม่ที่ครอบคลุมทุกด้าน เช่น ใบอนุญาต ที่ดินทำกิน การผูกขาดและการแข่งขันทางการค้า การนำเข้าส่งออก แรงงาน วีซ่า ภาษี สิทธิประโยชน์ ธุรกรรมการเงิน ทรัพย์สินทางปัญญา ระบบยุติธรรม เป็นต้น

3. อีอีซีสนับสนุนทุนใหญ่ อุตสาหกรรมหนักไม่กี่ด้าน เพิ่มการผูกขาด แต่เขตธุรกิจใหม่สนับสนุนเปิดโอกาส และเป็นเขตบ่มเพาะทุนย่อยและ SMEs ให้แข่งขันกับทุนใหญ่ได้ เขตธุรกิจใหม่ผนวกกับกฎหมายธุรกิจชุดใหม่ จะเป็นกลไกที่เข้าต่อสู้กับปัญหาทุนผูกขาด ผ่านระบบใบอนุญาตชนิดพิเศษ
 
นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า 
 
4. อีอีซีขาดสิทธิประโยชน์ด้านการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ แต่เขตธุรกิจใหม่มีกฎหมายที่สนับสนุนและรับรองเงินสกุลดิจิทัล ที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) และบล็อกเชนของไทย เพื่อธุรกรรมที่ไร้รอยต่อ ค่าใช้จ่ายเข้าใกล้ศูนย์
  
5. อีอีซีคือจิกซอว์ไม่ครบวงจร แต่ในเขตธุรกิจใหม่ ระบบนิเวศน์ที่ครบวงจร จะเป็นฐานให้ภาคเอกชน ทั้งสาธารณูปโภคพื้นฐานและด้านดิจิทัล โลจิสติกส์ การเชื่อมมหาวิทยาลัย การผลิตคน และการจับคู่คนกับงานผ่านแพลตฟอร์มกลาง รวมทั้งระบบธนาคารและการค้ำประกันสินเชื่อที่ถูกออกแบบโดยเฉพาะ
 
6. อีอีซี ไม่แก้ปัญหาเรื่องตลาดในประเทศที่เล็ก และปัญหาไทยไม่เชื่อมโลก แต่เขตธุรกิจใหม่สร้างตลาดใหม่ด้วยสนธิสัญญาการค้า และข้อตกลงทางการค้าการลงทุนพิเศษ ที่เป็นทางลัดให้ไทยเชื่อมโลก แก้ไขปัญหาตลาดในประเทศที่เล็ก ด้วยการเชื่อมโลกให้กว้าง
 
นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า
 
7. อีอีซีและส่วนต่อขยายของอีอีซี จำกัดอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ระเบียงภาคเหนือจำกัดที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ อีสานจำกัดที่อุตสาหกรรมหมุนเวียน แต่เขตธุรกิจใหม่เปิดกว้าง โดยเป็นพื้นที่พิเศษที่มีสภาวะแวดล้อมที่สามารถปลดปล่อยศักยภาพของประชาชนในทุกด้าน ไร้ขีดจำกัด
 
8. อีอีซี เน้นมิติเดียว ดึงเงินต่างชาติเข้ามาลงทุน เขตธุรกิจใหม่เป็น Dual-track ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ดึงเงินนอกเข้าใน สร้างเงินในให้เฟื่องฟู 
 
9. อีอีซี มีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย เพราะสร้างกฎหมายเพื่อควบคุม แต่เขตธุรกิจใหม่ตั้งใจเข้าไปปลดล็อกทุกหมายที่เป็นอุปสรรค โดยยึดหลักสิ่งใดที่กฎหมายไม่ได้ห้าม หมายถึงสิ่งนั้นทำได้
 
10. อีอีซี ขาดกลไกนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ในการดึงเงินต่างชาติ แต่เขตธุรกิจใหม่ดึงเงินต่างชาติด้วยความพร้อมของโครงสร้างใหม่ที่จะถูกสร้างขึ้น รวมถึงกลไกพิเศษที่จะสามารถเปิดเขื่อนให้เงินต่างชาติไหลเข้าสู่ประเทศ



ชาวนาชุมพวงทุกข์หนัก น้ำท่วมจมข้าวนาปีนับหมื่นไร่ เสียหายหมด วอนรัฐเร่งช่วยเหลือ
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7315455

นครราชสีมา ชาวนาอำเภอชุมพวงทุกข์หนัก น้ำมูลทะลักท่วมจมนาข้าวหอมมะลิ กำลังตั้งท้องออกรวงนับหมื่นไร่ เสียหายหมด วอนภาครัฐเร่งช่วยเหลือ
 
14 ต.ค. 65 – ปริมาณน้ำมูลได้ไหลเข้าท่วมนาข้าวในพื้นที่ อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้ข้าวนาปีนับหมื่นไร่ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงทำให้ข้าวที่กำลังออกรวงจมน้ำ
 
ซึ่งพื้นที่อำเภอชุมพวง เป็นพื้นที่รับน้ำจากอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และ รับน้ำจากอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากเขื่อนพิมายผลักดันน้ำลงสู่ลำน้ำมูล ทำให้มวลน้ำทั้งหมดไหลเข้ามาในพื้นที่ อำเภอชุมพวง ก่อนที่จะไหลต่อไปยัง อำเภอเมืองยาง และ อำเภอประทาย และจะไหลต่อไปยัง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์
 
นายสมัย หมายดี อายุ 66 ปี ชาวนารายหนึ่ง ตำบลหนองหลัก อำเภอชุมพวง บอกว่า ปีนี้ลงทุนปลูกข้าวนาปี ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิ จำนวน 30 ไร่ ซึ่งต้นข้าวกำลังตั้งท้องออกรวง ถูกน้ำมูล อำเภอพิมาย และ น้ำมาศ อำเภอชุมพวง ไหลเข้าท่วมนาข้าวที่กำลังออกรวง เสียหายทั้งหมด เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร นานหลายสัปดาห์
  
โดยตนเองลงทุนกู้ยืมเงินจากธนาคาร ธกส.จำนวนกว่า 1 แสนบาท ในการลงทุนปลูกข้าวนาปีในครั้งนี้ ซึ่งไม่คิดว่าปริมาณน้ำจะท่วมสูงมากขนาดนี้ ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ นับว่าหนักสุด จึงอยากวอนให้ทางภาครัฐเร่งเยียวยาและให้การช่วยเหลือชาวนาเป็นการเร่งด่วน


  
คนไทยหนี้ยังสูง ยอดบัตรเครดิตพุ่ง หนี้เสียแตะ 4 แสนล้านบาท
https://www.pptvhd36.com/news/เศรษฐกิจ/182489

เปิดตัวเลข "หนี้ครัวเรือน" พบว่าบัตรเครดิตยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่หนี้เสียจากโควิด-19 บวมขึ้น 2 แสนล้านบาทช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา จนแตะ 4 แสนล้าน
 
ในตอนหนึ่งของ รายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทยรายไตรมาส ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงหนี้ครัวเรือนของไทย โดยเฉพาะหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเร่งตัวขึ้น ทำให้ต้องเร่งติดตามคุณภาพของสินเชื่อ แม้ว่าภาพรวมของหนี้ครัวเรือนจะชะลอตัวลงก็ตาม

ขณะที่คุณภาพของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ปรับดีขึ้นในทุกพอร์ตยกเว้นสินเชื่อรถยนต์ ส่วนหนึ่งจากการปรับโครงสร้างหนี้และการบริหารจัดการ แต่... ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในภาพรวมทุกสถาบันการเงินยังเร่งตัวขึ้น

ที่สำคัญคือ “ยอดหนี้เสีย” เพิ่มขึ้นราว 2 แสนล้านบาทจากต้นปี 2565
 
ในรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับนี้ ระบุว่า
 
• เดือน ม.ค.2565 จำนวนลูกหนี้มี 1.9 ล้านคน 2.3 ล้านบัญชี มีหนี้เสีย (คือ ยอดค้างชำระเกิน 90 วันจาก โควิด-19) มีจำนวน 2 แสนล้านบาท
• เดือน มี.ค. จำนวนลูกหนี้มี 2.1 ล้านคน 2.7 ล้านบัญชี มีหนี้เสีย (คือ ยอดค้างชำระเกิน 90 วันจาก โควิด-19) มีจำนวน 2.2 แสนล้านบาท
• และข้อมูลล่าสุด เดือน มิ.ย. 2565 จำนวนลูกหนี้มี 2.9 ล้านคน 4.3 ล้านบัญชี มีหนี้เสีย (คือ ยอดค้างชำระเกิน 90 วันจาก โควิด-19) มีจำนวน 4 แสนล้านบาท
 
กล่าวคือ จำนวนบัญชีเพิ่ม ลูกหนี้เพิ่ม แต่หนี้เสียก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน และภาครัวเรือนยังคงถือเป็น “ปัจจัยเสี่ยง” ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยด้วย เพราะยังคงมีความเปราะบางต่อเนื่องจากภาระหนี้และค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงจากภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้ต่ำที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ 
 
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่