JJNY : เพื่อไทยร่วมรำลึก14ตุลา│ชาวนาแม่ลาสิงห์บุรีระทม│ซื้อมอเตอร์ไซค์เงินผ่อนส่อดาวน์เพิ่ม│สัญญาณชนชั้นกลางเบื่อ

เพื่อไทย ร่วมรำลึก 14 ตุลา ส่งต่อแนวคิด ปชต. ลั่นบทเรียน ต้องไม่กลายเป็นบทลืม
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7315441
 
 
เพื่อไทย ร่วมรำลึก 14 ตุลา ชลน่าน สดุดีวีรชนผู้กล้าส่งมอบแนวคิดประชาธิปไตย ฝังแน่นถึงคนรุ่นนี้ ย้ำบทเรียนการต่อสู้ทางการเมือง ต้องไม่กลายเป็นบทลืม
 
เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2565 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้นำฝ่ายค้านในสภา พร้อมด้วย น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรค เป็นตัวแทนจากพรรค วางพวงมาลาร่วมรำลึกถึงวีรชนจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ปราบปรามเยาวชนคนหนุ่มสาวที่เป็นนักเรียนนิสิตนักศึกษา ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลปลดปล่อยนิสิต นักศึกษา อาจารย์ และนักการเมืองที่ถูกจับกุมฐานเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกรัฐบาลตั้งข้อหาว่ากระทําการผิดกฎหมาย
 
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขอคารวะและรำลึกถึงวีรชน 14 ตุลาฯ ทุกคนด้วยจิตศรัทธา การต่อสู้ของวีรชนผู้กล้า ทั้งที่เปิดผู้วายชนม์และผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้วันนี้ผ่านมา 49 ปีจากเหตุการณ์ดังกล่าว การเมืองในประเทศไทยมีกลไกประชาธิปไตยที่ไม่แท้จริง เป็นประชาธิปไตยที่เป็นเพียงรูปแบบ แต่จากประสบการณ์ของวีรชนผู้กล้าหาญในวันนั้น ได้ก่อรูปร่างสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ฝังแน่นในหัวใจประชาชน ส่งต่อสืบทอดมาถึงคนรุ่นนี้
 
ด้านน.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า ขอระลึกถึงและสดุดีทุกดวงวิญญาณของวีรชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แม้ผ่านมาเกือบ 50 ปี แต่การเมืองไทยวนลูปเดิม คือยึดอำนาจ-ร่างรัฐธรรมนูญ-ผู้นำทหารตั้งพรรค-มีการเลือกตั้ง มาถึงจุดนี้สังคมไทยได้เรียนรู้มากมายจากคณะ 3 ป. เรียนรู้ว่าผู้มีอำนาจหวงแหนอำนาจ ได้เรียนรู้ว่าผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีส่วนสนับสนุนมาจาก ส.ว. 250 คน ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน
 
ทั้งนี้ จากหลายเหตุการณ์การต่อสู้ทางการเมือง บทเรียนต้องไม่กลายเป็นบทลืม ทุกคนเรียนรู้ร่วมกันได้และต้องก้าวเดินไปด้วยกัน
 


ชาวนาแม่ลา สิงห์บุรี ระทม นาข้าวจม 4,500 ไร่ ถนนถูกตัดขาดหลายจุด
https://www.matichon.co.th/region/news_3617422
 
สิงห์บุรี ที่ตำบลแม่ลา นาข้าวจมกว่า 4,500 ไร่ ถนนถูกตัดขาดหลายจุด
 
วันที่ 14 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปยังตำบลแม่ลา อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี หลังทราบว่าลำน้ำเจ้าพระยาได้ไหลลงสู่ลำแม่ลา อำเภอบางระจัน และล้นเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนในทุ่งแม่ลา โดยรวมพื้นที่การเกษตรจมน้ำ ไปแล้ว 4,500 ไร่ โดยตำบลแม่ลา มีทั้งหมด 6 หมู่บ้าน ถูกน้ำท่วมไปแล้ว 3 หมู่บ้าน ขณะนี้เร่งป้องกันน้ำเข้าท่วม 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 4, 5, 6 ต.แม่ลา ส่วนที่ ต.สิงห์ หมู่ 1, 2, 8 รวมทั้งวัดสะเดาที่อยู่ริมลำแม่ลา ถูกน้ำท่วมทั้งหมด มีระดับความลึกประมาณ 0.50-1 เมตร โดยขณะนี้ ถนนในหมู่บ้านถูกน้ำเข้าท่วมหลายจุด และมีกระแสน้ำที่ค่อนข้างแรง จนพัดเอาป้ายจารจรและศาลาริมทางพังลง ชาวบ้านต่างกลัวว่าถนนจะขาด ด้วยน้ำได้เริ่มเซาะขอบถนนเข้ามาเรื่อยๆ อีกทั้งปริมาณน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้น ไม่มีทีท่าว่าจะคงที่ โดยในหมู่ 3 ที่อยู่ห่างจากถนนใหญ่ การพายเรือออกมาเป็นเรื่องที่ยาก ด้วยมีพื้นที่บริเวณกว้างเป็นทุ่งรับน้ำ เมื่อพายเรือออกมา เรือจะถูกน้ำพัดไปได้
ขณะนี้ทาง อบต.แม่ลา และหน่วยงานต่างๆ เร่งให้การช่วยเหลือ ซึ่งขณะนี้ยังมีชาวบ้านบางส่วนยังคงเร่งขนย้ายสิ่งของและสัตว์เลี้ยงไปไว้ในพื้นที่สูงแล้ว
 


ซื้อมอเตอร์ไซค์เงินผ่อนส่อจ่ายเงินดาวน์เพิ่ม 30% หลัง สคบ.คุมดอกเบี้ย
https://www.prachachat.net/finance/news-1084002

ลีสซิ่งมอเตอร์ไซค์จ่อขยับเงินดาวน์ 20-30% หลังราชกิจจานุเบกษาประกาศเกณฑ์ สคบ.คุมเพดานห้ามคิดดอกเบี้ยเกิน 23% ผู้ประกอบการคาดยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง-ฐานรากเข้าถึงยากขึ้น
  
วันที่ 14 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ล่าสุด เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ซึ่งมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อสำหรับรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตรา 10% ต่อปี รถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตรา 15% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตรา 13% ต่อปี โดยที่ผ่านมา กรณีรถยนต์ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากเพดานดอกเบี้ยที่ประกาศ เนื่องจากคิดไม่เกินอยู่แล้ว แต่จะมีในส่วนของรถจักรยานยนต์ที่จะมีผลกระทบ

โดยก่อนหน้านี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ “นายมงคล เพียรพิทักษ์กิจ” นายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย กล่าวว่า กรณีปรับเพดานดอกเบี้ยลดลงมาจากเดิมเคยคิดเฉลี่ย 32-33% ลงมาเหลือเพียง 23% ผู้ประกอบการจะมีการทบทวนเกณฑ์และมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เช่น การเพิ่มวงเงินดาวน์เฉลี่ย 5-10% และกลุ่มที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์รายได้อาจเพิ่มเงินดาวน์มากกว่า 10% รวมถึงดูกลุ่มอาชีพเพิ่มเติม เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการถูกผิดนัดชำระหนี้และหนี้เสีย
 
ซึ่งจากเดิมผู้ประกอบการสนับสนุนคนที่มีรายได้ไม่แน่นอน ไม่มีเอกสารทางการเงินสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เพราะมีดอกเบี้ยเป็นตัวรับความเสี่ยง แต่หลังจากนี้การปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้จะลำบากมากขึ้น และทำให้หลุดไปนอกระบบได้ เนื่องจากผู้ประกอบการคงต้องมีการคัดกรองลูกค้าที่เข้มข้นขึ้น
 
แน่นอนว่า จะทำให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อ (reject rate) อาจจะเพิ่มขึ้นแน่นอน” นายมงคลกล่าว
 
ขณะที่ “นายประพล พรประภา” กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ 23% จะทำให้กลุ่มคนฐานราก ที่มีรายได้หรือเอกสารทางการเงินไม่ชัดเจน และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ที่ต้องการใช้รถเข้าถึงยากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจะต้องปรับกระบวนการในการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น และมีการกำหนดให้วางเงินดาวน์เพิ่มขึ้นเป็น 20-30% ถือว่าค่อนข้างเยอะสำหรับกลุ่มลูกค้าฐานราก เช่น วงเงินรถจักรยานยนต์เฉลี่ย 4-5 หมื่นบาท ลูกค้าจะต้องมีเงินดาวน์ประมาณ 1-1.5 หมื่นบาท ถือเป็นวงเงินก้อนใหญ่สำหรับลูกค้าเช่นกัน และเมื่อเข้าไม่ถึงอาจออกไปพึ่งพานอกระบบได้
  
“ต่อไปการปล่อยสินเชื่อจักรยานยนต์จะต้องมีประวัติใน NCB (เครดิตบูโร) ดาวน์สูง มีรายได้แน่นอน ถึงจะได้รับบริการสินเชื่อ แต่คนที่ไม่มีประวัติและผ่อนชำระกระท่อนกระแท่น ไม่มีรายได้ประจำจะเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น ส่งผลต่อให้ยอด rejection rate เพิ่มขึ้นแน่นอน โดยปัจจุบันสัดส่วนซื้อรถประมาณ 80% จะเป็นการผ่อนชำระ และอีก 20% จะซื้อเงินสด เราอาจเห็นสัดส่วนคนซื้อเงินผ่อนน้อยลงได้ในปีนี้” นายประพลกล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่