องค์เซียนแปะโค้ว

องค์เซียนแปะโค้ว
ฮะเฮงตั๊ว หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง
ปีนี้แม่นันตั้งใจมากที่จะเข้าไปกราบองค์เทพต่างๆในโรงเจฮะเฮงตั๊ว หัวตะเข้ อีกครั้ง 
หลังจากได้ผ่านไปพบสถานที่แห่งนี้โดยบังเอิญเมื่อปีที่แล้ว แต่ครั้งนี้จะเข้าไปกราบไหว้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ 
แม่นันจะต้องได้ประวัติความเป็นมาของโรงเจแห่งนี้ด้วยค่ะ เพราะหลงใหลในความงามขององค์เทพ 
รวมทั้งสถาปัตยกรรมภายในและภายนอกตั้งแต่เมื่อเห็นครั้งที่แล้ว 
แม่นันรู้สึกว่า การเข้าไปในสถานที่ใดโดยที่เราได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของที่นั้นๆมาก่อน เป็นการให้เกียรติเจ้าของบ้านด้วยค่ะ

โชคดีจริงๆ แม่นันได้เบอร์ติดต่อคุณวารี ผู้ที่จะให้ประวัติโรงเจแห่งนี้มาโดยบังเอิญ ยิ่งได้คุยด้วยยิ่งรู้สึกถึงความใจดีของปลายสาย ..
”พี่อยากคุยด้วยอีกจัง แต่ติดกำลังทำอาหารเจเปิดโรงทานอยู่” คุณวารีบอกอย่างเกรงใจ
“นันกำลังจะเดินทางเข้าไปค่ะ ยังไงนันขออนุญาตเข้าไปพบและคุยต่อด้วยนะคะ” 
แม่นันดีใจ วางสายแล้วรีบคว้าลูกชิ้นเจสองแพ็คเพื่อนำไปร่วมบุญด้วย
ยิ่งได้พบตัวจริงยิ่งประทับใจค่ะ คุณวารีวัย 68 ปี หน้าตาอ่อนเยาว์กว่าอายุมาก ได้เล่าให้ฟังว่าต่อว่า 
โรงเจแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานขององค์เซียนแป๊ะโค้ว องค์พระประธานของโรงเจแห่งนี้ 
พร้อมทั้งแนะนำให้เข้าไปกราบไหว้ขอพรองค์ท่านก่อน

คุณวารีได้เล่าประวัติความเป็นมาขององค์เซียนแป๊ะโค้วให้ฟังอย่างละเอียด ทำให้แม่นันทึ่งและเลื่อมใสในองค์ท่าน 
(อ่านประวัติเต็มขององค์เซียนต่อท้ายค่ะ) 
คุณวารีพูดช้าๆ เสียงอ่อนโยน ไม่ได้รู้สึกหงุดหงิดกับความชักซักช่างถามของแม่นันเลย ยังเชิญให้แม่นันอยู่ทานอาหารเจที่นี่ต่อ
แม่นันกวาดสายตาดูสถาปัตยกรรมภายในที่สวยงามรอบๆ แห่งนี้

“ใครเป็นเจ้าของที่ดินผืนนี้คะพี่ แล้วใครกันนะช่างมีจิตใจบุญสร้างโรงเจได้สวยงามทั้งภายนอกภายใน 
พร้อมอัญเชิญองค์เทพต่างๆมาให้ชาวบ้านที่ศรัทธาได้กราบไหว้ แถมยังเปิดโรงทานให้ชาวบ้านได้ถือศีลกินเจอีกด้วย” 
แม่นันอดถามไม่ได้

คุณวารีตอบเสียงเบาๆพร้อมรอยยิ้มว่า
“เจ้าของที่ดินแห่งนี้คือบรรพบุรุษของคุณอุดม วงศ์อุไร สามีพี่เองค่ะ"
(แม่นันตกใจระคนดีใจ เรากำลังสนทนาอยู่กับเจ้าของที่อยู่หรือนี่)
"สมัยก่อนมีคนมาขอเช่าที่ทำโรงเจ หลังจากนั้นถูกปล่อยทิ้งร้าง 
คุณอุดมจึงเข้ามาบูรณะครั้งแรกโดยการถมที่ดินและต่อเติมอาคารด้านหน้า ทำหลังคาด้านข้างที่จอดรถ 
และเทพื้นลานจอดรถเมื่อประมานปี 2528 และตัวพี่ ได้เข้ามาบูรณะทำมังกรตกแต่งภายใน 
ขัดพื้นและเสาใหม่ รวมทั้งสร้างศาลาให้ประชาชนนั่งเล่นที่ด้านหน้าเมื่อปี 2562

ด้วยแรงศรัทธาของผู้คนที่มีต่อองค์เซียนแป๊ะโค้ว องค์เทพศักดิ์สิทธิ์ต่างๆที่เห็น จึงถูกอัญเชิญเข้ามาอยู่ ณ ที่แห่งนี้ 
ให้ชาวบ้านในละแวก และต่างถิ่นได้เข้ามากราบไหว้ พี่ไม่ได้เป็นคนเช่าอัญเชิญเข้ามานะคะ 
ทุกองค์ล้วนมาจากแรงศรัทธาของผู้คนทั้งนั้น
หลังจากได้สร้างบุญใหญ่โดยการบูรณะโรงเจฮะเฮงตั๊วแห่งนี้แล้ว พี่จึงเข้ามาดูแลโดยตั้งจิตเป็นกุศลว่า 
จะไม่ขอทำในเชิงพาณิชย์ พี่จึงดูแลเองเกือบทุกอย่าง รวมทั้งอาหารในโรงทานด้วย ซึ่งโรงทานจะมีช่วงกินเจ
 และช่วงเดือนตรุษจีนในวันมาฆะบูชา (วันที่องค์เซียนปฎิบัติธรรมสำเร็จ)

เด็กๆที่ช่วยงานโรงทานอยู่ก็คือเด็กของที่บ้านพี่เอง บุญของพี่ที่ได้กัลยาณมิตรดี นำอาหาร 
วัตถุดิบเข้ามาช่วยเหลือตลอด พี่คิดเมนูเองทุกวันด้วยนะคะ อย่างวันนี้พี่ทำแกงเยอะแยะเลย เสียดายน้องนันมาสายไปหน่อย 
อาหารเหลือไม่ครบ แต่พี่มีเมนูใบหม่อนทอดกรอบให้น้องนันชิมดูด้วยนะ” พี่วารีพูดไปยิ้มไปทั้งสายตา

“อนุโมทนาด้วยค่ะพี่ สาธุ สาธุ ขอให้พี่วารีมีสุขภาพแข็งแรง เป็นที่พึ่งพาของชาวบ้านละแวกนี้ตลอดไปนะคะ”
แม่นันไม่เพียงได้ประวัติ ความรู้เพิ่มเติม แต่ได้ลองลิ้มอาหารเจฝีมือพี่วารีด้วยอย่างเอร็ดอร่อย อร่อยทุกอย่างจริงๆค่ะ 
แม้แต่ใบหม่อนที่พี่วารีเด็ดมาจากรั้วบ้าน นำมาทอดกรอบก็ยังอร่อยเลยค่ะ จิตมีเมตตาแถมช่างคิดจริงๆ อนุโมทนาสาธุค่ะ
-------------------------------

"ชีวประวัติองค์เซียนแปะโค้ว ถ่อสัก"
องค์เซียนแปะโค้ว เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว เกิดที่ตำบลถั่วเถ้า อำเภอแต้ยิ้มะ มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน 
เดินทางจากเมืองจีนเข้ามาเมืองไทย ตั้งแต่อายุเพียง 13 ปี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4
ระยะแรกๆ ทำงานเป็นลูกจ้างในสวนผักย่านตลาดหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง เวลาว่างจะไปรับใช้ในศาลเจ้าเล็กๆในตลาดหัวตะเข้ 
อุปนิสัยของท่าน ท่านเป็นคนมีจิตใจงาม มีคุณธรรม ใจบุญสุนทานและชอบช่วยเหลือผู้อื่น 
ท่านสนใจในการปฏิบัติธรรมนั่งวิปัสสนากรรมฐาน เชื่อว่าทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้ ท่านจึงได้อุทิศรับใช้ศาลเจ้าแห่งนั้นเป็นต้นมา
โดยท่านได้เริ่มบูรณะปัดกวาดศาลเจ้าจนสะอาดแล้วเปลี่ยนแปลงสภาพไปในทางที่ดี จึงมีผู้คนเข้ามากราบไหว้บูชาศาลเจ้ามากขึ้น 
และเริ่มมีการทำบุญสะเดาะเคราะห์ เติมน้ำมันตะเกียงในศาลเจ้า ซึ่งภาษาจีนเรียกว่า"โต่ยเฮียอิ๊ว" 
เพื่อเป็นนิมิตหมายให้เกิดพลังอำนาจแสงสว่างแก่ชีวิต มีความเจริญรุ่งเรือง ท่านเคยเดินทางกลับเมืองจีน 
เพื่อเยี่ยมเยียน พ่อแม่พี่น้อง และคู่หมั้นของท่าน จากนั้นเดินทางกลับประเทศไทยอีกครั้งและมิได้ย้อนกลับไปเมืองจีนอีกเลย
องค์เซียนแปะโค้วเป็นคนรักการอ่านและศรัทธาในตัวอักษร ทุกๆเช้าท่านจะเก็บกระดาษที่ชาวบ้านทิ้งขว้างอยู่ในโรงเจ 
โดยจะเป็นกระดาษอะไรก็ตามที่มีตัวอักษรปรากฏอยู่ ท่านเชื่อว่าตัวอักษรนั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เปรียบเสมือนครูบาอาจารย์ 
ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้มนุษย์มีความเฉลียวฉลาดมีคุณค่าทางปัญญา ท่านเป็นผู้ที่สนใจปฏิบัติธรรมนั่งวิปัสสนากรรมฐาน 
และยังเดินทางด้วยเท้าเปล่าเป็นเวลา 1 เดือนเต็มไปรับใช้โรงเจที่พระพุทธบาทพร้อมปฏิบัติธรรม 
จนกระทั่งหมดงานเทศกาลกินเจจึงเดินทางกลับ ทำเช่นนี้ตลอดมาทุกปี
ก่อนที่องค์เซียนแปะโค้วจะเสียชีวิตและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ท่านได้ตอกโรงไม้ฉำฉา 
เพื่อเข้าไปปฏิบัติธรรมนั่งวิปัสสนากรรมฐาน โดยกำหนดระยะเวลา 100 วัน
 และกำชับห้ามมิให้ใครไปรบกวนสมาธิของท่านเด็ดขาด เมื่อครบกำหนด 100 วันจึงอนุญาตให้เปิดโรงไม้ฉำฉาออกได้ 
ถ้าท่านเสียชีวิตและศพของท่านเน่าเปื่อย ก็ขอให้ช่วยนำศพของท่านไปเผา แต่ถ้าศพของท่านไม่เน่าเปื่อย 
ทุกคนจะดำเนินการใดก็แล้วแต่จะเห็นสมควร
เมื่อครบกำหนด 100 วันทุกคนจึงเปิดโรงไม้ฉำฉาออก ปรากฏว่าท่านได้เสียชีวิต ในท่านั่งปฏิบัติธรรมสมาธิอย่างสงบ 
รวมอายุของท่านในขณะนั้นอายุ 26 ปี ตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ปีมะโรง (หลังตรุษจีน 15 วัน) พ.ศ. 2448 
ร่างกายของท่านอ่อนนิ่มเสมือนท่านยังมีชีวิตอยู่ไม่เน่าไม่เปื่อย ศพของท่านจึงเป็นอมตะ 
สำหรับนาม “องค์เซียนแป๊ะโค้วเซียงงี่” รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามให้ในปี พ.ศ. 2448 
ซึ่งท่านพระครูมุตทิตาวิหารี (จุ้ย) เจ้าคณะแขวงกิ่งลาดกระบังในขณะนั้นแนะนำให้ทำพิธีพุทธาภิเษกองค์ท่าน 
ให้เป็นพระเพื่อจะได้ประดิษฐานไว้เป็นที่สักการบูชาอย่างพระได้
เมื่อข่าวการเสียชีวิตขององค์เซียนแปะโค้วแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว 
ประชาชนตลาดหัวตะเข้และทั่วสารทิศต่างก็เข้ามากราบไหว้เป็นจำนวนมาก ข่าวรู้ถึงพี่สาวและอาสาวของท่าน 
จึงได้เดินทางเข้ามาเมืองไทย ตรงเข้าชี้หน้าต่อว่าศพองค์เซียนว่าท่านเป็นคนเห็นแก่ตัวหนีเอาตัวรอดแต่เพียงผู้เดียว 
ทิ้งญาติพี่น้องพ่อแม่ซึ่งแก่ชรามากให้ลำบาก 
ขณะที่อาสาวชี้หน้าต่อว่าท่านนั้น ศพขององค์เซียนแปะโค้วก็ก้มศีรษะลงน้อมรับคำกล่าวต่อว่าของอาสาว 
ศพขององค์เซียนแปะโค้วในปัจจุบันจึงมีลักษณะก้มหน้าลง
เมื่อคณะกรรมการรวมทั้งประชาชนชาวตลาดหัวตะเข้ได้ปรึกษากันและลงความเห็นว่า 
ให้เชิญซินแสท่านหนึ่งมาทำพิธีศพองค์เซียนแปะโค้ว โดยการวิธีนำผงธูปมาพอกรอบองค์ศพท่าน 
และนำทองคำเปลวแท้ๆมาปิดทับองค์เซียนแปะโค้วไว้ โดยมิได้เปลื้องเสื้อผ้าออก 
เสร็จแล้วจึงได้อัญเชิญองค์เซียนแปะโค้วไปประดิษฐานไว้ที่โรงเจฮะเฮงตั้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 นับเป็นเวลา 63 ปีของการเสียชีวิต
องค์เซียนแปะโค้วเคยทำนายไว้ ว่าจะเกิดเพลิงไหม้ครั้งรุนแรงที่สุดที่ตลาดหัวตะเข้ และก็เกิดขึ้นจริง 
ในขณะนั้นมีชาวจีนคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในโรงเจฮะเฮงตั๊วชื่อแป๊ะเซี้ยง แซ่โง้ว ได้เสี่ยงชีวิตฝ่าเปลวเพลิงเข้าไปอุ้ม 
เอาร่างองค์เซียนแปะโค้วหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย ต่อมาจากนั้นประมาณ 4-5 ปี 
มีการก่อสร้างโรงเจฮะเฮงตั๊วขึ้นมาใหม่จึงได้อัญเชิญท่านประดิษฐานที่โรงเจฮะเฮงตั๊วตามเดิม 
ในชั่วชีวิตของท่านเซียนแปะโค้ว มุ่งมั่นแต่กระทำความดีต่อมวลมนุษย์ จึงกลายเป็นปูชนียบุคคล 
เป็นที่เคารพบูชากราบไหว้ของชาวตลาดหัวตะเข้ นอกจากนี้ท่านยังปกป้องชาวตลาดหัวตะเข้
ให้ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขประสบแต่สิ่งดีงามทั้งปวง
บุญญาธิการขององค์เซียนแปะโค้วได้สร้างปาฏิหาริย์ให้แก่ผู้ที่เข้ามาสักการะและบนบานในสิ่งที่ตนต้องการ 
มักจะได้รับสิ่งตอบแทนไปตามคำ อธิษฐานขอพร ทุกครั้งไป


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่